รีวิวการใช้งานเครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดแบบวัดต่อเนื่อง 24 ชม. (Continuous Glucose Monitoring; CGM)

เริ่มต้นจากการตรวจร่างกายประจำปี คุณหมอสงสัยว่าทำไมค่าน้ำตาลในเลือดสูงทั้งๆที่งดอาหารมาเกิน 8 ชม.ก่อนเจาะเลือดตรวจ แต่ค่าน้ำตาลสะสมในเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยไม่เป็นเบาหวาน ทั้งๆที่พยายามคุมงดอาหารมีน้ำตาลมาตลอดหลายเดือนและออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ปกติจะใช้เครื่องมือเจาะตรวจเลือดด้วยตัวเองอยู่แล้วแต่ค่าน้ำตาลในเลือดที่เจาะตรวจก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูงมาตลอด เลยลองลงทุนซื้อเครื่องมือตรวจวัดน้ำตาลในเลือดเป็นแบบวัดต่อเนื่องตลอดเวลา (CGM) มาทดลองใช้ดู



ตัวเครื่องวัด CGM จริงๆเป็นแค่แผ่นเซ็นเซอร์พลาสติกเล็กๆขนาดเหรียญสิบบาทที่หนาประมาณ 0.5 ซม.มีแบตเตอรี่ในตัวที่มีอายุใช้งานประมาณ 15 วัน แล้วมีแผ่นกาวแปะไว้กับผิวหนังบริเวณหลังแขนเท่านั้นเอง แต่ตอนแปะเซ็นเซอร์เข้ากับร่างกายต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่ให้มาด้วยกดปุ่มสปริงดันตัวเซ็นเซอร์ที่มีแถบกาวในตัวให้แปะแนบสนิทกับผิวหนังแล้วใช้แถบเทบกาวแปะเสริมเข้าไปอีกชั้น ตอนแปะเครื่องเซ็นเซอร์ไม่มีอาการเจ็บอะไรทั้งนั้น แปะเสร็จก็สามารถอยู่ติดกับร่างกายได้ตลอดเวลาโดยไม่รำคาญ แต่เมื่อเราอาบน้ำ กาวของแผ่นแปะก็จะเริ่มลอก เลยจำเป็นต้องเอาเทปแปะเสริมเข้าไปอีก หลังจากแปะตัวเซ็นเซอร์เรียบร้อยแล้ว เราก็ติดตั้งแอพในมือถือเข้าไปตามวิธีการใช้งานที่ให้มา

ตัวเครื่องเซ็นเซอร์ CGM จะทำงานโดยการอ่านข้อมูลน้ำตาลกลูโคสในเลือดจากร่างกายตลอดเวลาแล้วเก็บข้อมูลไว้ในตัวเองแล้วส่งสัญญานบลูทูธมาเชื่อมกับแอพในมือถือ โดยที่เราไม่ต้องเปิดแอพในโทรศัพท์ไว้ตลอดเวลาก็ได้ ถ้าวางมือถือไว้ห่างตัวเป็นเวลานานๆ แอพจะไม่สามารถเชื่อมกับตัวเซ็นเซอร์เพื่ออ่านข้อมูลได้ แต่เมื่อตัวโทรศัพท์สามารถกลับมาเชื่อมต่อกับตัวเซ็นเซอร์ได้อีกครั้ง ข้อมูลในช่วงที่ขาดหายไปสามารถกลับมาอัพเดทในแอพได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อโทรศัพท์เชื่อมต่อกับตัว cgm อยู่ มันจะแสดงค่าบนแอพแบบอัพเดททุกๆ 5 นาที และสามารถตั้งค่าให้แอพส่งเสียงพูดทุกครั้งที่มีการอัพเดทข้อมูล เราจะสามารถทราบตลอดเวลาว่าค่าน้ำตาลในเลือดขณะนั้นเป็นเท่าไหร่ มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงรวดเร็วขนาดไหน และที่เหนือไปกว่านั้นมันสามารถแสดงผลบน apple watch ได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องยกมือถือคอยดูจอหรือฟังเสียงตลอดเวลาก็ได้




ผลการใช้งาน ตัวแอพสามารถบันทึกพฤติกรรมได้ว่าเราเริ่มกินอาหารเมื่อไหร่ และปริมาณกลูโคสในเลือดจะสูงขึ้นเมื่อไหร่ แค่ไหน เริ่มลดลงเมื่อไหร่ ลดลงอยู่ที่ระดับไหน นานแค่ไหน ฯลฯ เมื่อเราบันทึกข้อมูลไว้ต่อเนื่องหลายๆวัน เราจะเริ่มเข้าใจการทำงานของร่างกายได้มากขึ้น เช่น เวลานอนหลับหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ค่าน้ำตาลในเลือดจะค่อยๆลดต่ำลงจนถึงจุดต่ำสุด แล้วเมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า ระดับน้ำตาลกลูโคสจะค่อยๆเพิ่มขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อยเพื่อเตรียมรับอาหารเช้า แต่ถ้าเรายืดเวลากินข้าวเช้า ค่าน้ำตาลในเลือดจะค่อยๆลดลงจนคงที่ไปตลอดจนกว่าเราจะเริ่มกินอาหารมื้อแรก แล้วค่าน้ำตาลในเลือดก็จะสวิงขึ้นลงทั้งวันตามมื้ออาหาร แต่ที่น่าสนใจคือหลังอาหารมื้อเย็นแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะยังคงสวิงขึ้นลงค้างอยู่อีกนานหลายชั่วโมงแม้ว่าเราจะนอนหลับไปแล้ว จนหลังเที่ยงคืนระดับน้ำตาลในเลือดจะค่อยๆลดลงจนอยู่ในระดับนิ่งๆแล้วก็ตอนเช้าก็วนกลับมาเป็นเหมือนเดิมเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆเหมือนกันทุกวัน

ระหว่างหลายวันที่มีการติดตั้งใช้งานตัว CGM ได้ทดลองการกินอาหารหลายแบบ ทำให้เข้าใจพฤติกรรมร่างกายมากขั้น เช่น การกินน้ำอัดลมแบบน้ำตาล 0% ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจริง การกินกาแฟดำก็ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น แต่การกินขนมหวานแม้แต่ลูกอมก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงทันทีเหมือนการกินอาหารมื้อหลัก ยิ่งถ้าเรากินขนมหวานต่อเนื่องทั้งวัน ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสวิงขึ้นลงตลอดเวลา เหมือนกับที่มีคำเตือนว่าไม่ควรกินขนมจุกจิกทั้งวันถ้าต้องการลดน้ำหนักเพราะมันเป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพื่อนำพลังงานเข้าไปเก็บไว้ในร่างกายตลอดเวลา และถ้าเราทำ IF งดอาหารตอนเช้า ระดับน้ำตาลในเลือดเราจะนิ่งตลอดเวลา เป็นโอการให้ร่างกายนำไขมันสะสมในร่างกายมาใช้เป็นพลังงาน จนกว่าเราจะเริ่มกินอาหารเข้าไปใหม่ ร่างกายถึงจะหยุดใช้พลังงานสะสม  และเมื่อร่างกายป่วยเป็นไข้ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงมากจนผิดปกติตลอดเวลา ระดับน้ำตาลในเลือดผมช่วงป่วยสูงถึงระดับ 250 และสวิงขึ้นลงในระดับสูงทั้งวัน จนเมื่อหายป่วยระดับน้ำตาลในเลือดก็กลับมาเป็นปกติ

จริงๆแล้วตามคำแนะนำการใช้เครื่อง CGM ยังสามารถใช้วัดแจ้งเตือนเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้อีกด้วย และใช้ดูระดับน้ำตาลเมื่อมีการออกกำลังกายได้อีกด้วย แต่ยังไม่มีโอากาศได้ใช้งานลักษณะนั้น ข้อเสียของการใช้ตัว CGM นี้ก็คือราคามันอาจจะสูงเกินความจำเป็นและมีการหมดอายุการทำงานได้ด้วยภายใน 15 วัน ถ้าต้องการใช้งานต่อก็ต้องซื้อเครื่องใหม่ 800-1500 บาทมาใช้ต่ออีก 15 วัน ซึ่งบางทีก็รู้สึกว่ายังไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น แต่ถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายแพงขนาดนี้ ส่วนตัวยินดีที่จะติดอุปกรณ์ CGM ไว้ตลอดเวลา เพื่อคอยศึกษาการทำงานของร่างกายต่อเนื่องต่อไปอีก น่าจะดีกว่าการเจาะเลือดตรวจวัดค่าบ่อยๆให้เจ็บตัว

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่