[รีวิว] อนงค์ - ธุรกิจบ้านผีสิงที่ขายความน่ารักของโบล์ เมลดา จนไม่ต้องถามหาเนื้อเรื่องอีกต่อไป

นอกจากความน่ารักสดใสของ “โบล์ เมลดา” ที่ตลบอบอวนไปทั่วตั้งแต่ที่ได้เห็นตัวอย่างหนังแล้ว ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ หนีไม่พ้นการที่มีชื่อของ “เอส คมกฤษ ตรีวิมล” กลับมารับหน้าที่ผู้กำกับอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายจากการทำหนังใหญ่นานถึง 17 ปี เนื่องจากผลงานล่าสุดของเจ้าตัวอย่าง “สายลับจับบ้านเล็ก” นั้นต้องย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ. 2550 เลยทีเดียว ซึ่งจากผลงานทั้งกับ แฟนฉัน (2546) และเพื่อนสนิท (2548) ก็น่าจะพอให้เราได้คาดหวังถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวความโรแมนติกระหว่างคนกับผีในครั้งนี้ได้พอสมควรเลย


ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว “อนงค์” ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีการเล่าเรื่องที่ดีเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างมันดูรวบรัด ตัดตอน ไม่ปะติดปะต่อ ไม่เป็นธรรมชาติ และพยายามเหลือเกินที่จะได้ “ขาย” ฉากจิ้นกันระหว่างคู่พระนาง จนละทิ้งความสมเหตุสมผลทั้งปวงออกไป ทั้งในแง่ของการเดินเรื่อง การใส่อุปสรรคเข้ามาทดสอบตัวละคร และจุดวิกฤตสำคัญของเรื่อง เช่น การได้บ้านหลังนี้มา การเปิดกิจการบ้านผีสิง หรือกระทั่งบทสรุปในตอนท้าย แทบจะไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็น “ความยากลำบาก” ที่พระเอกของเรื่องอย่างโจต้องก้าวผ่านเลยแม้แต่น้อย


ดังนั้นหลักๆ ของเรื่องจึงโฟกัสอยู่ที่บ้านผีสิงของโจกับตัวละครผีทั้งสามและกลุ่มวัยรุ่นนักท่องบ้านผี ซึ่งถ้าว่ากันในแง่ของความตลก ความบันเทิง ก็มีมาให้เห็นเป็นระยะๆ ในช่วงแรกเน้นความตลกจากผีคนรับใช้ของอนงค์ อย่างทองก้อน (แจ็ค-เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) และทองหยิบ (ฝน-ทัตชญา ศุภธัญสถิต/Monsterfon) ที่ออกมารับส่งมุกกันเริงร่า โดยที่คนหลังใช้สกิลฝีปากอันจัดจ้านสร้างความโดดเด่นได้มากกว่าตัวของแจ็ค แฟนฉัน ที่อยู่ในวงการมานานกว่าเสียอีก


แต่ก็ไม่รู้ว่าเล่าอีท่าไหน ทำให้ในช่วงหลังของเรื่องบทบาทของทั้งคู่กลับหายไปอย่างเห็นได้ชัด กลายมาเป็นตัวละครเสริมอีกกลุ่มที่นำโดย ก้อง เด็กแว้นประจำหมู่บ้าน (ธามไทย แพลงศิลป์) โผล่ขึ้นมามีบทแทน และมุก “ผีสิง” ในระหว่างนี้ก็เป็นมุกที่ดีที่สุดและน่าจดจำที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปซะอย่างนั้น แถมยังถูกใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเรื่องด้วย ในขณะที่ตัวละครสมทบอื่นๆ ก็โผล่เข้ามาสร้างสีสันกันประปราย รวมถึงนักแสดงรับเชิญที่เข้ามาแบบ “แว่บๆ” อีกหลายชีวิต


ไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจของผู้กำกับหรือไม่ ที่ไม่ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยเถิดเกินไปกว่าแค่ความเป็นโรแมนติก-คอมเมดี้ หลายครั้งที่ตัวเรื่องมีการแอบใส่พล็อตรองเข้ามา ที่เห็นได้ชัดเลย คือ ระยะเวลาการตายตอนเที่ยงคืนของอนงค์นานขึ้น จนโจยังต้องทักขึ้นมา แต่จนแล้วจนรอดเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำและหายไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น หรือในการสนทนาภาษาปรัชญาระหว่างตัวละครว่าด้วยเรื่องความรักระหว่างคนกับผี ที่น่าจะพาตัวเรื่องไปได้ลึกขึ้น ดราม่ามากขึ้น แต่ก็ไม่ถูกสานต่อและกลายเป็นแค่ประโยคกล่าวลอยๆ ของตัวละครเท่านั้น


แต่ที่กล่าวมาคงไม่มีปัญหาอะไรนัก ถ้าเกิดว่าในตอนท้ายๆ ของเรื่อง ผู้กำกับเอสไม่เลือกที่จะให้ผู้ชมได้เห็นชีวิตในอนาคตของโจ ที่มันแทบไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราได้เห็นตลอดทั้งเรื่องเลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากใบหน้าอันหล่อเหลาของโจแล้ว เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวละครนี้เพิ่มเติมเลย ปลายทางของโจในตอนท้ายจึงแทบจะเรียกได้ว่า “ล่องลอย” ในการนำเสนอแบบสุดๆ (เอาจริงก็เกือบทั้งเรื่อง) และขัดกับสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ นั่นก็คือความโรแมนติก-คอมเมดี้ แบบฉากต่อฉาก ที่ปรากฏขึ้นตลอดทั้งเรื่องนั่นเอง (ยังไม่นับการใส่เพลงประกอบที่ค่อนข้างเชยในการนำเสนออีกหลายเพลงด้วย)


จากที่กล่าวมาเหมือนจะมีแต่ข้อเสีย ซึ่งก็ต้องบอกว่าใช่ แต่ข้อที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยืนหยัดในใจของผู้ชมแบบไม่รู้ลืม เป็นข้อที่ต้องชมว่าผู้กำกับเอส คมกฤษ สามารถนำเสนอออกมาได้ดีมากๆ จนกลบข้อเสียไปได้เกือบทั้งหมด นั่นก็คือการเซอร์วิสขายความน่ารักของโบล์ เมลดา ในบทอนงค์ ผีสาวที่ต้องฝึกหัดหลอกคนเพื่อช่วยธุรกิจบ้านผีสิงของโจ แน่นอนว่าส่วนนี้ใครที่ชมมาแล้วคงทราบกันดีว่า การเล่นหน้าเล่นตา น้ำเสียงและท่าทางของโบว์นั้นขึ้นกล้องขนาดไหน ส่วนทางด้าน จี๋-สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร ในบทโจ ก็ขายความหล่อเนียบแฝงความขี้เล่นได้ค่อนข้างลงตัวดีกับองค์รวม


สรุป อนงค์ งานในการกลับมากำกับอีกครั้งของเอส คมกฤษ ที่อาจจะไม่ใช่งานที่เลิศเลออะไร แต่ก็สามารถสร้างความพึงพอใจในภาพรวมของเรื่องได้เป็นอย่างดี หลักๆ แล้วมาจากศักยภาพการขายความน่ารักของโบว์ เมลดา และฉากเซอวิสต่างๆ นานา ไปควบคู่กับความตลกแบบไร้พิษภัย ปราศจากคำหยาบ ซึ่งพอจะกลบข้อเสียอื่นๆ ไปได้อย่างแนบเนียน

Story Decoder
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่