อีกไม่นานนี้เราจะได้รู้ผลกันทั่วว่าใครได้รับการยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" ประจำปี 2566 ไม่ว่าจะมาจากสาขาอาชีพหรือแขนงใดก็ตาม
โดยเฉพาะที่พวกเราลุ้นกันสุด ๆ ก็คือเหล่าคนบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นักร้อง นักเขียน ผู้กำกับ ผู้สร้างสรรค์ รวมถึงนักดนตรี...ซึ่งไม่ควรมองข้าม
เราได้ทำการสุ่มตัวอย่าง 7 นักดนตรีคุณภาพผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ซึ่งล้วนมีเกียรติประวัติที่สำคัญ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง ซึ่งแฟนเพลงต่างก็รอคอยกันนมนานหลายปีดีดักว่าเมื่อไรนักดนตรีอาวุโสเหล่านี้ (ที่ยังมีลมหายใจอยู่) จะได้รับเกียรติยศอันสูงสุดของชาติสักที
เริ่มแรกนึกถึงเขาทั้งคู่เลย..."อัสนี-วสันต์ โชติกุล" นักร้องนักดนตรีชาวจังหวัดเลย (อีกนั่นแหละ) ที่มีบทเพลงฮิตติดหูมากมาย หลายสมัย ทำยอดขายเทปถล่มทลาย และมีการพัฒนาทางดนตรีให้กับผลงานของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นผู้บุกเบิกตำนานร็อกแบบไทย ๆ อย่างจริงจัง นี่ไม่นับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของพี่ป้อมและพี่โต๊ะนะ
ถัดมาใกล้ตัวหน่อย "ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค" คุณชายใหญ่อารมณ์ดี บัณฑิตคณะ'ถาปัดแห่งรั้วจามจุรี ผู้อยู่เบื้องหลังงานขีดเขียนเพลงดัง ๆ นับร้อยนับพันเพลง รวมถึงงานเพลงเทิดทูนสถาบันที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักเขามากยิ่งขึ้น ท่านนี้แหละน่าจะเป็น "เฉลียงคนแรกที่เป็นศิลปินแห่งชาติ" หลังจากที่คนเขียนเพลงตัวจริงของเฉลียงอย่างพี่จิกคว้าศิลปินแห่งชาติไปก่อนหน้า
อีกท่านก็น่าสนใจไม่แพ้กัน "อ.ดนู ฮันตระกูล" ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปฏิวัติดนตรีคลาสสิกออกสู่ความนิยมของคนไทย ผลงานที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการก่อตั้งวงดนตรี "ไหมไทยออเคสตร้า" และบทเพลง "ไอ้หนุ่มผมยาว" ซึ่งเขาเป็นผู้แต่งเพลงนี้ โดยมอบให้ สุรชัย สมบัติเจริญ รับหน้าที่ขับร้องจนโด่งดังทั่วบ้านทั่วเมืองยิ่งกว่าเจ้าของผลงานตัวจริงเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วโน่น
ทางฟากลูกทุ่ง เราอยากให้วีรบุรุษแห่งเมืองเพชรอย่าง "อ.จิตรกร บัวเนียม" ได้เป็นศิลปินแห่งชาติสักที เพราะท่านนี้คืออดีตลูกศิษย์ลูกหาของราชาลูกทุ่ง "สุรพล สมบัติเจริญ" และเป็นนักแอ็คคอเดียนที่มีฝีมือการบรรเลงอันเยี่ยมยอด ซึ่งเครื่องดนตรีชิ้นนี้คือสัญลักษณ์ของเพลงลูกทุ่ง เขาอยู่เบื้องหลังผลงานให้กับนักร้องแถวหน้าอย่าง พุ่มพวง ยอดรัก หรือ สุนารี ทั้งงานเขียนเพลงและการเรียบเรียงเสียงประสานจำนวนมากล้วนมาจากฝีมือ "ครูแจ่ม"...รับประกัน
อีกท่านไม่น้อยหน้า "อาจ๋าย-จำรัส เศวตาภรณ์" บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์รั้วจามจุรีผู้ใฝ่รักด้านดนตรีตั้งแต่เยาว์วัย แถมยังซึมซับบรรยากาศจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง จึงเป็นแรงบันดาลให้เขาผลิตงานดนตรีสู่ผู้คนทุกชนชั้นด้วยสำเนียงที่เด่นชัด จากนักร้องนำวงแกรนด์เอ็กซ์ยุคก่อนพี่แจ้ ผู้ก่อตั้งวงเดอะเรดิโอ สู่งานสร้างสรรค์ดนตรีประกอบหนังไทยนับร้อยเรื่อง แต่ที่ทำให้หลายคนรู้จักมากที่สุดก็มาจากงานบรรเลงเพลงบำบัด โดยมีการนำไปประกอบการถ่ายทอดสดพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ครั้งที่ในหลวง ร.๙ ทรงครองราชย์ อีกด้วยล่ะ
และท่านสุดท้าย "ลุงต๋อง-เทวัญ ทรัพย์แสนยากร" คนโคราชผู้ไม่ยอมหยุดกับที่ในงานด้านดนตรี เขาเล่นดนตรีได้หลายชิ้น แต่ชิ้นที่เป็นโลโก้ของเขาก็คือ แซ็กโซโฟน เคยฝากฝีปากใส่งานเพลงของศิลปินนักร้องชั้นนำหลากแนวในยุคที่ตลาดเพลงเฟื่องฟู ก่อนจะหันมาทำงานด้วยสำเนียงและลีลาของตัวเอง โดยเป็นผู้บุกเบิกการนำดนตรีแจ๊สมาผสมผสานกับดนตรีไทยเดิมอย่างกลมกลืน ภายใต้แบรนด์ "โนเวลแจ๊ส" นั่นไง
ตัวเก็งทั้ง 7 ท่านนี้ จะมีสัก 1 หรือ 2 ท่านที่เป็น "ศิลปินแห่งชาติ ปี'66" แต่ถ้าเกิดทุกท่านพลาด ก็ยังมีในปีหน้าหรือปีต่อ ๆ ไป เอาใจช่วยให้ใครได้รับเกียรติยศเช่นนี้เร็ว ๆ สวัสดี.
นักดนตรีที่มีสิทธิ์ได้เป็นศิลปินแห่งชาติปี'66...น่าจะเป็นใคร?