ผีเป้า ผีปอบ ประวัติศาสตร์บ้านซ่งแย้ อะไรทำให้คนอีสานเปลี่ยนความเชื่อจากศาสนาผีเป็นศาสนาคริสต์



     “…ชาวภาคอีสานและคนในประเทศลาวเกือบทุกคนถือผีและอยู่ใต้อิทธิพลของผี พอเกิดอะไรขึ้นมา เป็นไข้หรือมีเหตุร้ายอื่นๆ พวกนี้จะต้องนำไก่ หมู ไปฆ่าบูชาถวายผีเพราะเขาเชื่อว่าถ้าผีโกรธแล้วผู้คนจะพากันเจ็บป่วยหรือได้รับความเดือดร้อยไปตามๆ กัน ฉะนั้นจะทำอะไรเขามักพยายามไม่ทำสิ่งที่เขาคิดว่าจะเป็นการขัดใจผีที่สุดพวกเขาก็รู้สึกว่าเป็นภาระหนักเมื่อบรรดามิสชันนารีได้มาอยู่หลายปีแล้ว ชาวบ้านก็เห็นว่าพวกถือศาสนาของมิสชันนารีไม่เคยนำสัตว์สิ่งของไปบูชาถวายผีเลย และเขาไม่เห็นกลัวผีด้วย ฉะนั้นจึงมีหมู่บ้านหรือหลายๆ ครอบคร้วมาขอเข้าศาสนาของมิสชันนารี เพื่อพ้นจากการรบกวนของผี…”

(พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 196-197)


พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ประมุขสังฆมลฑลอุบลราชธานี จากสถาบันวิจัยฝรั่งเศส-เอเชีย Institut de recherche France-Asie: IRFA

     จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเข้ามาดำเนินงานของมิสชันนารีคาทอลิกนอกจากจะก่อให้เกิดการยอมรับความเชื่อใหม่แล้ว ยังส่งผลให้ผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบได้ย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมมาพึ่งพาเหล่าบรรดามิชชันนารี เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่กระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งราษฎรยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องผีในหมู่คริสตังจะสูญหายไปเพราะมิชชันนารีได้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านเลิกนับถือ โดยเห็นว่าเป็นความเชื่อที่ไม่มีแก่นสาร (พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดี ตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 196) และอีกทั้งคริสตังไม่เชื่ออำนาจของผี

     เพราะเหตุนี้เขาจะไปสร้างถิ่นที่อยู่ในที่ที่ชาวบ้านทั่วไปเชื่อว่ามีผีดุและชุกชุม พื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นพื้นที่ดินและอุดมสมบูรณ์ เช่น ที่บุ่งกะแทว สีถานและเซซ่ง เป็นต้น(โรแบ โกสเต, 2543, หน้า 20) จากความเชื่อในเรื่องผีที่ปะปนหรือควบคู่กับความเชื่อในพุทธศาสนาของผู้คนในดินแดนอีสาน นับว่ามีส่วนอย่างสำคัญต่อการกลับใจเข้าเป็นคริสตังของราษฎรในดินแดนส่วนนี้ จากหลักฐานของมิสชันนารีผู้ประกาศศาสนาในดินแดนอีสาน ทำให้ทราบว่าได้รับบุคคลผู้เข้ารีตเป็นจำนวนมาก จากผู้ที่กล่าวหวาว่าเป็นผี โดยเฉพาะผีปอบ ซึ่งต้องถูกไล่ออกจากหมู่บ้านที่อาศัยพร้อมทั้งครอบครัวหรือกลุ่มหมู่บ้านที่อาศัยบริเวณที่เชื่อกันว่ามีผีดุอาศัยอยู่ด้วย (พรรณี สิงหะสุริยะ ยุวดีตีปนียากร และอำนาจ พลไชยขา, 2543, หน้า 197)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่