ปี 2537 ถือเป็นปีที่วงการเพลงไทยคึกคักเอามาก ๆ อีกปีหนึ่ง เพราะมีการผุดค่ายเพลงหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก และย่อมมีหนึ่งในนั้นที่ประสบความสำเร็จชนิดมาแรงแซงทางโค้ง
ค่ายเพลงค่ายหนึ่งที่ฮือฮาสุด ๆ ในปีนั้น คงหนีไม่พ้นค่ายที่มีชื่อสั้น ๆ ว่า "กลิทซ์" (Glitz) ภายใต้การบริหารงานของ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" นักปั้นดารามือทองและอดีตเจ้าของสถานบันเทิงชื่อเดียวกัน
และที่ฮือฮาอีกแง่หนึ่ง...ยังเป็นค่ายเพลงรายย่อยรายแรกในเครือใหญ่นาม "แกรมมี่" ของ "อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนกับมิ่งขวัญ โดยรับหน้าที่ทางการตลาดและจัดจำหน่าย
นโยบายของค่ายกลิทซ์คือ ผลิตผลงานเพลงเพื่อเจาะตลาดวัยรุ่น และศิลปินนักร้องในสังกัดจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ ทั้งเสียงดี บุคลิกดี และต้องหน้าตาดีอีกด้วย
ประเดิมผลงานชิ้นแรกของค่ายเมื่อปลายปี 2537 จากผลงานของ "โป้ง วราวุธ" กับอัลบั้ม "ต. กับ จ." ต่อมาในปี 2538 ก็ผลิตนักร้องหน้าใหม่เพิ่มอีกคน มีอายุอานามเพียง 15 ปีแต่ความสามารถล้นเหลือ มีชื่อว่า "เจสัน ยัง" กับอัลบั้ม "ยัง เจสัน"
ทั้งสองอัลบั้มแรก มีโปรดิวเซอร์คือ "มงคลพัฒน์ ทองเรือง" ผู้ที่เคยทำเพลงให้กับ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง และ เต๋า สมชาย(ชุดแรก) โดยรวบรวมพรรคพวกจากห้องอัด Mix Studio และจากบางค่ายเพลงที่ปิดตัวไปก่อนหน้า มาร่วมทำเพลงและดนตรีให้อีกด้วย
จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักฟังเพลงส่วนหนึ่ง โดยเรียกให้ว่า "กลิทซ์ คือ อาร์เอสในสีเสื้อแกรมมี่" เพราะทั้งเนื้อร้อง ทำนอง ดนตรี แนวเพลง ตลอดจนกำลังคน มีส่วนมาจากอาร์เอส ขณะที่รูปลักษณ์ภายนอกและการตลาดก็มีส่วนมาจากแกรมมี่ จึงกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวจากการแสวงหาความแปลกใหม่ให้กับตลาดเพลงและศิลปินเมืองไทย
โป้ง และ เจสัน 2 หนุ่ม 3 ชุดของ กลิทซ์
เกร็ดชวนจำ
หน้าปกอัลบั้ม "โป้ง ต. กับ จ." ถ่ายภาพโดย อมาตย์ นิมิตภาคย์ จากนิตยสารอิมเมจ และมี Omnivisions ช่วยออกแบบปก
หน้าปกอัลบั้ม "ยัง เจสัน" ถ่ายภาพโดย สุเมธ วิวัฒน์วิชา จากนิตยสารแพรว และ จ.หิรัญกาญจน์
และในปี 2539 กลิทซ์ได้ออกอัลบั้มชุดที่สองของ "เจสัน ยัง" กับอัลบั้ม "เจสัน ยังสเตอร์" มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนชนิดพลิกหน้ามือ เพราะโปรดิวเซอร์ในชุดนี้คือ "ทนงศักดิ์ อาภรณ์ศิริ" อดีตสมาชิกวงแกรนด์เอ็กซ์และวงเพื่อน แถมยังเคยโปรดิวซ์ให้กับวง Dr.Kids ด้วย ส่วนผู้ร่วมสร้างสรรค์บทเพลงและดนตรีได้ยกโขยงมาจากบริษัทแม่คือ "แกรมมี่" แทบทั้งสิ้น ทำให้ผลงานชุดนี้มีเสียงตอบรับและประสบความสำเร็จเหนือกว่าสองชุดแรก
หลังจากนั้น กลิทซ์มีข่าวว่าได้พยายามปั้นศิลปินหน้าใหม่อีกจำนวนหนึ่ง แต่ทว่าทางค่ายก็เกิดล่มเสียก่อน ทำให้ศิลปินจำนวนนั้นไปอยู่ในการดูแลของบริษัทแม่ต่อไป
บุคคลที่ว่านั่นก็คือ ลีโอ พุฒ และ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ซึ่งได้ออกอัลบั้มอย่างจริงจังกับแกรมมี่ในเวลาถัดมา จนประสบความสำเร็จมากพอสมควร
และยังมีว่าที่นักร้องหญิงคือ "อ้อน-เกวลิน คอตแลนด์" ที่เกือบจะได้ออกเทปกับกลิทซ์เช่นกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำต่อ จนในปี 2546 เธอก็ได้ออกอัลบั้มเป็นของตัวเองสมใจ ภายใต้สังกัดยูพีแอล ซึ่งมีเพลง "รักเธอไม่มีวันหยุด" ทะลุทะลวงหัวใจคนฟังทั่วทั้งประเทศ และกลายเป็นเพลงฮิตข้ามเวลามาจนถึงบัดนี้
แม้ว่า "กลิทซ์" ในวันนี้จะเหลือเพียงแค่ชื่อเสียงและความทรงจำ แต่ด้วยกาลเวลาที่ยาวนานกว่า 30 ปี "กลิทซ์" ถือเป็นตัวอย่างในการสร้างโสตสำเนียงโดยวัยรุ่น เพื่อวัยรุ่น ผ่านนักปั้นมือทองที่มีประสบการณ์และเครดิตในวงการบันเทิงอย่างโชกโชน ถึงวันนี้ของ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" จะไปดำรงอยู่ในสถานะอื่นแล้วก็ตาม
เพราะเรายังคงคิดถึง "กลิทซ์" เสมอ...และหวังว่า "กลิทซ์" อาจกลับมาปลุกวงการเพลงให้คึกคักในยุคสมัยและกลวิธีที่เปลี่ยนไป เพียงแต่หาจังหวะและบุคลากรที่จะมาสืบทอดก็น่าจะเป็นไปได้นะ...สวัสดี.
30 ปี "กลิทซ์" ค่ายเพลงไทย หัวใจวัยรุ่น(ยุคโน้น)
หลังจากนั้น กลิทซ์มีข่าวว่าได้พยายามปั้นศิลปินหน้าใหม่อีกจำนวนหนึ่ง แต่ทว่าทางค่ายก็เกิดล่มเสียก่อน ทำให้ศิลปินจำนวนนั้นไปอยู่ในการดูแลของบริษัทแม่ต่อไป
บุคคลที่ว่านั่นก็คือ ลีโอ พุฒ และ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ซึ่งได้ออกอัลบั้มอย่างจริงจังกับแกรมมี่ในเวลาถัดมา จนประสบความสำเร็จมากพอสมควร
และยังมีว่าที่นักร้องหญิงคือ "อ้อน-เกวลิน คอตแลนด์" ที่เกือบจะได้ออกเทปกับกลิทซ์เช่นกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำต่อ จนในปี 2546 เธอก็ได้ออกอัลบั้มเป็นของตัวเองสมใจ ภายใต้สังกัดยูพีแอล ซึ่งมีเพลง "รักเธอไม่มีวันหยุด" ทะลุทะลวงหัวใจคนฟังทั่วทั้งประเทศ และกลายเป็นเพลงฮิตข้ามเวลามาจนถึงบัดนี้
แม้ว่า "กลิทซ์" ในวันนี้จะเหลือเพียงแค่ชื่อเสียงและความทรงจำ แต่ด้วยกาลเวลาที่ยาวนานกว่า 30 ปี "กลิทซ์" ถือเป็นตัวอย่างในการสร้างโสตสำเนียงโดยวัยรุ่น เพื่อวัยรุ่น ผ่านนักปั้นมือทองที่มีประสบการณ์และเครดิตในวงการบันเทิงอย่างโชกโชน ถึงวันนี้ของ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" จะไปดำรงอยู่ในสถานะอื่นแล้วก็ตาม
เพราะเรายังคงคิดถึง "กลิทซ์" เสมอ...และหวังว่า "กลิทซ์" อาจกลับมาปลุกวงการเพลงให้คึกคักในยุคสมัยและกลวิธีที่เปลี่ยนไป เพียงแต่หาจังหวะและบุคลากรที่จะมาสืบทอดก็น่าจะเป็นไปได้นะ...สวัสดี.