เศรษฐีไทยความรวยหด 12% “อยู่วิทยา” แซง “เจียรวนนท์” ขึ้นเบอร์ 1.

นิตยสาร “ฟอร์บส” จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2567 พบมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ “เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว” เจ้าของร่วมแบรนด์ Red Bull ซึ่งถือหุ้นอยู่ 51% (Red Bull เป็นคนละส่วนกับกระทิงแดงของ TCP ในไทย) แซงหน้า “พี่น้องเจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ขึ้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทยได้สำเร็จ หลังจากที่ “พี่น้องเจียรวนนท์” ครองอันดับ 1 มานานเกือบ 10 ปี

เศรษฐีไทยมั่งคั่งลดลง 12%
ในภาพรวม ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยในปีนี้ลดลง 12% จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าความมั่งคั่งรวมกัน 153,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.77 ล้านล้านบาท) จากปี 2566 ความมั่งคั่งรวมอยู่ที่ 173,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าความมั่งคั่งต่ำสุดในทำเนียบลิสต์ (อันดับ 50) ในปีนี้ ลดลงเหลือ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว

ในบรรดา 50 อันดับแรกของไทย พบว่า มหาเศรษฐี 39 ราย ความมั่งคั่งลดลง มีเพียง 7 รายเท่านั้นที่ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นสวนกระแสภาพรวม

ทั้งนี้ รายชื่อมหาเศรษฐีไทยจะรวมถึงชาวต่างชาติที่มีธุรกิจสำคัญอยู่ในประเทศไทยด้วย ซึ่งมูลค่าความมั่งคั่งส่วนใหญ่คำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ส่วนมูลค่าความมั่งคั่งที่ถือครองในบริษัทเอกชน ที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ประเมินเปรียบเทียบจากมูลค่าของบริษัทที่คล้ายกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“อยู่วิทยา” แซงเพราะยอดขาย Red Bull พุ่ง และค่าเงิน
ย้อนกลับไปที่ตำแหน่งมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของไทย ซึ่งมีการเปลี่ยนตระกูลที่นั่งบัลลังก์ เนื่องจาก “พี่น้องเจียรวนนท์” แห่งเครือ ซี.พี. มีความมั่งคั่งลดลงจาก 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว เหลือ 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยความมั่งคั่งที่หายไปส่วนหนึ่งเกิดจากความตกต่ำของหุ้นบริษัท “ผิงอัน อินชัวรันซ์” ธุรกิจของเครือ ซี.พี.ในประเทศจีน ซึ่งมีการรายงานผลขาดทุนถึง 2,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

ขณะที่ “เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว” เป็นมหาเศรษฐีที่ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปีก่อนหน้า ส่งให้ความมั่งคั่งในปีนี้ขึ้นไปอยู่ที่ 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากรายได้ของ Red Bull เพิ่มขึ้นมามากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 จากยอดขายทั่วโลกที่เกิน 12,000 ล้านกระป๋องแล้ว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่หนุนให้ความมั่งคั่งของ “เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว” เพิ่มขึ้นมากนั้น คือ การที่รายได้ของ Red Bull ซึ่งขายในตลาดต่างประเทศ เป็นรายได้ที่มาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เปรียบมหาเศรษฐีไทยรายอื่นที่ทำธุรกิจในไทยหรือในอาเซียนในเรื่องค่าเงิน เนื่องจากความมั่งคั่งของ “เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว” ไม่ต้องคำนวณแปลงจากรูปเงินบาทซึ่งอ่อนค่าไปเป็นรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ แล้วได้มูลค่าความมั่งคั่งในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐน้อย
อันดับ 3-5 ครองตำแหน่งอย่างเหนียวแน่น

สำหรับอันดับ 3-5 ยังคงเป็นชื่อเดิม โดยอันดับ 3 ยังคงเป็นของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าสัวเบียร์ช้าง ถึงแม้ว่ายังคงครองอันดับ 3 แต่มูลค่าความมั่งคั่งกลับร่วงลงราว 25% เหลือความมั่งคั่งรวม 10,300 ล้านดอลลาาร์สหรัฐ
“ตระกูลจิราธิวัฒน์” เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล ตามมาติด ๆ ในอันดับ 4 ด้วยความมั่งคั่ง 9,900 ล้านดอลลาร์ ลดลง 20% จากปีก่อนหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่าความมั่งคั่งลดลงไปมากจากช่วงก่อนโควิด-19 โดยในปี 2562 มีความมั่งคั่งมากถึง 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 5 เป็นของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” แห่งกัลฟ์ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลายตั้งแต่พลังงาน โทรคมนาคม ล่าสุดเพิ่งร่วมทุนกับ “กูเกิล” ทำธุรกิจให้บริการระบบคลาวด์ ความมั่งคั่งของสารัชถ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่เขาเข้าสู่ลิสต์การจัดอันดับมหาเศรษฐีไทย เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่ในปี 2567 นี้ ความมั่งคั่งของเขาลดลงเป็นครั้งแรก เหลือ 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 11,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว

EA ร่วงแรงแต่ยังติดทำเนียบ
มหาเศรษฐีที่ความมั่งคั่งลดลงมากที่สุด คือคนที่มีข่าวดังไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นั่นคือ “สมโภชน์ อาหุนัย” ผู้ก่อตั้ง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งถูกยกให้เป็น “เทสลาเมืองไทย” ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับหนี้ของ EA ที่เกิดจากการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ทำให้ราคาหุ้นของ EA ร่วงลงอย่างหนัก และนั่นทำให้ความมั่งคั่งของสมโภชน์ลดลงถึง 2 ใน 3 จาก 3,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เหลือ 995 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และส่งผลให้อันดับของเขาร่วงลงจากอันดับ 9 ในปีที่แล้ว ลงไปอยู่ที่อันดับ 32 ในปีนี้
อีกคนที่ความมั่งคั่งลดลงไปมาก คือ “อาลก โลเฮีย” นักธุรกิจชาวอินเดียเจ้าของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งถูกนับเป็นมหาเศรษฐีไทยด้วย เนื่องจากตั้งบริษัทในประเทศไทย ทั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดในโลก ขาดทุนสุทธิ 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เนื่องจากดีมานด์ที่อ่อนแอในจีนและยุโรป ทำให้ราคาหุ้นร่วงหนัก ส่งผลให้ความมั่งคั่งของ “อาลก โลเฮีย” ลดลงเหลือ 1,200 ล้านดอลลาร์ จากที่มีอยู่ราว 2,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า

ธุรกิจปั้นน้ำเป็นเศรษฐี
จุดสังเกตหนึ่งที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในขวบปีที่ผ่านมา คือ ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มบรรจุขวดชนิดต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้มหาเศรษฐีถึง 4 คน คือ “เสถียร เสถียรธรรมะ” และ “ณัชไมย ถนอมบุญเจริญ” สองผู้ร่วมก่อตั้งคาราบาวแดง “อนันท์ รักอริยะพงศ์” ผู้ก่อตั้งเซ็ปเป้ และ “ตัน ภาสกรนที” ผู้ก่อตั้งอิชิตัน ซึ่งตันได้กลับเข้ามาสู่ลิสต์ 50 มหาเศรษฐีไทยอีกครั้ง หลังจากหลุดออกไป 7 ปี
นอกจากนั้น มีมหาเศรษฐีที่อยู่ในท็อป 50 เมื่อปีที่แล้ว เสียชีวิตไป 2 ราย ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คือ “เพชร โอสถานุเคราะห์” อดีตซีอีโอและรองประธานโอสถสภา และ “ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงศ์” อดีตประธานเบทาโกร ซึ่งยังมีทายาท “ตระกูลแต้ไพสิฐพงศ์” อยู่ในอันดับที่ 35 ด้วยความมั่งคั่ง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เปิดรายชื่อตระกูลดังท็อป 20
สำหรับรายชื่อมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งมากที่สุด 20 อันดับแรกของไทย มีดังนี้
1.เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว ทรัพย์สิน 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.พี่น้องเจียรวนนท์ ทรัพย์สิน 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3.เจริญ สิริวัฒนภักดี ทรัพย์สิน 10,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4.ตระกูลจิราธิวัฒน์ ทรัพย์สิน 9,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5.สารัชถ์ รัตนาวะดี ทรัพย์สิน 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
6.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ทรัพย์สิน 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
7.อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ทรัพย์สิน 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
8.วานิช ไชยวรรณ ทรัพย์สิน 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
9.ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ทรัพย์สิน 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
10.ประยุทธ มหากิจศิริ ทรัพย์สิน 2,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
11.ทักษิณ ชินวัตร ทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
12.วิชัย ทองแตง ทรัพย์สิน 1,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
13.ศุภลักษณ์ อัมพุช และครอบครัว ทรัพย์สิน 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
14.เสถียร เสถียรธรรมะ ทรัพย์สิน 1,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
15.ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และดาวนภา เพชรอำไพ ทรัพย์สิน 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
16.ฮาราลด์ ลิงค์ ทรัพย์สิน 1,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
17.วิลเลียม ไฮเนคกี้ ทรัพย์สิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
18.ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ และครอบครัว ทรัพย์สิน 1,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
19.สันติ ภิรมย์ภักดี และครอบครัว ทรัพย์สิน 1,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
20.พรเทพ พรประภา และครอบครัว ทรัพย์สิน 1,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/d-life/news-1601498

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่