แบ่งปันบทเรียนรู้ วิธีรับมือ และการป้องกัน เมื่อกระเป๋าเงิน (บัตรเครดิต) ถูกขโมยขณะเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ

Travel Safety

การเดินทางท่องเที่ยว (ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ) สิ่งที่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเองคือการประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝันในเรื่องร้ายๆ เช่น อุบัติเหตุ การถูกโจรกรรม-ล้วงกระเป๋า ฯลฯ พวกเราอาจเคยอ่านเจอเรื่องราวเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆตามเพจท่องเที่ยวต่างๆ และก็คิดว่าตัวเองคงไม่โชคร้ายต้องตกอยู่ในชะตากรรมแบบนั้นหรอก เพราะเรามีความรู้และการระมัดระวังตัวดีพอ แต่เชื่อหรือไม่ว่า นักท่องเที่ยวผู้เคยประสบเหตุการณ์ร้ายๆเหล่านั้นทุกคนก็ต่างล้วนเคยมีความคิด-ความมั่นใจแบบเดียวกับที่เรามีมาก่อนเช่นกัน..

เราก็ไม่อยู่นอกเหนือไปจากวังวนนี้ เราซึ่งเคยมีประสบการณ์การเดินทางมามากมาย และผ่านมาแล้วกว่าสามสิบประเทศก็ต้องตกอยู่ในสถานะ “ผู้ประสบภัย” จนได้ในวันหนึ่ง !!!…



เราคิดว่ามีความเข้าใจถึงความยากลำบาก วิตกกังวล ฯลฯ ในการต้องวุ่นวายต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในเหตุการณ์เฉพาะหน้าขณะประสบเหตุที่ต่างประเทศ และกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตของเรา (ที่หายไป) เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย (ในกรณีมีค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถเคลียร์กับเเบ้งค์ได้) จึงได้ถือโอกาสรวบรวมและประมวล บทเรียนรู้ ทั้งหมดที่ได้รับจากประสบการณ์จริงของตนเอง ตลอดไปจนถึง วิธีรับมือ – ป้องกัน (เท่าที่จะคิดได้) และแบ่งปันเป็นสาธารณะให้กับเพื่อนๆนักเดินทางทั้งหลาย โดยหวังว่าเพื่อนๆ จะได้ไม่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์เเบบนี้อีกในการเดินทางครั้งต่อไป หรือถ้าใครเกิดโชคร้าย ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันแล้ว ก็อาจใช้ข้อมูลนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่ได้พบให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี..



ประสบการณ์ของเรา

ประเทศโครเอเซีย: ขณะลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่พร้อมเป้บนหลังและกำลังพยายามจะขึ้นรถรางเพื่อไปยังโรงแรม มีกลุ่มวัยรุ่น (ท่าทางเป็นมิตร) ผู้หญิงสาม-สี่คน กุลีกุจอกันเข้ามาอาสาช่วยยกกระเป๋าขึ้นรถให้ หลังจากขึ้นรถได้ขณะที่เรากำลังเอาบัตรแตะเพื่อชำระค่าโดยสาร สาวๆกลุ่มนั้นก็มาห้อมล้อม ส่งภาษาท้องถิ่นถี่ยิบประมาณบอกว่าให้เราทำการ Activate บัตรก่อนๆๆ เราก็งง-งงว่าต้องทำยังไง ส่วนแฟนที่อยู่ห่างออกไปหน่อย ก็ถูกชวนคุย (ถามคำถามโน่นนี่นั่น) จากสาวอีกคนในกลุ่มนี้เช่นกัน สักพักเราก็ชักเริ่มไม่เเน่ใจจึงสำรวจกระเป๋าที่สะพายอยู่ คลำพบว่าพาสปอร์ตยังอยู่ก็อุ่นใจ พอถึงป้ายวัยรุ่นสาวกลุ่มนี้ก็ลงรถไป เมื่อถึงห้องพักที่โรงแรมจึงพบว่าเงินธนบัตรในกระเป๋าสตางค์ (ที่อยู่ในกระเป๋าสะพายอีกที) ได้หายไป โดยกระเป๋าสตางค์ยังอยู่เป็นปรกติ เคราะห์ดีที่บัตรเครดิตและพาสปอร์ตไม่ถูกล้วงไปด้วย…



ประเทศฝรั่งเศส: กระเป๋าเงินถูกขโมย (ล้วง) ขณะเดินเที่ยว (ในย่านไม่จอเเจ) มีบัตรเครดิตและ Travel Card อยู่ด้วย กว่าจะรู้ตัวพบว่ามิจฉาชีพได้เอาบัตรเครดิตไปรูดใช้เป็นเงินจำนวนมาก (จนเต็มวงเงินบัตร) ส่วน Travel Card ก็โดนเอาไปใช้จนหมดเงินที่เหลืออยู่ในบัตร พอตั้งหลักได้เราก็โทรฯ เเจ้งไปยัง call center ของธนาคารเจ้าของบัตรพร้อมกับขอให้อายัดการจ่ายเงินทั้งหมดที่ถูกมิจฉาชีพใช้ไป หลังจากไปเเจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วก็ได้ส่งสำเนาเอกสารการแจ้งความไปให้ทางอีเมล หลังจากกลับถึงไทย พอถึงรอบการชำระเงินบัตรเครดิต ปรากฎว่าทางธนาคารได้เเจ้งยอดหนี้ที่เราต้องชำระมาเป็นจำนวนมาก (หลักหลายเเสนบาท) เนื่องจากได้รวมเอายอดที่มิจฉาชีพนำไปใช้ด้วย โดยทางธนาคารเเจ้งเเต่เพียงว่า “ยอดการใช้ก่อนการแจ้งอายัดบัตร เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของผู้ถือบัตร” ถ้าไม่ชำระก็จะเริ่มคิดดอกเบี้ย ถ้ายังไม่ชำระอีกก็จะดำเนินการฟ้องศาล ฯลฯ… แต่เราได้โต้เเย้งและต่อสู้จนกระทั่งทางธนาคารยอมยกยอดเงินจำนวนนี้ให้ ส่วน Travel Card หลังจากผ่านไปสองเดือนเศษๆเราก็ได้รับเเจ้งจากธนาคารเจ้าของบัตรว่าสามารถเคลียร์ให้ได้เช่นกัน…

นักท่องเที่ยว vs. โจรล้วงกระเป๋า

ระหว่างนักท่องเที่ยวที่ทุกคนมีความระมัดระวัง กับเหล่ามิจฉาชีพ-โจรล้วงกระเป๋า ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน เราคงต้องยอมรับว่าพวกนี้มันมีความเชี่ยวชาญและ “เก่งกว่าเรา” แม้ว่าจะระมัดระวังตัวเต็มที่ตามสัญชาติญาณแล้ว แต่บางครั้งเราก็ยังคงตกเป็นเหยื่อให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้จนได้ *โดยไม่รู้ตัว* อย่างไรก็ตาม การตื่นรู้ ระเเวดระวัง และการป้องกันอย่างรัดกุม-รอบคอบอย่างต่อเนื่อง ก็ยังสามารถช่วยให้เราเอาตัวรอดจากภัยเหล่านี้ได้ หลักการที่สำคัญคือเราต้อง “รู้เขา” (รู้จักกลยุทธุ์-วิธีการของมิจฉาชีพ) และ “รู้เรา” (จุดอ่อน-ข้อบกพร่อง ฯลฯ ต่างๆของเราในฐานะนักท่องเที่ยว)

หลังจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่ามี สิ่งที่ทำได้อย่างง่ายๆ หลายอย่างที่สามารถช่วยป้องกันหรือลดการสูญเสียให้น้อยลงได้ แต่พวกเรามักจะมองข้าม-ละเลย หรือว่ารู้แต่ชะล่าใจ-ไม่ให้ความสำคัญทำอย่างจริงจังเสียมากกว่า



มิจฉาชีพอยู่ที่ไหนบ้าง?

ทวีปยุโรปขึ้นชื่อเรื่องโจรล้วงกระเป๋ามากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่อื่นจะปลอดภัย 100%  การที่ไม่เคยเจออาจเป็นเพราะว่าเเต้มบุญเรายังดี ทำให้แคล้วคลาดก็ได้ แหล่งหากินของเหล่าโจรมักจะอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเมืองหลักๆที่ชุกชุม (อ้างอิงจากสถิติ) ได้แก่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, กรุงโรม-เมืองฟลอเรนซ์-มิลาน ประเทศอิตาลี, เมืองมาดริด-บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน, เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก, เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฯลฯ แต่ให้เตือนสติตัวเองไว้เสมอว่า โจรมิจฉาชีพนั้นมีอยู่ทุกที่ และ เหตุร้ายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เมื่อจินตนาการว่าเราพบเจอกับภัยมิจฉาชีพ (เช่น พาสปอร์ตหาย, กระเป๋าเงินถูกขโมย ฯลฯ) เราจะเห็นคุณค่าของการป้องกันมากขึ้น



ปัจจุบันตามเพจท่องเที่ยวในโซเชียลมักจะมีการเตือนภัยและเเชร์เหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวได้ประสบเป็นประจำ ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองทั้งเจ็ดดังกล่าวข้างต้น จึงน่าจะบอกเตือนตัวเองว่า พระเอก-นางเอกอย่างเราสามารถมีโอกาสได้เจอะเจอพวกตัวร้ายเหล่านี้ได้ในทุกที่ที่เราไป ไม่เกี่ยงว่าจะเฉพาะในทวีปยุโรปเท่านั้น เวลามีคนเเชร์เคสที่เจอก็อย่าลืมให้ความสนใจถึงรายละเอียดด้วย เพื่อเรียนรู้ไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับตัวเอง

รูปแบบของมิจฉาชีพ

กลยุทธุ์หลักๆของพวกนี้คือทำให้เราเสียสมาธิจากเหตุการณ์ต่างๆ (ที่พวกมันสร้างขึ้น) แล้วทำการล้วงกระเป๋าหรือขโมยทรัพย์สินของเรา ยกตัวอย่างเช่น

ล้อมกรอบ-เบียดเสียด: มากันเป็นพวกตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานีรถไฟใต้ดิน แล้วห้อมล้อมเหยื่อตอนขึ้นรถ หรือยืนขวางทางเหยื่อ (ในกรณีรถไม่เเน่น) พอเหยื่อพยายามจะเบียดตัวผ่านไป (+ เริ่มปฎิบัติการ..)

อุบายน้ำใจงาม: เสนอความช่วยเหลือต่างๆ เช่นจะช่วยยกของให้ ช่วยซื้อตั๋วให้ ฯลฯ  แล้วชวนคุยเพื่อทำให้เราเสียสมาธิ (+ เริ่มปฎิบัติการ..)
 
ขอความช่วยเหลือ: เข้ามาทักทาย ถามโน่นถามนี่ ถามทาง ขอให้ช่วยเซ็นต์ชื่อรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ฯลฯ ในจังหวะที่เราพูดโต้ตอบด้วย (+ เริ่มปฎิบัติการ..)



ขายของ: เสนอขายสิ่งของต่างๆ ให้ดอกไม้ ผูกข้อมือให้ ฯลฯ ถ้าเราเผลอรับมา ก็เรียกรับเงิน ถ้าเราไม่ยอมจ่าย มัวเถียงโต้ตอบ (+ เริ่มปฎิบัติการ..)

ตรงไปตรงมา: ฉกกระเป๋าใบเล็กที่ผู้โดยสารวางไว้ที่ชั้นเก็บเหนือศรีษะบนรถไฟสายทางไกล หรือเผลอวางไว้ในร้านอาหาร ฯลฯ

ปัจจุบันพวกมิจฉาชีพมากันจากหลายหลากเชื้อชาติ ทั้งเพศและวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น สตรี แม้กระทั่งคน(ที่ดูเหมือน)ท้อง ฯลฯ ก็ยังเคยมีปรากฎ ที่น่ากลัวคือบางครั้งเราไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ามันเกิดจากใคร เมื่อไร มารู้ตัวอีกทีก็ตอนพบว่าทรัพย์สินได้สูญหายไปแล้ว..

การป้องกันเบื้องต้นที่เราสามารถทำได้

เมื่อรู้เท่าทันในเล่ห์เหลี่ยมและวิธีการต่างๆของมิจฉาชีพดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว เราก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้ตัวเองไปตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจเป็นเหยื่อของพวกนั้นได้ นอกจากนั้นยังควรพิจารณาใช้มาตรการป้องกันตัวเองอีกดังต่อไปนี้



- อันดับเเรกเลยคือ ลดความเสี่ยง โดยการ พกบัตรเครดิตเท่าที่จำเป็น ในการเดินทาง (เพียงแค่หนึ่งหรือสองใบ) อย่าลืมว่าการนำบัตรเครดิตติดตัวไปหลายใบก็เหมือนกับการพก เงินสดจำนวนหลักแสน-ล้าน (จำนวนบัตรเครดิต x วงเงินของบัตร) ไปกับเราทุกที่ด้วย ถ้าถึงคราวเคราะห์ร้ายที่บัตรถูกขโมย มูลค่าความเสียหายจากการถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามจำนวนบัตรที่เราพกไป การต้องกลับมาต่อสู้กับธนาคารเจ้าของบัตรฯ ก็เพิ่มขึ้นไปในตัวเช่นเดียวกัน จากเคสที่เคยเกิดขึ้น มิจฉาชีพจะพยายามนำบัตรเครดิตที่ขโมยมาได้ไปใช้จนเต็มวงเงินทุกครั้ง** 
 
- ศึกษาฟังก์ชั่นต่างๆของเเอพบัตรเครดิตของเราให้ถ่องแท้ บัตรของบางธนาคารสามารถเปิด-ปิดบัตรด้วยตัวเองได้ผ่านในเเอพ เช่น KTC, KBank, SCB, UOB แต่บางธนาคารก็ยังไม่มีฟังก์ชั่นนี้
 
- ถัดมาคือการ ตั้งยอดวงเงินการใช้จ่ายของบัตรเครดิตให้เหมาะสม แทนที่จะปล่อยให้เป็นจำนวนหลักหลายๆแสนตามค่าเบื้องต้น เดี๋ยวนี้ในเเอพบัตรเครดิตของบางธนาคารเช่น KTC มีฟังก์ชั่นให้เจ้าของบัตรสามารถ ปรับตั้งจำนวนวงเงินการใช้ด้วยตัวเอง ได้แล้ว โดยไปที่หน้าข้อมูลบัตร แล้วเลือกเมนู จัดการบัตร —> ควบคุมวงเงิน —> วงเงินต่อวัน / วงเงินต่อครั้ง / วงเงินต่อวันสำหรับธุรกรรมไม่เเสดงบัตร ซึ่งนับว่ามีประโยชน์มาก แต่แอพของบางธนาคารยังไม่มีฟังก์ชั่นนี้ (ผู้ใช้น่าจะช่วยกันเรียกร้อง-รณรงค์ให้ทุกธนาคารทำการเพิ่มฟังก์ชั่นนี้)



อีกวิธีที่ทำได้ (โดยง่าย) คือการ ไม่เก็บบัตรต่างๆไว้ในกระเป๋าเงินหลัก อาจแยกเก็บไว้ต่างหากในซองนามบัตรใบเล็กๆ รวมถึงไม่เก็บเงินสดทั้งหมดไว้ในกระเป๋าเงินหลักด้วย และ เก็บซองใส่บัตรเครดิตเล็กๆนี้ในที่ๆไม่ใช่เป้าหมายของมิจฉาชีพ แทน (ใช้กระเป๋าเงินหลักเป็นเป้าลวง เมื่อโดยขโมยไป น่าจะทำให้พวกโจรเจ็บใจ-หัวเสียได้ระดับหนึ่ง ^^)



[มีต่อ]
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่