ย้อนอดีต พรรคประชาชน ปี 2490 ก่อนเป็นพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในปัจจุบัน2567 พรรคประชาชน ได้ก่อตั้งขึ้นอีกครั้ง



:: ย้อนตำนาน 'พรรคประชาชน' ก่อนเป็นอนาคตใหม่ของ 'ก้าวไกล' ในวันนี้ ::
.
แล้วปริศนาที่หลายคนเฝ้ารอก็ไขกระจ่าง พาหนะการเมืองใหม่ล่าสุดของอดีตพรรคอนาคตใหม่และอดีตพรรคก้าวไกลมีชื่อว่า ‘พรรคประชาชน’ (People’s Party)
.
เป็นชื่อที่แกนนำบอกว่าทรงความหมาย "ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และจะอยู่คงทนถาวรตลอดไปในการเมืองไทย" 
.
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นาม ‘พรรคประชาชน’ ปรากฏโฉมในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

หากย้อนกลับไปไกลที่สุด 'พรรคประชาชน' ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 2490 โดยมี เลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี หนึ่งในสิบผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรค หลังจากเลียงและอรพินท์ ไชยกาล ภรรยา (ซึ่งต่อมาเป็น ส.ส.หญิงคนแรกของไทยในปี 2492) นำสมาชิกย้ายออกจากพรรคอันเนื่องมาจากความขัดแย้งกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 
.
ในการเลือกตั้ง 29 มกราคม 2491 พรรคประชาชนคว้าเก้าอี้ ส.ส. 12 ที่นั่ง รับบทฝ่ายค้านรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ ต่อมา พรรคประชาชนถูกยุบในปี 2494 พร้อมกับอีกหลายพรรคการเมือง หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงมือทำรัฐประหารตนเอง 
.
เวลาผ่านไปจนถึงปี 2511 ยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่เฝ้ารอมานาน) บังคับใช้ พร้อมกับการจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี! นั่นคือ การเลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ 2512 เลียงก็กลับมารื้อฟื้นพรรคประชาชนขึ้นมาอีกครั้ง ในครั้งนี้ พรรคประชาชนได้ ส.ส. 2 ที่นั่งในสภา หนึ่งในนั้นคือ ไขแสง สุกใส
.
ควรบันทึกไว้ด้วยว่า การเลือกตั้ง 2512 เป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่อีกหลายคน เช่น ชวน หลีกภัย พิชัย รัตตกุล อุทัย พิมพ์ใจชน 
.
เลียง ไชยกาล เป็นหนึ่งใน ส.ส.ระดับตำนานของสภาไทย เขาดังเป็นพลุแตกในปี 2480 จากการตั้งกระทู้ถามพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการทุจริตขายที่ดินของกรมพระคลังข้างที่ให้แก่บุคคลในรัฐบาลในราคาที่ต่ำมาก ผลก็คือนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งในคืนวันอภิปรายนั้นเลยเพื่อรับผิดชอบทางการเมือง ก่อนจะกลับมาเป็นนายกฯ รอบสอง ขณะที่เลียงถูก ส.ส.ที่โดนเอาเรื่องมาแฉจับไปโยนลงสระน้ำในบริเวณสภา! 

จากเลียง ไชยกาล ขอเดินทางย้อนเวลาสู่ยุครัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2531 
.
‘พรรคประชาชน’ ชีวิตที่สอง เดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 โดยมี เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ทั้งคู่เป็นอดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ มีศักดิ์เป็นถึงอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองคน ก่อนจะกลายเป็น ‘กบฏประชาธิปัตย์’ ในนาม ‘กลุ่ม 10 มกรา’ ในเวลาต่อมา 
.
‘พรรคประชาชน’ เป็นผลพวงของเหตุการณ์ 10 มกราคม 2530 โดยแท้ ในวันนั้นมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นการแข่งขันระหว่างคู่ชิงหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ‘เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ + วีระ มุสิกพงศ์’ กับ ‘พิชัย รัตตกุล + สนั่น ขจรประศาสน์’ ผลก็คือ พิชัย+สนั่น คว้าชัยชนะมาได้ 

พรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้า ’10 มกรา’ มีหัวหน้าพรรคคือพิชัย เลขาธิการพรรคคือวีระ แต่กลุ่มของวีระไม่พอใจหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่การเลือกตั้ง 2529 ในหลายเรื่อง เช่น การคัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. กทม. ที่พิชัยถูกกล่าวหาว่ารวบอำนาจตัดสินใจ, 

การที่พิชัยไม่เสนอชื่อคณะรัฐมนตรีโควต้าประชาธิปัตย์ตามมติพรรค ทำให้เฉลิมพันธ์กับเด่น โต๊ะมีนา แกนนำกลุ่มวาดะห์ ชวดตำแหน่งรัฐมนตรี และการเสนอชื่อพิจิตต รัตตกุล บุตรชาย ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เป็น ส.ส. สมัยแรก เมื่อปี 2528 เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน แซงคิวผู้อาวุโสหลายคนในพรรค

เมื่อถึงวาระเลือกตั้งผู้บริหารพรรครอบใหม่ วีระซึ่งขัดแย้งกับพิชัยอย่างหนักตั้งแต่หลังเลือกตั้งจึงสนับสนุนเฉลิมพันธ์ อดีตเลขาธิการพรรคในปี 2522 ลงแข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในขณะที่กลุ่มชวน หลีกภัย ชูพิชัยเป็นหัวหน้าตามเดิม และส่งสนั่นลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรค จนได้รับชัยชนะ ผลพวงสำคัญจากการเลือกตั้งคือกลุ่มผู้แพ้ได้ก่อตั้ง ‘กลุ่ม 10 มกรา’ ขึ้นเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีสมาชิกร่วม 40 คน อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง เดโช สวนานนท์ ไกรสร ตันติพงศ์ ถวิล ไพรสณฑ์ สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ สุชาติ ตันเจริญ พีรพันธุ์ พาลุสุข หาญ ลีนานนท์ กริช กงเพชร จัตุรนต์ คชสีห์ เป็นต้น
.
ต่อมา ‘กลุ่ม 10 มกรา’ จับมือกับ ‘กลุ่มวาดะห์’ นำโดย เด่น โต๊ะมีนา และวันมูหะมัดนอร์ มะทา โหวตสวนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภา และจัดเลือกตั้งใหม่ในปี 2531 
.
สมาชิกหลักของทั้งสองกลุ่มจึงลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในนาม ‘พรรคประชาชน’ เพื่อลงสู้ศึกเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม2531 และได้รับ ส.ส. จำนวนทั้งสิ้น 19 คน แม้จะทำให้ พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแอลง จากพรรคอันดับหนึ่ง 100 ที่นั่ง เหลือ 48 ที่นั่ง 

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังพาตัวเองเข้าร่วมรัฐบาลได้สำเร็จ หลังจากพลเอกเปรมประกาศวางมือ และพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เปิดฉากยุค ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ ช่วงสั้นๆ ก่อนโดนรัฐประหาร รสช. ในปี 2534

พรรคประชาชน’ โลดแล่นในการเมืองไทยอยู่ไม่ถึงปี ในเดือนมกราคม 2532 ก็ประกาศยุบพรรคไปรวมกับพรรครวมไทยของณรงค์ วงศ์วรรณ พร้อมกับพรรคกิจประชาคมของบุญชู โรจนเสถียร และพรรคก้าวหน้าของอุทัย พิมพ์ใจชน พรรคลูกผสมสี่พรรคเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พรรคเอกภาพ’ โดยมีณรงค์ วงศ์วรรณ รับบทหัวหน้าพรรค และเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นเลขาธิการพรรค มี ส.ส. รวมกันเป็น 61 ที่นั่ง และเข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย 2 ในเวลาต่อมา 
.
นับเป็นการปิดฉากพรรคประชาชนยุคสอง 

ก่อนที่ชื่อจะถูกฟื้นคืนชีพคำรบใหม่ในปี 2567 ภายใต้ร่างใหม่ ตัวละครใหม่ สปิริตใหม่ เพื่อถือคบไฟต่อจากอนาคตใหม่และก้าวไกลในวันนี้ 

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่