ลดค่างวด-พักดอกเบี้ย 3 ปี’ ลูกหนี้ NPL ใครเข้าข่ายบ้าง?

ส่องแนวทาง ‘มาตรการลดค่างวดและพักดอกเบี้ย 3 ปี’ ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีปัญหาชำระหนี้ (NPL) เป็นเวลา 3 ปี ของสมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ใครมีสิทธิ์เข้าร่วมบ้าง และแนวทางชำระหนี้และเงินต้นเป็นอย่างไร

คลังเผย ใครจะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการบ้าง?


 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า คาดว่าจะมีประชาชนอยู่ในกลุ่มเป้าหมายมาตรการดังกล่าวประมาณ 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
สินเชื่อบ้าน ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
สินเชื่อรถยนต์ ราคาไม่เกินคันละ 8 แสนบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
สินเชื่อ SME ยอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
 
ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ของมาตรการ สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการ และจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป

ส่องแนวทางชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย หากเข้าร่วมโครงการ
 
แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมธนาคารไทยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า สมาคมธนาคารไทยร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเห็นชอบร่วมกันในหลักการออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยจะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในกลุ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน หรือกลุ่ม SM และกลุ่มเป็นหนี้เสีย (NPL) แล้ว แต่ไม่เกิน 1 ปี
 
โดยเป็นลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ ไม่เกิน 7 แสนบาท หรือสินเชื่อธุรกิจ SME วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท
 
สำหรับกลุ่มที่เข้าเงื่อนไขของโครงการนี้ ธนาคารพาณิชย์จะช่วยปรับลดค่างวดผ่อนชำระเงินต้นให้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยแบ่งเป็น 3 สเต็ป ดังนี้
ปีที่ 1 จะลดค่างวดผ่อนชำระลงเหลือ 50%
ปีที่ 2 จ่ายเงินต้นค่างวด 70%
ปีที่ 3 จ่ายเงินต้นค่างวด 90% 
 
หลังจากนั้นลูกหนี้ก็จะกลับมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาปกติในปีที่ 4 เป็นต้นไป พร้อมทั้งพักชำระดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรกที่เข้าโครงการ

“มาตรการปรับลดค่างวดลงมา เชื่อว่าในช่วง 3 ปีของโครงการ หากลูกหนี้ผ่อนได้ดีตามกำหนดจะช่วยให้เงินต้นลดลงเร็วมาก เพราะมีการพักจ่ายดอกเบี้ยไว้ 3 ปี เมื่อครบปีที่ 4 จะกลับมาสู่สัญญาปกติ” แหล่งข่าวระบุ
 
อย่างไรก็ดี มีการกำหนดเงื่อนไขล็อกไว้ว่า กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่สามารถเข้าโครงการรับมาตรการช่วยเหลือได้จะต้องเป็น NPL ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 ตุลาคมปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มประกาศว่าจะมีมาตรการเพื่อป้องกันลูกหนี้ที่ตั้งใจจะเป็น NPL เพื่อมารับมาตรการช่วยเหลือ 
“ส่วนลูกหนี้ NPL ที่จะเข้าโครงการนี้คงต้องกำหนด Commitment กับแบงก์ระหว่างที่เข้าโครงการว่าลูกหนี้จะไม่สามารถไปก่อหนี้เพิ่มได้อีก ซึ่งตอนนี้กำลังถกเถียงกันว่าจะห้ามเฉพาะปีแรกหรือจะห้ามตลอดทั้งช่วงที่เข้าโครงการ 3 ปี ซึ่งคงคุยกันในรายละเอียดเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม แต่หลักการคือลูกหนี้ที่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือจะไม่มีการปล่อยฟรีแบบไม่มีเงื่อนไข เพราะลูกค้าก็จะไปก่อหนี้เพิ่มอีก ส่วนโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้ในอนาคตมีคนตั้งใจเป็นหนี้เสียหรือเปล่า คิดว่าคงไม่มีใครอยากให้ตัวเองเป็นหนี้เสียโดยไม่มีความจำเป็น ดังนั้นจึงไม่ได้กังวลว่าจะเกิด Moral Hazard”
 
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดรับลูกหนี้ NPL ที่จะเข้ามารับมาตรการช่วยแก้ปัญหาหนี้ จะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาของวันสิ้นสุดในการลงทะเบียนเพื่อเข้าโครงการด้วย โดยคาดว่ารายละเอียดของเงื่อนไขมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งหมดกับวันประกาศวันเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ที่จะเข้าโครงการจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลที่คาดว่าจะนำไปแถลงมาตรการในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

เครดิตบูโรมองช่วยบรรเทาปัญหา คาดกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมเกิน 80% 
 
สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มาตรการดังกล่าวน่าจะทำให้หนี้เสียในระบบลดลงได้ เนื่องจากหนี้ NPL ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะถูกโอนไปเป็นสินเชื่อ TDR ทันที และถ้าผู้ร่วมโครงการเริ่มจ่ายหนี้งวดที่ 1-3 ได้ดีก็จะกลายเป็นหนี้ปกติ
 
พร้อมทั้งคาดว่าจากกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวน่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 80% เนื่องจากมองว่าคนที่เพิ่งเป็น NPL หรือเป็นไม่เกิน 1 ปี มักมีความต้องการแก้หนี้อยู่แล้ว และสินเชื่อที่เข้าร่วมก็เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง ดังนั้นถ้าไม่เข้าร่วม บ้านหรือรถจะถูกยึด ไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน แตกต่างจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต
 
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวก็จะยกดอกเบี้ยให้ 3 ปี หากชำระค่างวดได้ดี “เป็นการสร้างกำลังใจให้คนว่าจ่ายเท่าไรก็จะตัดต้น นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่แขวนไว้ 3 ปีก็จะได้รับการยกให้ หากทำตามเกณฑ์สำเร็จ” สุรพลกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม สุรพลมองว่ามาตรการนี้มีเงื่อนไขที่ลูกหนี้อาจไม่ชอบ คือระหว่างเข้าร่วมลูกหนี้จะไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้อย่างน้อย 1 ปี อย่างมาก 3 ปี ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

นายแบงก์หวั่นเกิด Moral Hazard 
 
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากสถาบันการเงินอีกรายกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มีมุมมองไม่เห็นด้วยกับการประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น NPL เป็นการทั่วไป ซึ่งรายละเอียดที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาอยู่แล้วเป็นรายกรณีผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ได้สื่อสารหรือโฆษณาออกมาอย่างเป็นทางการ
 
ดังนั้นจึงมีความกังวลว่าหากรัฐบาลประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นการทั่วไปออกมา แม้จะกำหนดเงื่อนไขและกรอบเวลาสิ้นสุดโครงการ แต่ในอนาคตอาจเป็นตัวอย่างให้ลูกหนี้ปกติตั้งใจทำให้ตนเองเป็นหนี้เสีย เพราะมีความคาดหวังว่าสุดท้ายภาครัฐจะมีมาตรการพิเศษออกมาช่วยเหลือ จนอาจเกิด Moral Hazard ตามมาได้

ที่มา : thestandard.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่