กรมสรรพากร เตรียมแก้ไขกฎหมายเก็บภาษีคนไทยที่มีเงินได้จากต่างประเทศ แม้ไม่ได้นำเงินก้อนนั้นเข้ามาในประเทศไทย


นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จัดเก็บภาษีคนไทยที่มีรายได้จากต่างประเทศ แม้ไม่ได้นำเงินก้อนนั้นเข้ามาในประเทศก็ตาม ทั้งนี้ กฎหมายภาษีของกรมสรรพากรในปัจจุบัน กำหนดว่า หากบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย กรณีที่บุคคลนั้น มีเงินได้จากต่างประเทศด้วยตามกฎหมายในปัจจุบัน หากนำเงินได้ก้อนนั้นเข้ามาในประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากร
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรกำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขกฎหมาย โดยอาศัยหลักการของ World Wide Income หรือหลักการการจัดเก็บภาษีตามแหล่งที่อยู่บุคคล (Resident) ในประเทศนั้นๆ ไม่ว่ารายได้นั้น จะมาจากในประ เทศหรือนอกประเทศ ถือเป็นรายได้ของบุคคลคนนั้น
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีแผนที่จะ ขยายฐานภาษีด้วยการกำหนดให้ “แพลตฟอร์ม” หรือ Platform หรือ ช่องทางบนโลกออนไลน์ ที่มีเงินได้ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปต่อไปนี้จะต้อง จะต้องส่งข้อมูลว่า Platform มีรายได้มาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งกรมจะใช้ข้อมูลของแหล่งรายได้ของ Platform ในการตรวจสอบภาษีต่อไป
ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสียภาษีตามถิ่นที่อยู่ไปแล้ว กล่าวคือจากเดิม กรณีบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไป หากมีเงินได้จากต่างประเทศ และนำเงินได้ก้อนนั้นเข้าประเทศในปีที่ได้รับเงินได้ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้ใหม่ โดยเริ่มใช้ในปีนี้ ว่า ไม่ว่าจะนำเงินได้จากต่างประเทศเข้าประเทศในปีใด ก็มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่