แจกเงินดิจิทัลวอลเลต เฟส 2 “จุลพันธ์” ชี้เป็นไปได้อาจจ่าย 5,000 บาท

จุลพันธ์ รมช.คลัง เผยผลลงทะเบียน “แจกเงินดิจิทัล” เฟส 2 คาดยอดรับสิทธิ 26 ล้านคน ยอมรับมีโอกาสลดวงเงินเหลือ 5,000 บาทต่อคน เหตุต้องนำงบประมาณไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ หวังเศรษฐกิจโต 5% เล็งขยายเพดานศักยภาพไทย

วันที่ 25 กันยายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตว่า ยืนยันว่าจะได้รับอย่างแน่นอน ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมองประโยชน์ใน 2 มิติ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้ดิจิทัล ซึ่งจะมีประชาชนที่ต้องดูแลเหลือประมาณ 26 ล้านคน โดยตัดความซ้ำซ้อนจากกลุ่มเปราะบางที่เข้ามาลงทะเบียนแล้วได้รับสิทธิไปแล้ว

“จากยอดลงทะเบียน 36 ล้านคนพบว่ามีความซ้ำซ้อนจากสิทธิที่ได้รับในกลุ่มเปราะบาง 10 ล้านคน ส่วนกลุ่มเปราะบางที่เหลืออีก 4 ล้านคน ก็สันนิษฐานได้ว่า เป็นกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนด้วย ฉะนั้นจะเหลือประชาชนที่ต้องดูแลอีกประมาณ 26 ล้านคนบวกลบ” รมช.คลังกล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าการเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 2 จะต้องรอความชัดเจนจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวัน ส่วนจะจ่ายเงิน 10,000 บาท หรือ 5,000 บาท จะต้องดูความเหมาะสม เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายมิติ

“การแจกเงินในเฟส 2 ยืนยันว่ายังเดินหน้าอย่างแน่นอน ผ่านดิจิทัล แต่การจ่ายนั้นจะเป็นเท่าไหร่ จะขอดูความเหมาะสม และการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย ขณะที่การบริหารจัดการงบประมาณไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน” นายจุลพันธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ที่เริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.เป็นต้นไปนั้น รวมระยะเวลาแจกตามเลขบัตรประชาชน 4 วัน เชื่อว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.35% โดยภายหลังการโอนเงินให้ประชาชนวันแรก พบว่า บรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีความคึกคักมากขึ้น

ทั้งนี้ หากประเมินทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะใช้เม็ดเงินรวมประมาณ 450,000 ล้านบาทนั้น แม้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพที่มองไว้ โดยมองว่า ศักยภาพของไทยควรจะอยู่ที่ประมาณ 5% โดยต้องขยายเพดานศักยภาพของเราผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การพัฒนาทักษะแรงงาน ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ต้องเดินคู่ขนาน

“อย่าพอใจกับตัวเลขศักยภาพเศรษฐกิจที่ระดับ 2% เพราะศักยภาพของไทยควรจะอยู่ที่ 5% เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องใช้เวลา และไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในปีเดียว โดยรัฐบาลมีภาระหน้าที่ ทั้งในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก็ต้องทำ” นายจุลพันธ์กล่าว... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1660815
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่