เรื่องเล่าจากอดีตคอลเซ็นเตอร์การบินไทย จะซื้อตั๋วสักใบ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง และต้องระวังอะไรบ้าง แบบจัดเต็ม

เรื่องเล่า จากคนเคยทำงานคอลเซ็นเตอร์การบินไทย
จะซื้อตั๋วสักใบ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง และต้องระวังอะไรบ้าง แบบข้อมูลละเอียดจัดเต็ม จบในกระทู้เดียว

เรื่องแรกสุดเลยก็พูดถึง น้ำหนักกระเป๋า นี่แหละ
เราจะแบ่งน้ำหนักออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. Checked (Ch) คือกระเป๋าโหลดเข้าใต้ท้องเครื่อง
2. Carry on (Ca) (บางสายการบินเรียก Cabin) คือกระเป๋าถือไปที่นั่งด้วยกับตัวคุณเอง
*Ch Ca นี่ผมย่อเองนะ จะได้ง่ายๆ

ตัว Ca จะตายตัวอยู่แล้วว่าได้น้ำหนักเท่าไหร่ เป็นไปตามข้อกำหนดสายการบินนั้นๆ
ส่วน Ch ต้องดูว่าสายการบินใช้ระบบไหน จะมี
1. Piece Concept คือ กำหนดชัดเจน ชั้นประหยัดได้สูงสุด 23 กก. (50 ปอนด์) ต่อใบ และ ชั้นธุรกิจได้สูงสุด 32 กก. (70 ปอนด์) ต่อใบ
สายการบินที่ใช้ระบบนี้ เช่น Lufthansa (LH), Turkish Airlines (TK), British Airways (BA), Qantas (QF)
2. Weight Concept น้ำหนักกระเป๋าที่ได้ เป็นไปตามชั้นที่นั่ง (Seat Class, eg. Saver, Flexible)
ไม่เคร่ง ในส่วนจำนวนกระเป๋า เพียงแต่น้ำหนักรวมสัมภาระ ต้องไม่เกิน
สายการบินที่ใช้ระบบนี้ เช่น Thai Airways (TG), Singapore Airlines (SQ), Emirates (EK), Qatar Airways (QR)

*บางสายการบิน ก็ผสมผสาน
เช่น Korean Air (KE) ที่ใช้ Piece Concept สำหรับเส้นทางอเมริกา แคนาดา และเส้นทางบินผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก
ในขณะซึ่งเส้นทางเอเชีย ยุโรป ก็ใช้เป็น Fixed Weight Concept คือ ไม่เคร่งในจำนวนกระเป๋า ส่วนน้ำหนักกระเป๋า จะเป็นไปตาม ชั้นโดยสาร (Cabin Class, eg. Economy, Business)

แต่ละสายการบิน ก็จะมีชื่อชั้นที่นั่งแตกต่างออกไป อย่างของ Qatar จะเรียก Lite / Classic / Convenient / Comfort / Elite เรียงจากต่ำไปสูง ส่วนของ TG เราเรียก (ต่อจากนี้ไปจะอ้างอิง TG นะครับ)

1. Saver (SV) ได้น้ำหนักรวมสูงสุด 20 กก. ต่อคน
2. Standard (ST) ได้น้ำหนักรวมสูงสุด 25 กก. ต่อคน
3. Flexi (FX) ได้น้ำหนักรวมสูงสุด 30 กก. ต่อคน
4. Full Flex (FF) ได้น้ำหนักรวมสูงสุด 35 กก. ต่อคน

ข้อเสียของระบบนี้ คือ น้ำหนักโดยรวมได้น้อยกว่า Piece Concept แต่ข้อดีคือ ไม่จำกัดจำนวนกระเป๋า คุณสามารถเอามาได้สูงสุด 5 ใบเลย (ต่อคน) แค่ขอว่าน้ำหนักรวม Ch ทุกใบ อย่าเกิน และ น้ำหนักของ Ch แต่ละใบ ก็อย่าเกิน 30 กก.
*ถ้าเป็น ROP Member ก็อาจจะได้น้ำหนักเพิ่ม โปะเข้าไปอีก
- Classic ไม่ได้
- Silver ได้ +10 กก.
- Gold ได้ +20 กก.
- Platinum ได้ +30 กก.

ทั้งนี้ เราจะยึดสายการบินแรกเป็นหลัก
เช่นจะบินจาก เมกามาไทย ต่อเครื่องญี่ปุ่น รูท SFO-NRT-BKK ด้วย United Airlines (UA, ทำได้ เพราะด้วย TG กับ UA อยู่ในเครือ Star Alliance เหมือนกัน)
แต่ UA ใช้ Piece Concept นั่นหมายความว่าไฟลท์ NRT-BKK จะโดนบังคับเป็น Piece Concept แม้บินกับ TG

และเพราะเป็น Star Alliance ด้วยกัน + ทั้ง 3 สนามบินเป็นสนามบินนานาชาติ ทางการบินจะจัด Check through หรือการโหลดกระเป๋าต่อเนื่อง (ไม่ต้องรอรับกระเป๋าที่ญี่ปุ่น) ได้เลย (แต่ถ้ามีเหตุให้ระยะเวลาต่อเครื่องนานเกินไป เช่น ดีเลย์เป็นวัน อันนี้แล้วแต่หน้างานนะครับ)
*สามารถเช็คสายการบิน Star Alliance ได้จากกูเกิล ปัจจุบันมี 25 สายการบิน (update SAS Scandinavian Airlines ออกจากการเป็นสมาชิกไปแล้ว)
**ROP Member ระดับ Gold ขึ้นไป สามารถใช้เลานจ์สายการบินในเครือ Star Alliance ได้นะครับ เงื่อนไขเช็คกับเจ้าหน้าที่เลานจ์อีกทีนึง
ไปเมกา ผมแนะนำต่อเครื่อง NRT, HND ด้วย ANA ของญี่ปุ่น > ICN ด้วย Asiana ของเกาหลี >>> TPE ด้วย EVA ของไต้หวัน
ส่วนไปยุโรป ถ้าต่อเครื่องแนะนำ FRA, MUC ด้วย Lufthansa ของเยอรมัน > IST ด้วย Turkish Airlines ของตุรกี
สนามบินที่แนะนำทั้งหมดนี้ TG มีบินตรงครับ

สามารถซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มได้ โดยมี 3 ช่องทาง
1. ทำเองบนหน้าเว็บ (ราคาถูกสุด แต่จะต้องทำอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องออกของไฟลท์แรกสุดตามที่ระบุบนหน้าตั๋ว ขอย่อว่า เวลา)
2. ทำกับคอลเซ็นเตอร์ (ทำภายใน 12-24 ชม. ก่อนเวลา เท่านั้น)
3. ทำกับเคาน์เตอร์เช็คอิน (ราคาแพงสุด)

*อันนี้เชิงลึกแล้ว แต่บอกเผื่อใครสงสัย
บางคนอาจเกิดคำถาม ว่าชั้นที่นั่ง แปลอังกฤษก็ Class มั้ย แล้วที่เห็นบนหน้าตั๋วพวก Class S, Class J มันต่างกันยังไง ? ทำไมผมเรียกชั้นที่นั่งเป็น SV, FX ซะแทน
โอเค เจ้าอักษรตัวเดียวนี้ บนหน้าตั๋วเราใช้คำว่า Class ให้ผู้โดยสารเห็นภาพ แต่ในทางการบิน เราเรียก RBD ครับ มันคือระดับราคาที่จ่าย ส่วนพวกชื่อยาวๆ เราเรียก ระดับชั้นที่นั่ง หรือ Seat Class (บางสายการบินเรียก Fare Family เพื่อป้องกันสับสนกับ Cabin Class อย่าง Economy, Business)
ระดับชั้นที่นั่งนึง มี 2-4 RBD เท่ากับว่าสายการบินนึงมีมากกว่า 15 RBD เป็นปกติ และ RBD ก็จะเป็นระบบใครระบบมันครับ กล่าวคือ RBD C ของ TG ไม่สามารถเทียบเท่า RBD C ของสายการบินอื่น
RBD ที่ต่างกัน หมายถึง ราคาซื้อที่ต่างกัน และ % สะสมไมล์ก็ต่างกันด้วยครับ
ส่วน ระดับชั้นที่นั่ง ที่ต่างกัน หมายถึง น้ำหนักกระเป๋าที่ต่างกัน และ ค่าธรรมเนียมการ Change ที่ต่างกัน (ทำอะไรได้บ้าง อธิบายข้างล่างครับ)

หลายๆครั้ง จองผ่าน Travel agency ได้ราคาต่ำกว่าบนเว็บ เพราะเอเจนซี่กวาด RBD ต่ำไปก่อนแล้ว แต่ต้องเช็คให้ดีนะครับว่าเอเจนซี่จองตั๋วให้คุณ ในนามสายการบินอะไร
สิ่งนี้จะเป็นประเด็น เมื่อคุณมีปัญหาต่างๆนานา ตามกฎการบิน สายการบินผู้รับผิดชอบคือ “สายการบินผู้ออกตั๋ว” ครับ
จากประสบการณ์ เจอเคสแบบนี้เยอะนะครับ ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากบอกให้ไปติดต่ออีกสายการบินหรือให้ติดต่อเอเจนซี่โดยตรง (เอเจนซี่เองจะให้อำนาจตัวเองในข้อมูลบางอย่างครับที่ทำให้แม้แต่คอลเซ็นเตอร์ก็ไปแก้ไขไม่ได้) ไม่ใช่ว่าไม่อยากช่วยนะครับ แต่ไม่ได้รับมอบอำนาจให้แก้ไข จริงๆ ขอให้เข้าใจนะครับ ว่าตั๋ว Agency คือเค้ามาซื้อจากเราเพื่อเอาไปขายต่อ เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรแล้วจากนั้น
บางปัญหา Call TG ช่วยได้ เราไม่เกี่ยงครับ แต่บางอย่างไม่ได้จริงๆ ขอชี้แจงตรงนี้หนักหน่อย เพราะเป็นเหตุผลหลักๆเลยของผู้โดยสารอาละวาดตะคอกใส่

โค้ดจอง (PNR) ออกโดยใคร เป็นความรับผิดชอบผู้นั้น ครับ
เราสามารถดูได้ ว่าตั๋วเรา under สายการบินไหน จากรหัสตั๋ว 13 หลักครับ ถ้าเป็น TG เลข 3 ตัวแรก ต้องเป็น 217 ครับ คือรหัสสายการบิน TG เราเอง
สมมติบินเมกามาไทย ต่อเครื่องญี่ปุ่น แล้วไฟลท์ TG มีปัญหา ดีเลย์ แต่รหัสตั๋ว 016 (รหัสของ UA) นำโด่มาเลย ก็ต้องให้ UA จัดการหาไฟลท์ให้นะครับ แม้จะเป็น TG เองที่มีปัญหา เช่นกันครับถ้าสายการบินอื่นมีปัญหาแต่ตั๋ว under เรา เราก็ต้องจัดการ

นอกเรื่องไปไกล กลับมาที่ระดับชั้นที่นั่งหรือ Seat Class
เราสามารถรู้ได้ตอนจอง จะมีให้เลือกครับ และสามารถดูได้จาก Fare Basis บนหน้าตั๋ว
ตัวอย่าง Fare Basis เช่น BLRFF KLOSTD
ตัว 1 = RBD
เรียงจาก RBD สูงไปต่ำ (ของ TG)
First Class = F / A / P + O (ตั๋วแลกไมล์)
Business Class = C / D / J / Z + I (ตั๋วแลกไมล์)
Economy Class = Y / B / M / Q / H / T / K / S / V / W + X (ตั๋วแลกไมล์)
ตัว 2 = ค่าคงที่
ตัว 3, O = One way, R = Round trip
ตัว 4-5 = Seat Class
ตัว 6-7 (อาจมี ถ้ามี แปลว่าได้ตั๋วโปรโมชั่นมา มันจะเป็นโค้ดโปรโมชั่น)

ทีนี้ ก่อนหน้า ที่ผมบอกว่าระดับชั้นต่างกัน มีผลต่อค่าธรรมเนียมการ Change และ Refund)

- Change คือการเปลี่ยนแปลง ทำได้คือ
1. วันเดินทาง
2. เวลาเดินทาง
3. อัพเกรด (Change cabin class, เปลี่ยนที่นั่งชั้นประหยัดเป็นธุรกิจ หรือ ธุรกิจเป็นชั้นหนึ่ง)
4. อัพเซลล์ (Change seat class, เปลี่ยนคลาสที่นั่ง)
5. รีรูท (เปลี่ยนจุดหมายปลายทาง)
*Seat class ระดับ FF ไม่มีค่าธรรมเนียมการ Change ถ้าไม่แน่ใจวันเวลาเดินทาง และคิดว่าเปลี่ยนบ่อยแน่ๆ แนะนำซื้ออันนี้เลย

- Refund คือจะไม่บินแล้ว ขอเงินคืน
อันนี้ขออธิบายก่อนว่าโดยปกติแล้ว ค่าตั๋วที่เราจ่าย มันมี 4-5 ก้อนรวมกัน คือ
1. ค่าตั๋วจริงๆ หรือ Pure fare (ที่นั่ง, Service charge จากแอร์ บลาๆ)
2. ภาษีสนามบิน (ค่าเหยียบสนามบิน เก็บ 2 รอบ ดูตามต้นทาง สนามบินนานาชาติ เมืองหลัก เมืองรอง ภาษีต่างกันไป)
3. ภาษีเบ็ดเตล็ด (เชื้อเพลิงเครื่องบิน ภาษีประจำเมือง)
4. ค่าธรรมเนียมสายการบิน หรือ Airlines fee อันนี้ จะได้คืนก็ต่อเมื่อไฟลท์ยกเลิก หรือ ดีเลย์เกินครึ่งวัน และ "เป็นความผิดสายการบินจริงๆ" (ถ้าดีเลย์เพราะสภาพอากาศ เช่น พายุเข้า หิมะตกหนักจนใช้รันเวย์ไม่ได้ แผ่นดินไหว อะไรที่มันมาจากภายนอก ไม่ถือว่าสายการบินผิด)
5. Special request (มีไปตามความต้องการผู้โดยสาร) เช่น จะนั่งแถวหน้าที่ยืดขาได้ (ซื้อ Bulkhead seat) หรือ ซื้ออาหาร (สายการบินที่ไม่ full service) หรือ ซื้อน้ำหนักกระเป๋า บลาๆ

ถ้าหากเงื่อนไขตั๋วคุณ non-refundable หรือ คืนเงินไม่ได้..
ไม่ได้แปลว่าคุณจะได้ 0 บาท
แต่แปลว่าคุณจะไม่ได้ข้อ 1 ครับ
ยังได้ข้อ 2-3, 5 อยู่ ถ้าหากว่ายังไม่ได้บินเลย
*ข้อ 5 อาจจะคืนรูปแบบอื่น เช่น discount, cash voucher หรือ bulkhead seat ก็อาจจะให้เป็นสิทธิ์เก็บไปใช้ทีหลังตามเงื่อนไข

กรณีมีหลายเส้นทางในบุ๊คกิ้งเดียวกัน เช่น BKK-KIX-BKK บินไปถึงโอซาก้าแล้ว พอดีอากาศมันดีอยากจะอยู่ต่อ ค่อยจองกลับทีหลัง แบบนี้อาจจะได้ข้อ 2-3, 5 คืนสำหรับส่วนไฟลท์ KIX-BKK และถ้าได้ก็ไม่ได้เต็มอยู่ดี เพราะไปอยู่เมืองเค้าแล้ว (สายการบินพิจารณา)

จะมีอีกแบบหนึ่งที่ชวนงง คือ partially non-refundable หรือ คืนเงินบางส่วนไม่ได้
หมายความว่า ถ้ามีบินไปแล้วสัก 1 เส้นทางในบุ๊คกิ้งเดียวกัน จะคืนเงินไม่ได้ครับ
แต่ถ้ายังไม่ใช้เลย ก็คืนเงินได้ ได้ข้อ 1-3, 5 แต่ต้องทำตามเงื่อนไขสายการบิน (ว่าต้องแจ้งขอคืนเงินล่วงหน้าอย่างน้อยกี่ชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องออก และอาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง ตามแต่ละสายการบินและโปรโมชั่นที่ซื้อตั๋วมา)

และสุดท้ายนี้ เช็คสนามบินให้ดีนะครับ
DMK = ดอนเมือง
BKK = สุวรรณภูมิ

ปกติแล้วหน้าตั๋วจะไม่ระบุชื่อสนามบิน แต่ระบุชื่อเมือง และหลายสายการบินมักใช้ Served city
คืออะไร ? คืองี้ครับ ตำแหน่งที่ตั้ง มันบอกได้ 2 ระบบ คือ Located city กับ Served city (เดี๋ยวขอตัดคำว่า city ออก เพื่อให้กระชับ)
Located คือ ที่ตั้งจริงๆ ตามภูมิศาสตร์ ส่วน Served คือ ชื่อเมืองที่นำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจการท่องเที่ยว

อย่างสนามบิน สุวรรณภูมิ
Located คือ สมุทรปราการ ส่วน Served คือ กรุงเทพ เห็นภาพไหมครับ

ซึ่งมันไม่ได้ถือว่าเป็นการโกงอะไรนะ เค้าทำแบบนี้เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารครับ ลองมองในมุมที่ว่า Bangkok ดังไกลระดับสากล ฝรั่งจะบินมา แล้วถ้าเที่ยวบอกใครต่อใครว่า จะบินไป Samut Prakan มันก็คงจะแปลกๆ

หลายๆ สนามบินก็ทำแบบนี้ครับ เช่น
ICN ของเกาหลีใต้ Located คือเมืองอินชอน และ Served คือเมืองโซล
NRT ของญี่ปุ่น Located คือเมืองนาริตะ ในจุดที่ห่างจากใจกลางโตเกียวประมาณ 60 กม. แต่ Served ก็คือโตเกียว

ดังนั้นแล้วโดยปกติ ก็จะใช้ “Bangkok” กับทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ครับ เราจะต้องดูรหัสสนามบิน ดีๆนะครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่