แชร์ประสบการณ์วางแผนการเงินอย่างไรสู่หนทางมั่งคั่งแบบฉบับข้าราชการเงินเดือนน้อย ไม่มีรายได้เสริม

อย่างที่ทราบกันดีว่า ณ ปัจจุบันนี้ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลกเองน่ากังวลใจมาก เราอยู่ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพพู่งกระฉูด และเผชิญกับปัญหาที่บริษัทเอกชนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ต่างพากันปิดกิจการ ปลดพนักงานจ้างออกเส้นพิษเศรษฐกิจกันแบบน่าตกใจ จะเห็นว่าจากปัญหาเศรษฐกิจแย่นี้เองส่งผลกระทบต่อทั้งรากหญ้าอย่างเราเองที่เงินเดือนเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้าขายของยากขึ้น สินค้าที่เราคุ้นชิน เสื้อผ้า เครื่องประดับ และอื่นๆ กลับขายออกยากขึ้นแม้ว่าจะตั้งราคาถูก เพราะคนมองว่ากลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต่างพากันรัดเข็มขัดจนซูบไปหมดแล้ว

และชนชั้นแรงงานอย่างเราๆ เองก็พากันหาหนทางรอดในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้หลายคนมุ่งเป้าไปที่งานราชการ ถึงแม้เงินเดือนจะสตาร์ทน้อย แต่ก็ขึ้นชื่อว่ามั่นคง ไม่โดนไล่ออก อยู่ยาวๆ รับทรัพย์ได้ถึงอายุ 60 แถมเกษียณไปมีทั้งเงินก้อนและเงินบำนาญใช้รายเดือนได้ยาวๆ จนตาย อีกด้วย และวันนี้เจ้าของกระทู้จะมาแชร์ประสบการณ์ของตัวเองที่ก็วาดฝันอยากมีเงินเก็บ เป็นอิสระทางการเงิน และไปสู่หนหางสู่ความมั่งคั่งเหมือนกันค่ะ

เกริ่นก่อนว่าเนื้อหานี้เป็นมุมมองและประสบการณ์ของ จขกท. เองอาจจะไม่ถูกต้องมีคลาดเคลื่อนบ้างและอาจไม่ตรงตามข้อเท็จจริงแบบ 100% ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ค่ะ ถือว่าเป็นการแบ่งปันและแชร์ประสบการณ์ของ จขกท. ที่เริ่มเข้าสู่วงการราชการจากจบ ป.ตรี ก็ลองสอบเป็นพนักงานราชการ สอบ กพ. แนะนำว่าถ้าใครสนใจอยากมาสายนี้ต้องลงหลายสนาม ยังไม่ได้ไม่เป็นไรนะคะ อย่าเพิ่งถอดใจ เริ่มจากจุดเล็กๆ เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการก่อน เพื่อให้มีประสบการณ์ในรอบสัมภาษณ์ค่ะ เพราะกรรมการจะพิจารณาประสบการณ์ทำงานเป็นสำคัญเลยค่ะ ซึ่งเจ้าของกระทู้เองก็เริ่มมากการเป็นพนักงานราชการ 3 ปี ทั้งๆ ที่มีผลสอบ กพ. แล้ว ถึงจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ ในระหว่างเป็นพนักงานราชการก็เรียนต่อ ป.โท ไปด้วยค่ะ เก็บเงินเรียนเอง ได้เงินเดือน 18,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเดือนไม่เยอะเลย ใช้ยังไงให้พอก่อน แต่ถ้าเราสามารถวางแผนการเงินตั้งแต่มีเงินเดือนน้อยๆ ได้ เราจะสามารถไปสู่หนทางแห่งความมั่งคั่งได้ค่ะ ซึ่งใบปริญญา ป.โท มีความสำคัญและจำเป็นไม่น้อยในสายอาชีพข้าราชการค่ะ เพราะสามารถนำไปปรับเงินเดือน และลดระยะเวลาในการเลื่อนขั้นได้

ตอนนี้ ครม.ได้ไฟเขียวปรับเงินเดือนข้าราชการขึ้น 10% ภายใน 2 ปี เริ่ม 1 พ.ค. 2567 โดยข้าราชการแรกบรรจุ วุฒิปริญญาตรีขั้นต่ำ 18,000 บาท, ปวช. ขั้นต่ำ 11,000 บาท ซึ่งปี 2567 เจ้าของกระทู้เองได้บวกเพิ่มมาอีกประมาณ 1,500 บาท และจะปรับขึ้นรอบ 2 ในวันที่ 1 พ.ค. 68 ก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับใครที่อยากเข้าสู่วงการนี้ 

ข้าราชการแม้ว่าเงินเดือนจะสตาร์ทน้อยและมาพร้อมกับสวัสดิการบางข้อ แต่ก็บอกเลยว่ามีปัจจัยไม่น้อยเลยที่จะทำให้คุณสามารถมั่งคั่งในสายอาชีพนี้ หากคุณมีความเข้าใจ และมีวินัยค่ะ
- ข้าราชการมีการขึ้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง ถ้าบรรจุแรกเข้าเป็นปฏิบัติการ อัตราการขึ้นเงินเดือนประมาณ 3%+++ จะได้ขึ้นเงินเดือนรอบละ 500-600+++ บาท (เพิ่มเงินเดือนทุกๆ 6 เดือน) ถ้าใครบรรจุป.ตรี ทำงานครบ 1 ปี สามารถนำวุฒิ ป.โทไปปรับเพิ่มเงินเดือนได้ ตอนนั้นเจ้าของกระทู้ปรับเงินเดือนเพิ่มมาเป็น 17,500 บาท และผ่านไปประมาณ 4 ปี จนเงินเดือนถึง 20,960 บาท จะปรับเป็นใช้คำนวณฐานบน เงินเดือนจะขึ้นครั้งละ 700++ (ประเมินรอบ 2/2567 ได้ประเมินเลื่อนเงินเดือน 3.09% คูณฐานบนของปฏิบัติการ 23,930 ได้เงินเพิ่ม 740 บาท)

ในจุดนี้จะเห็นว่าเงินเดือนข้าราชการไม่ได้แร้นแค้นกัดก้อนเกลือกินอย่างที่คิด จะเงินเดือนน้อยช่วงเริ่มแรกเท่านั้น แต่เงินเดือนมีการปรับขึ้นตลอด ปีละ 2 ครั้ง รับเหนาะๆ ก็ขึ้นเงินเดือนปีละ 1,000 กว่าบาท และจะเริ่มอู้ฟู่ขึ้นเมื่อขึ้นเป็นชำนาญการ และเงินเดือนถึง 29,340 บาท เงินเดือนจะขึ้นรอบละ 1,000+++ (คิดที่ประเมินเงินเดือนขึ้นรอบละ 3% คูณฐานบนของระดับชำนาญการ 36,470 บาท) จากจุดเริ่มต้นเงินเดือน 15,000-16,000 บาท จนถึงการแตะเงินเงินเดือนประมาณ 30,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 8-9 ปีเห็นจะได้ และหลังจากนี้ก็จะเริ่มได้จับเงินมากขึ้นเพราะคุณจะได้เงินเดือนครึ่งปีละ 1,000 หรือปีละ 2,000 นั่นเอง และหากคุณสอบเลื่อนขั้นเป็น ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการ หรือสูงไปถึงอธิบดี ปลัดกระทรวง ก็สามารถอู้ฟู่มีเงินเดือนหลักแสนได้

ถ้าให้คิดแบบพื้นฐานทั่วไปเลยว่าคนธรรมดาทั่วไปที่มีอาชีพรับราชการ อย่างน้อยๆ ก็เกษียณที่ชำนาญการ เงินเดือนสูงสุดตลอดเส้นทางในสายอาชีพ ประมาณ 43,600 บาท หรือถ้าได้เลื่อนขั้นเป็นชำนาญการพิเศษ เงินเดือนสูงสุดประมาณ 58,390 บาท พอมองเงินเดือนจุดนี้แล้ว ก็ไม่มากไม่น้อยใช่มั้ยคะ ถ้าเรามีการวางแผนการเงินโดยประกอบอาชีพนี้ เงินเดือนประมาณนี้ ก็สามารถมีสุขภาพการเงินที่ดีได้ และสามารถพาตัวเองไปสู่ความมั่งคั่งได้เช่นกันค่ะ นอกจากเงินเดือนแล้ว บางคนอาจจะมีค่าเช่าบ้านด้วยที่ 3,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ค่าทำงานล่วงเวลา ชั่วโมงละ 50 บาท ค่าตอบแทนคณะกรรมการ ค่าเบี้ยเลี้ยงเบี้ยประชุมต่างๆ 

สวัสดิการที่ข้าราชการมีทั้งค่ารักษาพยาบาล ที่เผื่อแผ่ให้กับคนในครอบครัวได้ทั้งพ่อ แม่ สามี ลูก สูงสุดเบิกได้ 7 คน ค่าเล่าเรียนลูกเบิกได้จนจบปริญญาตรี แต่ต้องบอกก่อนว่าสวัสดิการต่างๆ ที่ข้าราชการได้ ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด ค่ารักษาบางอย่างอาจจะเบิกได้ไม่เต็ม หรือเบิกไม่ได้ แต่อย่างไรแล้วก็ช่วยแบ่งเบาได้มากทีเดียวค่ะ

และจะขอปิดท้ายเนื้อหากระทู้นี้ ด้านความมั่งคั่งของอาชีพข้าราชการค่ะว่าหากรับราชการ 25 ปีขึ้นไป จะได้บำเหน็จหรือบำนาญ หากเลือกบำนาญจะได้เงินใช้แต่ละเดือนประมาณ 60% ของเงินเดือนสุดท้าย สมมุติเงินเดือนสุดท้าย 58,000 บาท จะมีเงินใช้ยามเกษียณประมาณเดือนละ 34,800 บาท แต่ถ้าเลือกรับบำเหน็จ (เงินเดือนสุดท้าย * จำนวณปีที่รับราชการ) สมมติว่ารับราชการ 25 ปี จะได้รับบำเหน็จ 1.45 ล้านบาท และนอกจากจะมีเงินใช้ทุกเดือนแล้ว ยังได้รับเงินก้อนจากกองทุน กบข. ที่เราลงทุนทุกเดือน โดยจะหักจากเงินเดือน 3% และหน่วยงานสมทบให้อีก 3% +2% (เงินชดเชย) (รวมเงินนำส่งแต่ละเดือนทั้งเงินของเราและรัฐสมทบ ประมาณ 1,800 บาท ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามเงินเดือนของเรา) โดยเราสามารถเลือกแผนลงทุน ปรับพอร์ตได้เอง อย่าง จขกท. เลือกแผนแบบเสี่ยงสูงไปเลย เพราะกว่าจะได้ใช้เงินคือยาวนานมากจนเกษียณ ซึ่งแอปพลิเคชั่นคำนวณให้เลยว่าหากเราเกษียณจะมีเงินประมาณ 3.8 ล้านบาท และเราสามารถออมเพิ่มได้สูงสุด 27% จขกท. ลองกดจำลองการออมเพิ่ม หากเราใส่สุด 27% จะมีเงินใช้หลังเกษียณประมาณ 14 ล้านบาทเลยทีเดียว 

เห็นมั้ยคะว่าเป็นข้าราชการก็มั่งคั่งได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการรู้จักเก็บรู้จักใช้ เคยได้ยินกันบ่อยว่าข้าราชการมีแต่หนี้ หากเราบริหารจัดการเงินไม่ดีไม่ว่าจะอาชีพใดก็ตามก็จะไม่สามารถพาตัวเองไปอยู่งในจุดที่มั่งคั่งได้ค่ะ เพราะต้นทุนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ภาระหน้าที่ต่างกัน ฉะนั้นความมั่งคั่งของแต่ละคนจึงไม่สามารถใช้เครื่องมือใดวัดได้ อยู่ที่การบริหารจัดการของบุคคลเพื่อพาตัวเองไปสู่ความมั่งคั่งนั้น...จขกท.เองก็หวังว่าจะพาตัวเองไปสู่จุดนั้นได้ในสักวันเช่นกันค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่