อาริตา วอนคนดูเปิดใจ หวานรักต้องห้าม แรงบันดาลใจจาก บัวปริ่มน้ำ ปรับตามยุค...


อาริตา วอนคนดูเปิดใจ หวานรักต้องห้าม แรงบันดาลใจจาก บัวปริ่มน้ำ ปรับตามยุค แง้มจุดหมิ่นเหม่ศีลธรรม – เชื่อมั่น แอน ทองประสม ทำอย่างดีที่สุด ภูมิใจคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าผลงาน
อาริตา หนึ่งในนามปากของนักเขียนชื่อ อี๊ด ทัศนีย์ คล้ายกัน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงงานเขียนมานานกว่า 30 ปี ด้วยผลงานกว่า 300 เรื่อง ล่าสุดให้เกียรติเปิดใจครั้งแรกกับทาง ข่าวสดบันเทิงออนไลน์ ถึงประเด็นที่ถูกพูดถึงในกลุ่มแฟนนิยายและแฟนละคร หลัง แอน ทองประสม ผู้จัดชื่อดัง ได้แรงบันดาลใจจาก “บัวปริ่มน้ำ” สู่ละคร “หวานรักต้องห้าม” โดยฝีมือผู้กำกับเจนฯ ใหม่อย่าง นุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผ่านการเล่าที่มีเส้นเรื่องบางจุดล่อแหลมต่อความรู้สึกของคนดู... 

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของนิยาย “บัวปริ่มน้ำ” ก่อนที่จะกลับมาให้แฟนๆ ได้ชมกันในชื่อใหม่ “หวานรักต้องห้าม”?
“วันที่เขียนเรื่อง บัวปริ่มน้ำ ตอนนั้นอายุ 32 ปี ซึ่งเขียนนิยายมาได้ 14 ปีแล้ว เราครีเอตตั้งแต่การตั้งชื่อทั้งชื่อเรื่องและชื่อนางเอก ผกามาลิน เป็นชื่อที่เก๋มาก คาแร็กเตอร์ของผกามาลินเป็นผู้หญิงที่กล้า แล้วก็การเปิดเรื่องที่จำได้คือผกามาลินนั่งรอสามีชาวบ้าน ผิดขนบนางเอกในปี 2532 โดยสิ้นเชิง”

“ย้อนกลับไปในปีนั้น นางเอกที่กร้านขนาดที่ว่ามีลูกมีสามีมาแล้ว แต่ยังโลดแล่นและเป็นนางเอกด้วย ไม่มีละครเรื่องไหนยื่นมือเข้ามาหาคุณอาริตาเลย(ยิ้ม) ด้วยความที่แหกขนบมาก สุดท้ายบัวปริ่มน้ำรอมา 18 ปีถึงมีการถูกซื้อโดยช่อง3 ซึ่งคุณมยุรฉัตร(เหมือนประสิทธิเวช)เป็นคนทำ ประสบความสำเร็จมากมาย ทุกคนรู้จักผกามาลิน ชื่อนี้อยู่ในความทรงจำเลย แล้วความที่ละครดังมากสถานีฯ ซื้อต่อไว้อีก”


“จนหมดสัญญาตอนนั้นมีค่ายละครมากมายพุ่งเข้าหาบัวปริ่มน้ำ สถานีฯ ไม่ปล่อยจนเกือบจะหมดสัญญาอีกรอบหนึ่งก็มอบหมายให้แอน(ทองประสม) ซึ่งเคยทำงานของเรามาก่อน ทั้งในฐานะนางเอกของงานที่เราเขียน และในฐานะผู้สร้างละคร อย่างที่ทราบกันว่ามันมีการเปลี่ยนชื่อไปเป็น “หวานรักต้องห้าม” แทน”
“สำหรับเราที่เป็นคนเขียนก็มีความเชื่อมั่นว่ามันจะไปได้งดงามเช่นกัน แม้ว่ามันจะมีบางอย่างที่อาจจะเป็นจุดวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ส่วนตัวเคยเจองานที่มันเปลี่ยนโดยไม่บอกกล่าว เรามารู้ทีหลัง แต่เรื่องนี้หลังจากที่มีการเปิดกล้องไป ทางนุชี่(อนุชา บุญยวรรธนะ)ผู้กำกับ ได้โทรมารายงานตัวและคำแรกเลยว่า…ป้าอี๊ดแหกกรอบมาก นุชี่จะช่วยแหกให้มากขึ้น(หัวเราะ)”

“ตอนนั้นมีการคุยกันแล้วก็มีการท้วงกันเกิดขึ้น เราส่งอีเมล์ไปฉบับหนึ่งบอกว่าไม่เห็นด้วยกับอะไรบางอย่างในเรื่องนี้ ตอนนั้นก็ได้คุยกันทั้งพี่สมรักษ์(ณรงค์วิชัย) นุชี่ แอน และเรา ว่าจุดนี้มันเป็นจุดที่เปราะบางและหมิ่นเหม่สำหรับสังคมไทย เราอยากให้เลี่ยง คุยกันก็ทำความเข้าใจกันได้ในการเปลี่ยนแปลง แล้วหลังจากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของการทำงาน เราก็ได้แต่ตามว่าใครมาเล่นแค่นั้น”
“จนวันหนึ่งคุณมาช่า(วัฒนพานิช)บอกว่าในจุดที่ปรับไปนั้น เขาเล่นไม่ได้ วันนั้นที่คุยกันก็มีนุชี่ มาช่า คุณแอ้ว(อำไพพร) และเรา ซึ่งเรากับช่าเห็นตรงกันว่ารับไม่ได้ในจุดนี้ แต่นุชี่เลยบอกว่าจะทำให้ดีที่สุด ต้องบอกว่าเรื่องนี้ที่จริงมันผิดพลาดมาตั้งแต่เวอร์ชั่นแรก ตรงที่ว่า เครือมาศ ซึ่งเป็นแม่ของคธา สามีเธอตายไปนานแล้ว ในเรื่องตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกหนังสือไม่มี แต่ในเวอร์ชั่นแรกทำให้ตัวสามีของเครือมาศเหมือนมีซัมธิงกับผกามาลิน ทำให้เป็นข้อขัดแย้ง แต่จริงๆ มันไม่ใช่”

“ย้อนไปที่มาช่าบอกว่าตัวเองเล่นไม่ได้ เราเลยพูดคำหนึ่งที่เคยพูดเสมอว่า “หน้าที่นักเขียนของเราหมดตั้งแต่วันที่เราขายบทประพันธ์ไป” แต่เมื่อเราดูแล้วคนเขียนบทเขาเขียนได้ดี เราก็ได้แต่ต๊าย! ทำไมฉันคิดไม่ได้ แต่ถ้ามันไม่ดีเราก็ได้แต่เอ๊ะอ๊ะคิดได้ไงเนี่ย แล้วก็จบกันไปไม่วิพากษ์วิจารณ์ต่อ”
“แต่เราก็เชื่อว่าวิจารณญาณของผู้จัดไม่มีใครที่ทำงานลวกๆ ทุกคนตั้งใจทำดีที่สุด แต่ผลจะออกมาเป็นยังไงเราไม่รู้ นิยายที่เราเขียนก็ไม่ได้ถูกใจคนอ่านไปทั้งหมด นี่คืองานสาธารณะ เราต้องเปิดใจกว้างที่จะรับทั้งบวกและลบ เราจะรับแต่เสียงชื่นชมไม่ได้ มันต้องมีเสียงลบมา แต่เราจะตั้งรับยังไงแค่นั้นเอง”

“เรื่องนี้เราก็ได้คุยกับแอนแล้ว บัวปริ่มน้ำที่แอนและนุชี่เห็นมันคืองานของเฟมินิสต์ ต่อมาคือเรื่องมันเป็นสีเทาๆ อยู่แล้ว ทีนี้บัวปริ่มน้ำถูกเขียนเมื่อปี 2532 ปีนี้คือ 2567 ผ่านมา 35 ปี บริบทสังคมเปลี่ยนไป คนทำก็เปลี่ยนไป เจนฯ ของนุชี่กับเจนฯ ของเรามันต่างกัน เราต้องดีใจก่อนว่าบัวปริ่มน้ำเป็นเรื่องเก่างานเก่าแต่เขายังเห็นคุณค่าที่จะทำ นี่คือความภูมิใจของผู้เขียน”
“วันนี้เราอายุ 67 ยังมีคนจับงานเราขึ้นมาเล่าใหม่ แอนได้รับมอบหมายจากช่องให้ทำ เขาเห็นทางแต่ขอเล่าเรื่องใหม่ แล้วก็ได้มีการบอกตลอดเวลาว่าเรื่องจะเป็นอย่างนี้ๆ เราได้ติงได้คุยร่วมกันไปแล้ว ทางเขาก็มีเหตุผลซึ่งเราก็ต้องฟังก่อน เขาจะทำอะไรออกมาเรายังไม่เห็น เชื่อว่าทุกคนต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ”

“ตอนแรกที่ทีเซอร์ออกมาแล้วก็เอ๊ะๆ อยู่ในใจแต่มันไม่ชัด แต่พอดีได้เห็นเรื่องย่อ เราถึงรู้ว่าเขามีการขยับที่ตัวละครบางตัวที่มันหายไปหรือถูกกดเอาไว้มาเป็นคุณคธา แล้วก็เล่าตรงนั้น ซึ่งมันมีอยู่ในเรื่อง แล้วเราก็ยิ่งภูมิใจตรงไหนรู้ไหม ตายแล้วเมื่อวันที่ฉันอายุ 32 ฉันคิดอะไรได้ไกลล้ำสมัยมาก”
“ในความรู้สึกของตัวเองเราก็กระดี๊กระด๊าที่บัวปริ่มน้ำของเราจะได้กลับมา ถึงแม้ว่าจะเป็นในชื่อหวานรักต้องห้ามก็ตาม แต่แรงบันดาลใจก็มาจากบัวปริ่มน้ำ คิดดูสิว่าผู้หญิงคนหนึ่งเขียนนิยายมาทั้งชีวิต เรายังสามารถเป็นแรงบันดาลใจ คนรุ่นใหม่ยังเห็นคุณค่างานเรา ในฐานะที่เป็นป้าอี๊ด แม่อี๊ด ครูอี๊ด…ตายละ! ปีนี้ฉันจะกลับมา”

“ยอมรับว่าเวลาจะมีละครทีไรเราก็ตื่นเต้นทุกที เพียงแต่ว่าพอละครออกมาแล้วถ้าถูกใจเราก็ดูต่อ ถ้าไม่ถูกจริตก็วาง(ยิ้ม) หน้าที่เราครบแล้ว เราขายบทประพันธ์ไปแล้วจะไม่เข้าไปสอดแทรกในเรื่องการทำงานเลย วันนี้แม้ว่าจะใช้ หวานรักต้องห้าม แต่คำว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจาก บัวปริ่มน้ำ เราในฐานะคนเขียนโคตรภูมิใจในอาชีพนี้เลย”
บัวปริ่มน้ำ เวอร์ชั่นปี 2549 ยังไม่มีโซเชียล แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วง ละครไทยเรื่องแรกที่ได้เรตฉ. แล้วมาในปี 2567 ที่โซเชียลกระหน่ำมาก เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง?
“เรื่องที่ได้เรตฉ. เรื่องแรกของละครไทย อันนี้ภูมิใจมากเลย พอได้ ฉ. อาริตากรี๊ดเลย…เราเป็นคนแรก แล้ววันนั้นผกามาลินทำออกมาจำภาพ เข็ม รุจิรา ได้ ซอยผมสั้น เปรี้ยวมาก แล้วละครก็ดังมากๆ ด้วยตัวมันเอง ตอนนั้นไม่มีโซเชียล เราก็ดีใจที่ในละครที่ปรับเวอร์ชั่นใหม่ยังเอาชื่อ ผกามาลิน ไว้”

“ถามว่าในปีนี้ 2567 เตรียมรับมือยังไง สิ่งที่ห่วงใยคือจุดที่หมิ่นเหม่ต่อความรักต่างวัย รวมถึงในทีเซอร์ที่ลูกกล้าพูดกับพ่อซะขนาดนั้น แต่ทีนี้คิดว่ามันอาจจะถูกเบรกลงด้วยตัวพระเอกซึ่งน่ารักและกำลังมาแรงอย่างน้องไมกี้(ปณิธาน บุตรแก้ว) สำหรับกระแสไม่ว่าจะออกมาเป็นบวกหรือลบมันมาถึงตรงนี้แล้ว เราตัดสินใจอะไรไม่ได้แล้ว ขออย่างเดียวว่าเวลามีกระแสอะไรเราต้องแข็งแกร่งพอที่จะรับมัน”
“ในส่วนของผู้เขียนเรายอมรับได้เพราะการปรับมีการแจ้งเรามาแต่แรก คนเขียนนิยายเราคืองานต้นน้ำ แล้วเขาเอาไปตีความ บทที่เสนอในหวานรักต้องห้าม บริบทมันไม่ใช่บัวปริ่มน้ำแล้ว มันกลายเป็นรักต้องห้ามระหว่างวัย ในเมื่อเรารับตรงนี้กันได้แล้วก็ต้องไปดูว่าเขาเล่าเรื่องยังไง แต่ทีนี้เราไม่สามารถควบคุมคนดู อารมณ์ ความร่วมสมัย มุมมองทางสังคมของแต่ละคนไม่เท่ากัน”

ในมุมมองของนักเขียน เวลามีการซื้อบทประพันธ์ไป แล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา คิดอย่างไร?
“มันเป็นเล่าเรื่องคนละสื่อ ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง เราเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ แต่ในมุมมองคนทำงานเขาเล่าเรื่องด้วยภาพ มีคนบอกว่าคนเขียนนิยายก็ไปเขียนบทได้ เราบอกเลย No ที่ผ่านมามีคนขอให้เราเขียนบทหลายคนแล้ว แต่รู้ว่ามันไม่ใช้เส้นของเรา ในขณะเดียวกันคนเขียนบทก็ไม่สามารถทำงานต้นน้ำได้ งานเขียนนิยายคืองานต้นน้ำที่ให้คนทำงานไปคิดใหม่ทำใหม่ในการเล่าเรื่องด้วยภาพที่ไม่ใช่ตัวหนังสือ”

ลุ้นแค่ไหนกับละคร หวานรักต้องห้าม ที่จะได้ชมกันเร็วๆ นี้?
“ลุ้นและเอาใจช่วยมาก ทุกเรื่องเหมือนลูกของเรา อันนี้ก็ลุ้นว่าจะแจ้งเกิดผกามาลินให้เฉิดฉายได้ไหม คุณคธาจะเป็นหนุ่มน้อยที่น่ารักไหม แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่าเมื่อมีการถูกพูดถึงไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ แสดงว่าเราอยู่ในสายตาเขา ฉะนั้นสำหรับเรื่องนี้แน่นอนภูมิใจ ลูกคนหนึ่งของเราจะกลับมาอีกแล้ว ลูกคนหนึ่งที่ทำอรรถประโยชน์มูลค่า Passive Income เขียนครั้งเดียวหากินได้ชั่วชีวิต”
“สำหรับคนรุ่นใหม่ไม่เคยรู้ก็รอดูของใหม่ไปเลย แต่คนรุ่นเก่าที่เคยดูมาก็ต้องดูเพื่อมันจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นวันนี้สังคมและโลกมันเปลี่ยนไป ถ้าทำแบบเก่าๆ เชยๆ มันไม่ใช่แล้ว”

สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงแฟนนิยายและแฟนละคร?
“ขอให้ทุกคนเปิดใจรับว่านิยายมันก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ลองดูท่าทีก่อนว่าเป็นยังไง ในฐานะคนทำงานเราลงเรือลำเดียวกัน เราเข้าใจกัน และเข้าใจเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท จะให้มาเป๊ะๆ ไม่ได้หรอกค่ะ”
“ถ้ามันได้ดีขึ้นมาเราก็ร่วมใจกันรับความสำเร็จนั้น แต่ถ้ามันมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เราก็น้อมรับด้วยกันว่าเส้นเรื่องอาจจะทำให้การตีความมันล่อแหลมได้ แล้วเราก็ยังมีการแก้มือได้นี่ เรามีงานอีกมากมาย อยากแก้มือกันไหม ยังไงก็ฝากด้วยนะคะ ละคร หวานรักต้องห้าม ออกอากาศทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.30 น. ทางช่อง 3 เริ่มตอนแรก 7 ตุลาคมนี้”

Cr.https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_9438080
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่