SOCIETY: ทำไม ‘
แหวนหมั้น’ ต้องเป็น ‘แหวนเพชร’ และทำไมต้องเป็นแหวนที่
มีมูลค่าเท่าของมนุษย์เงินเดือน 3 เดือน?
ทุกวันนี้ 'แหวนเพชร' น่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการหมั้นหมายกันทั่วโลก อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้วนี่เป็นความคิดที่ใหม่มาก เมื่อนับไปในช่วง 100 ปีที่แล้ว ที่ยังไม่มีแนวคิดนี้
ว่าแต่มันมายังไง?
อันนี้เราอยากเริ่มจากเบสิกก่อน ในยุคที่คนไม่แต่งงานกันเท่าไร ‘แหวนหมั้น’ โดยทั่วๆ ไปจะมีความต่างจากแหวนแต่งงาน คือมันจะมีลักษณะหรูหรากว่า เพราะเป็นเสมือนสิ่งของที่เอาไว้ 'จับจอง' ตัวผู้หญิงของผู้ชาย มันจึงมักประกอบด้วยอัญมณีมีค่า ไม่ได้ต่างจากของหมั้นในอดีต ส่วน 'แหวนแต่งงาน' ทั่วๆ ไปจะออกแบบมาให้เรียบง่าย ใส่ได้ในชีวิตประจำวันเลย เพราะมันเป็นสัญลักษณ์พื้นๆ ว่าคนนี้แต่งงานแล้ว และเพื่อแสดงให้คนทั่วไปรู้ว่า 'ไม่โสดแล้วนะ'
ดังนั้นของหมั้นจึงเป็นของที่หรูหรามาแล้วตั้งแต่อดีต ประเด็นคือ ในอดีตไม่เคยมีไอเดียว่าสิ่งของหมั้นหมายจะต้องเป็น 'แหวนเพชร' จะเป็นอย่างอื่นที่มีมูลค่าสูงก็ได้
ความน่าสนใจคือไอเดียเรื่องแหวนเพชรที่ใช้เป็นแหวนหมั้นนี้ สามารถหาอ่านได้ทั่วไปตามเว็บบริษัทที่ขายแหวนเพชรด้วย อธิบายง่ายๆ คือในอุตสาหกรรมนี้เขารู้กันดีว่านี่เป็นผลมาจากแคมเปญการตลาดของบริษัทผลิตเพชรเจ้าใหญ่ของโลกอย่าง De Beers ในช่วงทศวรรษ 1930 คือช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เขาเลยต้องหาทางขายของฟุ่มเฟือยหน่อย เหตุผลมันมีเท่านั้นเลย
ข้อมูลที่ว่ามานี้หาอ่านได้ทั่วไปตามเว็บไซต์บริษัทขายแหวนเพชรชั้นนำในต่างประเทศ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่เขาไม่ได้เล่าละเอียดเท่าไหร่ แต่สำนักข่าว BBC นำมาเล่าต่ออย่างละเอียด ก็คือเรื่อง 'มูลค่า' ของมัน
.
ในแคมเปญของ De Beers เขาระบุว่าแหวนเพชรควรจะมีมูลค่าประมาณเงินเดือน 2 เดือน โดยแท็กไลน์เขาบอกไว้ว่า “จะทำยังไงให้เงินเดือน 2 เดือนอยู่ไปตลอดกาล?”
ไอเดียนี้ถามจริงๆ ว่าเวิร์กหรือไม่ ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่เวิร์กในยุคนั้น เพราะยุค 1930 เศรษฐกิจมันแย่จริงๆ คนไม่ได้มีเงินไปซื้อแหวนเพชรกันหรอก แต่ประเด็นคือแคมเปญนี้คือจุดเริ่มครั้งแรกๆ ในโลกของบริษัทเพชรที่จะทำการตลาดสินค้าในฐานะ 'แหวนหมั้น' และหลังจากนั้นพวกบริษัทแหวนเพชรทั่วโลกก็เริ่มทำการตลาดแบบเดียวกันเพื่อเริ่มสร้างวัฒนธรรมการซื้อแหวนเพชรเป็นแหวนหมั้น
แล้วถ้าถามว่ากว่าแนวคิดนี้จะกระจายไปทั่วโลกมันคือเมื่อไหร่ ก็คือในตอนที่เศรษฐกิจดีขึ้น และชาติที่เศรษฐกิจดีมากจนแคมเปญนี้เวิร์กก็คือญี่ปุ่น ในทศวรรษ 1970 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจเฟื่องฟูมากระดับเป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา
แต่ที่สิ่งเปลี่ยนไปคือ ตอนที่แคมเปญนี้ไปทำที่ญี่ปุ่น เขาไม่ได้บอกว่าให้แหวนเพชรมีมูลค่าแค่เงินเดือน 2 เดือน แต่เคาะไปเลยว่าควรจะเท่ากับเงินเดือน 3 เดือน ซึ่งพวกนักประวัติศาสตร์ก็จะวิเคราะห์ว่าเขาต้องการเล่นกับความมีเกียรติยศและการกลัวเสียหน้าของผู้ชายญี่ปุ่น
แต่มันดันเวิร์ก และพอความคิดนี้กลายเป็นเรื่องทั่วไปในญี่ปุ่น สุดท้ายมันก็ถูกขยายกลับมาเป็นการตลาดในโลกตะวันตก และทำให้โลกตะวันตกทุกวันนี้มีความเชื่อพื้นฐานว่าถ้าจะซื้อแหวนหมั้นให้ผู้หญิง ก็ควรจะมีมูลค่าประมาณเงินเดือน 3 เดือนของคนในสังคมนั้นๆ
แน่นอนว่าในยุคที่คนแต่งงานกันน้อยลง และคนไม่ค่อยมีเงินเก็บกันเท่าไหร่ สื่อฝั่งการเงินอย่าง CNBC ก็ออกมาปรามๆ ว่าไม่ต้องจริงจังเรื่องตัวเลข 3 เดือนนักก็ได้ เพราะสิ่งที่สมเหตุสมผลกว่า คือการประเมินตัวเลขที่สมเหตุสมผลกับตัวเองมากกว่า และถ้านั่นจะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าเงินเดือน 1 เดือนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
แต่แน่นอน ในอีกด้าน ความเชื่อว่าแหวนเพชรควรจะมีมูลค่าเท่าเงินเดือน 3 เดือนหรือมากกว่านั้น ก็ยังคงไม่หายไปไหน เพราะในยุคแห่งโซเชียลมีเดีย ว่าที่เจ้าสาวน้อยคนที่จะได้แหวนมาแล้วไม่โพสต์ประกาศให้ชาวโลกรู้ และแรงกดดันทางสังคมที่ว่าแหวนจะต้องมีมูลค่าเอาเรื่องอยู่เพื่อให้ผู้หญิงไม่เสียหน้า ก็น่าจะมาจากเหตุนี้นี่เอง
ที่มา : BrandThink
ทำไม ‘แหวนหมั้น’ ต้องเป็น ‘แหวนเพชร’
ทุกวันนี้ 'แหวนเพชร' น่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการหมั้นหมายกันทั่วโลก อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้วนี่เป็นความคิดที่ใหม่มาก เมื่อนับไปในช่วง 100 ปีที่แล้ว ที่ยังไม่มีแนวคิดนี้