บทที่ดีในสายตานุชี่ อนุชา ผกก.ที่ใช้นักเขียน 5 คนเล่าเรื่องต้องห้ามในหวานรักต้องห้าม

เครดิต https://readthecloud.co/anucha-boonyawatana/


แม่ค้าออนไลน์นักบุญทุนชาวบ้าน พบรักกับพระเอกวัยรุ่นหัวก้าวหน้านักเอดูเคต
ยิ่งแล้วใหญ่เมื่อแม่ค้าดันเป็นเมียน้อยของพ่อนักศึกษา ซึ่งเป็นครอบครัวที่ครอบครองธุรกิจดังระดับประเทศ
ถ้านี่เป็นข่าวซุบซิบของดาราดังก็คงขึ้นเทรนด์อันดับ 1 อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ใครจะไปคิดว่ามันถูกหยิบมาเป็นบท หวานรักต้องห้าม ละครหลังข่าวที่รับบทโดยนักแสดงมากฝีมืออย่าง แมท-ภีรนีย์ คงไทย, มาช่า วัฒนพานิช, ดอม เหตระกูล และ ไมกี้-ปณิธาน บุตรแก้ว ต่างถ่ายทอดเรื่องราวได้สมจริง จนบางคนตราหน้าว่าบทละครห่วย เพราะคิดน้อย ไร้ศีลธรรม

นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ เป็นผู้กำกับและเขียนบทละครเรื่องนี้ ไม่แปลกถ้าจะคุ้นชื่อ เพราะเธอเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง อนธการ และ มะลิลา ที่กวาดรางวัลมากมายจากเวทีหนังโลก พ่วงด้วยการเป็นอดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย 
เธอฟอร์มทีมร่วมกับนักเขียนบทอีก 4 คน มีชาย มีหญิง มีวัยรุ่น มีกะเทย ร่วมกันร้อยเรียงเรื่องราวเพื่อให้บทละครสมบูรณ์แบบที่สุด และดีพอที่นุชี่จะเรียกว่าเป็นบทในอุดมคติ
คนดูจึงได้เห็นครอบครัวอบอุ่นที่มีแม่เป็นกะเทย ได้ยินประเด็นการเมืองที่ไม่มีใครกล้าพูด ได้ติดตามความรักต้องห้ามของเมียน้อยพ่อกับลูกชาย ในบริบทปัจจุบันที่สาดเสียใส่กันอย่างเป็นธรรมชาติ
หลังแลกเปลี่ยนบทสนทนากับเธอถึงที่ เรารู้สึกได้ทันทีว่าเรื่องต้องห้ามอาจไม่มีอีกแล้วในวงการบันเทิงไทย

ยากไหม การเปลี่ยนสายจากเป็นผู้กํากับหนังมาเป็นผู้กำกับละคร
เหมือนจะเป็นวงการเดียวกันนะ แต่คนที่ทํางานก็คนละคนกัน 
เราอยากทําละครมานานแล้ว เพราะชอบดูละครแนวตบตีแบบ เพลิงพระนาง แล้วก็อยากลองทําในแบบของเราดูบ้างว่าเราจะตีความความคลาสสิกของละครไทยออกมายังไง ซึ่งยาก เราเป็นสายหนังอิสระ หนังรางวัล มีวิธีการนําเสนอทางภาพที่ไม่ได้ถูกใจคนหมู่มาก แต่ละครนี่ต้องถูกใจผู้ชมหมู่มาก
ตอน พี่แอน (แอน ทองประสม) มาชวนให้ไปกำกับก็ไม่ค่อยมั่นใจ ขอตกลงกับพี่แอนว่าเดี๋ยวจะเขียนบทให้ก่อนค่ะ เพราะยังเป็นระบบการทํางานที่ใกล้เคียงกันอยู่ พี่แอนมองว่าบทตรงตามตลาดต้องการรึเปล่า เรามองด้านคุณภาพหรือศิลปะในประเด็นที่เราต้องการนําเสนอ พอเขียนเสร็จแล้วก็รู้สึกว่าไหน ๆ โอกาสมาแล้ว เรามั่นใจในตัวบท เลยคิดว่าถ้าเราลองกํากับน่าจะออกมาเป็นงานที่ดี
ละครเรื่องนี้ใช้คนเขียนบท 5 คน ผู้ชายก็ใช้คนหนึ่ง ผู้หญิงก็ใช้คนหนึ่ง กะเทย (นุชี่เรียกตัวเองว่าอย่างนั้น) ก็ใช้คนหนึ่ง เป็นเพราะอะไร
เรามีแนวคิดการฟอร์มทีมเขียนบทแบบนี้มานาน ซึ่งค่อนข้างเป็นการทํางานแบบสมัยใหม่ เมื่อก่อนจะเห็นนักเขียนคนเดียว บางคนก็ถนัดแบบนั้น แต่เราชอบแบบนี้มากกว่า เพราะแต่ละตัวละครต้องการมุมมองรอบด้าน เราให้ความสำคัญกับเพศเป็นอันดับ 1 อายุเป็นอันดับ 2 คนเขียนบทจึงเป็นตัวแทนของเพศและอายุนั้น ๆ จริง ๆ
หวานรักต้องห้าม ใช้ 5 คน คือ สร้างสรรค์ สันติมณีรัตน์ เขียนบท ทองประกายแสด ถนัดเรื่องละครถูกใจผู้ชม พี่แอ้ว-อำไพพร จิตต์ไม่งง เป็นผู้หญิงที่กํากับละครเรื่อง บัวปริ่มน้ำ (เวอร์ชันแรกของ หวานรักต้องห้าม) ซึ่งมีอายุประมาณมาดามเคท (รับบทโดย มาช่า วัฒนพานิช) แล้วก็มีความเข้าใจตัวละครผกามลิน (รับบทโดย แมท ภีรนีย์) ฤทธิไกร กาญจนวิภู เป็นคนที่เข้าใจตัวละครผู้ชาย เขียนตัวละครรังสรรค์ (รับบทโดย ดอม เหตระกูล) เสธินันท์ จริยวิลาศกุล เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยดูตัวละครคธา (รับบทโดย ไมกี้ ปณิธาน) ดูโครงสร้างเรื่องด้วยว่าสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ไหม และนุชี่เองที่เป็นกะเทย
บรรยากาศตอนปรึกษาหารือกันคงสนุกน่าดู เพราะทํางานหลายคนมาก
เราไม่ได้นั่งเขียนด้วยกัน 5 คน แต่ให้มาทีละ 2 (หัวเราะ) สมมติเขียนรอบแรกมีผู้หญิงกับกะเทยเขียน แต่ตัวละครผู้ชายไม่ค่อยได้เรื่อง คําพูดคําจาก็ไม่ใช่ เราก็ไม่แน่ใจว่าผู้ชายคิดอย่างนี้จริงไหม ได้แต่มโนไปกันเองหรือเอาประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายมาใช้ แต่มันก็ไม่เหมือนกับผู้ชายเขียน คุณฤทธิไกรก็จะเข้ามา เราเขียนกันอยู่เป็นปีได้กว่าจะเสร็จ เพื่อลดช่องโหว่ให้บทสมบูรณ์ที่สุด
บทภาพยนตร์/ละคร ถือเป็นหัวใจของการทํางานในอุตสาหกรรมนี้เลยไหม
บทภาพยนตร์จะทําให้ทีมงานมีความมั่นใจ ถ่ายออกมาแล้วเห็นภาพตรงกัน จะเล่นหนังออกมาแบบไหน เป็นหนังที่มูลค่าหรือไม่มี แต่ขั้นตอนอื่น เช่น การ Pre-production ก็สําคัญมาก ๆ เหมือนกัน รวมทั้งการตัดต่อที่แทบจะโยนบทและโยนโปรดักชันทิ้งไปหมดเลย แล้วมานั่งดูว่าเราถ่ายออกมาแล้วได้อะไรออกมากันแน่
แต่ไม่ว่าหนังไทยจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน คนส่วนมากยังติดปัญหาที่บทเสมอ
มันเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างงบประมาณโดยรวม เพราะงบประมาณในการลงบทมีประมาณ 5% ของงบโปรดักชันทั้งหมด สมมติว่างบโปรดักชันของไทยมี 10 ล้าน เราก็ลงที่บทได้ประมาณ 4 แสน แล้วถ้าจะพัฒนาบทปีหนึ่งก็ตกเดือนละ 30,000 บาท นี่จ้างคนได้แค่คนเดียว ซึ่งเป็นจูเนียร์ด้วยนะ ไม่พอหรอก 
แต่เกาหลีมีงบทำซีรีส์ 10 ล้าน คุณเขียนบทตอนหนึ่งได้ 4 แสน คนเก่งจากหลายสาขาอาชีพมารวมกัน เพราะค่าตอบแทนมันสูง ที่เราทําเนี่ยถือว่าหรูหรามากแล้วที่ใช้ 5 คน คิดดูว่าจะต้องจ้างเขาด้วยเงินเท่าไหร่ บทไม่ใช่ของถูกนะคะ

อะไรคือนิยามบทที่ดีในอุดมคติของนุชี่
ยกตัวอย่าง หวานรักต้องห้าม เป็นละครตบตี ความขัดแย้งของผู้หญิง ความขัดแย้งในครอบครัว มีเมียหลวง-เมียน้อย แม่ผัว-ลูกสะใภ้ เป็นความคลาสสิกแบบละครไทยเลยนะคะ แต่เราไม่ได้มองว่าความคลาสสิกหรือพล็อตน้ำเน่าเป็นเป็นเรื่องแย่เสมอไป คนจําเป็นต้องมีความหลากหลาย แนวเดิมที่คนดูชอบยังทำต่อได้ เพียงแต่ถ้าจะพูดกับคนสมัยใหม่ก็ต้องดูสมจริงขึ้น 
เราว่าความดีหรือไม่ดีของบทวัดกันตรงที่เราทําให้คนดูเห็นความเป็นมนุษย์ของตัวละครได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า
หวานรักต้องห้าม ไม่ได้เป็นพระเอ๊กพระเอก นางเอ๊กนางเอก เขาทําผิดพลาด มีความซับซ้อนทางจิตใจ มีการสร้างครอบครัวของคนที่เป็นกะเทย เรามีเพื่อนที่เป็น Activist เยอะ เราว่านี่เป็นหน้าที่ที่เราต้องทํา เพื่อให้คนดูเห็นภาพหรือเกิดการถกเถียงกันว่าในอนาคตครอบครัวของเพศหลากหลายจะเป็นแบบไหน หรือเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่โบราณของเมืองก็เป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอในสังคมไทย
คนดูดูแล้วสะท้อนตัวเองว่าบางทีฉันก็คิดแบบนี้ เข้าใจคนในสังคมมากขึ้น ในอนาคตเราอาจจะตกอยู่ในสถานะแบบนั้นก็ได้ งั้นเราก็ต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้างหรือคนในสังคมเหมือนกัน
แต่การทําแบบนั้นกับภาพยนตร์ก็เรื่องหนึ่ง การทําแบบนั้นกับละครที่แมสกว่าก็เป็นอีกเรื่อง เตรียมรับมือกับความคิดเห็นของคนดูละครไว้ไหม
เตรียมไว้นะคะ แต่เราคงไม่ไปทะเลาะกับคนดูหรอกค่ะ (หัวเราะ) เขามีสิทธิออกความเห็น เราก็แค่อธิบายไปว่าเราตั้งใจทําอะไร นําเสนอแบบนี้เพราะอะไร
ปีนี้เหมือนจะเป็นปีทองของผู้จัดแอน อะไรคือสไตล์การทํางานแบบ แอน ทองประสม
พี่แอนทองมีความเชี่ยวชาญมากว่าจะเอาแคสต์แบบไหน ประกบคู่ให้ได้ดี เขามีประสบการณ์ในการแสดง คลุกคลีกับในวงการ รู้อยู่แล้วว่าคนนี้เล่นแบบนี้ เหมาะกับคาแรกเตอร์แบบนี้ อ่านขาด แต่เขาก็จะปรึกษามุมมองของนุชี่ด้วย อย่างพี่มาช่ามีโครงร่างลูกครึ่ง ไปประกบกับดาราไทยตัวเล็กจะดูไม่สูสีกัน ต้องเป็นแมทหรือไม่ก็ คิมเบอร์ลี่ (คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส) บทอองเดรย์ (รับบทโดย แมน-ธฤษณุ สรนันท์) ก็เหมือนกัน
เพิ่งสังเกตว่านักแสดงหลักในละครเรื่องนี้ทุกคนเป็นลูกครึ่งหมดเลย
บังเอิญได้นะ เราไม่ได้กําหนดนะคะว่าต้องเป็นลูกครึ่งหรือไม่ลูกครึ่ง บทอองเดรย์คนดูต้องเชื่อว่าเขาเป็นนักบอลที่มีความสามารถจริง ๆ เรามองไปถึงว่าจะเอานักบอลมืออาชีพมาพลิกบทบาทด้วยซ้ำ เรียกมาแคสต์แล้ว แต่ก็ไม่มั่นใจเรื่องฝีมือการแสดง หรือตัวคธาก็อยากได้คนที่ดูเซ็กซี่ ตอนแรกเราชอบอีกคนมากกว่าไมกี้ แต่พอคุยกันแล้วเห็นทัศนคติ ความกล้าแสดงออก ไมกี้กลับโดดเด่นกว่ามาก

ไมกี้มีปัญหาในการเข้าคู่กับคนที่มีประสบการณ์มาก ๆ บ้างไหม
มีค่ะ เขากดดัน ตอนถ่ายเรื่องนี้ ดวงใจเทวพรหม ยังไม่ออกอากาศ ทีมงานหลายคนก็ยังไม่ได้มั่นใจ เพราะเราใช้การแสดงเหมือนหนัง ใช้ คุณกุ๊กไก่ (รังสิมา อิทธิพรวณิชย์) ที่เป็นแอคติงโค้ชให้หนังเรื่อง อนธการ ไม่ใช่สิ่งที่เขาคุ้นชิน เพราะแล้วทุกคนเขาเป็นเบอร์ใหญ่กันหมด ไม่มีใครกล้าว่ากล้าด่าแล้วไง ความกดดันเลยไปลงที่ไมกี้ (หัวเราะ) เราต้องคอยให้กําลังใจน้องว่า เออ มันดีแล้ว ถ้าเธอเล่นไม่ดี ฉันไม่ให้ผ่านหรอก เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง
ถือเป็นเรื่องดีของนักแสดงหน้าใหม่ที่มีทั้งคนตำหนิและคนให้กำลังใจในช่วงแรก
ใช่ เราก็บอกว่าการรับฟีดแบ็กทั้งจากคนดู โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ หรือทีมงานต่าง ๆ เธอต้องขีดเส้นกั้นระหว่างความเป็นตัวเธอกับการทํางาน เธอต้องคิดซะว่านี่ก็เป็นแค่ละคร
โอเค นุชี่ให้คุณค่าเรื่องศิลปะการแสดง แต่มันก็เป็นงาน ไม่ต้องอินถึงขนาดคิดว่า โอ๊ย ชีวิตนี้ฉันทำผิดพลาด ไม่งั้นเธอจะอยู่ในวงการไม่ได้ เพราะการรับฟีดแบ็กเป็นเรื่องปกติ เดี๋ยวอีกหน่อยเขาก็ต้องมีเรื่องที่เล่นออกมาแล้วแข็งไปหมด ยังไงก็ต้องเจอในอนาคต 
เราทําหนังแล้วคนดูไม่ชอบ ไม่ได้เงิน ไม่ได้รางวัล แหม ผู้กํากับคนไหนจะทําหนังดีไปซะหมด เราก็ต้องมองเป็นแค่งานชิ้นหนึ่งที่เราทำได้ไม่ดี ก็ทำใหม่ ก็ต้องข้ามไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ตั้งใจทํางาน แค่ต้องมีวิธีรับมือกับฟีดแบ็กที่ควบคุมไม่ได้
อะไรทําให้นุชี่เป็นผู้กำกับที่สนใจเรื่องความเศร้า ความเจ็บปวด ความรุนแรง หรืออะไรก็ตามที่ตรงข้ามกับความสุข
เราอาจจะเป็นคนแบบนั้นมั้ง (ยิ้ม) เพราะไอ้สิ่งที่อยู่ในงานของเราเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเราทั้งหมด ไม่งั้นเราคงไม่ใส่ในละคร
เราโตมาจากสายหนังอิสระ ตัวตนของผู้กํากับ ลายเซ็นต่าง ๆ เป็นสิ่งสําคัญ เพราะฉะนั้น เวลาทํางานอะไรก็ต้องเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่าแก่การบอกเล่า 
สายหนังอิสระมีอิสระจริงไหม
อิสระนะ แต่จะเรียกว่าอิสระไปทั้งหมดเลยก็คงไม่ได้ เพราะการทําหนังใช้เงินเยอะ มันต้องมีคนอื่น ขึ้นอยู่กับว่าเราทำหนังแนวไหน ถ้าเรื่องราวที่คุณจะเล่าเชื่อมโยงกับผู้คนได้เยอะก็ไปขอทุนจากสตูดิโอ แต่ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ดูแปลกแตกต่าง คุณก็ไปขอกองทุนที่สนับสนุนด้านศิลปะภาพยนตร์ ซึ่งก็เป็นนายทุนเหมือนกัน เขาก็คาดหวังว่าหนังเราจะต้องได้รางวัล ต้องไปตามเทศกาล ถ้าเกิดสมมติคุณทําได้ ต่อไปคุณไปขอเขาก็ให้อีก ถ้าคุณไม่ได้อะไรเลย เขาจะให้คุณอีกทำไม
หรือจะไปทําตามใจตัวเองก็ออกเงินเอง ขายบ้าน ขายรถ ขายปลา นั่นก็จะได้หนังตามใจคุณ เราเคยเอารถไปเข้าไฟแนนซ์เพื่อเอาเงินออกมาถ่ายซ่อม เพราะฉันยังไม่ถูกใจกับสิ่งที่ถ่ายไป ผู้กํากับหลายคนถึงขั้นเสี่ยงจำนองบ้าน เอาบัตรเครดิตไปกดเงินสดเพราะอยากจ่ายให้ทีมงานแก้ตอนนี้ การทำหนังเป็นเรื่องของแพสชันล้วน ๆ




แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่