“สุดาวรรณ”ลุยสำรวจเมืองช่างแห่งสยาม ตรวจเยี่ยมการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จังหวัดเพชรบุรี

“รมว.ปุ๋ง”ชูทุนทางวัฒนธรรมจ.เพชรบุรี สร้างรายได้ให้ชุมชน
 
  “สุดาวรรณ”ลุยสำรวจเมืองช่างแห่งสยาม ตรวจเยี่ยมการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ของจังหวัดเพชรบุรี พร้อมสนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดที่มีอยู่จำนวนมาก สร้างรายได้ให้ชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ



วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ เปิดเผยว่า ได้ใช้โอกาสก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดเพชรบุรี ตรวจเยี่ยมการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ของจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) และชุมชนคุณธรรมบ้านถ้ำรงค์ เที่ยวชุมชน ยลวิถี เพื่อหาแนวทางนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มาต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆ ให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น
 
สำหรับพื้นที่ที่ได้ตรวจราชการแห่งแรกคือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ อยู่ที่ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทยทรงดำของจังหวัดเพชรบุรี และเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และนิทรรศการประวัติและวิวัฒนาการเรื่องราวการอพยพเข้ามาในประเทศไทยของชาวไทยทรงดำในอดีต มีการจัดแสดงเรือนที่พักอาศัยจำลอง เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องแต่งกาย และการจัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรม อาทิ พิธีเสนเรือน พิธีแต่งงาน รวมทั้งมีโฮมสเตย์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยทรงดำได้อย่างใกล้ชิด ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ 
 
ขณะที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี(เขาวัง)ได้เยี่ยมชมโบราณสถานสถานที่สำคัญพร้อมรับฟังการบรรยายแนวทางการพัฒนาศักยภาพอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ
ที่สำคัญในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5
 
 “การก่อสร้างพระนครคีรี ในหลวงรัชกาลที่ 4 ให้นำสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสิก มาเป็นแบบอย่างในการก่อสร้าง แต่ฝีมือช่างมีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจีนเข้ามาผสมผสาน เช่น การปั้นสันหลังคา และการใช้กระเบื้องกาบกล้วย สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดอยู่บนยอดเขาทั้ง 3 ยอด โดยยอดเขาด้านทิศตะวันออก เป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว 

ยอดเขากลาง เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ทรงกลม มีฐานทักษิณโดยรอบ ได้รับพระราชทานนามว่า "พระธาตุจอมเพชร" และ ยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวัง ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งและอาคารต่างๆซึ่งพระราชทานนามไว้คล้องจองกัน คือ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์ วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร์ ตำหนักสันถาคารสถาน โรงมหรสพหรือโรงโขน กลุ่มอาคารนารีประเวศ”


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า พื้นที่ตรวจเยี่ยมแห่งที่ 3 คือ ชุมชนคุณธรรมบ้านถ้ำรงค์ เที่ยวชุมชนยลวิถี ได้ชมการสาธิตงานสกุลช่างเมืองเพชรบุรีและศิลปะร่วมสมัย การสาธิตทำอาหารพื้นถิ่น เครื่องดื่มสร้างสรรค์ ขนมสร้างสรรค์อาหารผสานศิลป์ และชมนิทรรศการสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 20 ชุมชนต้นแบบ "เที่ยวชุมชน ยลวิถี" ระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นสถานที่รวมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า มีโบราณสถานที่มีความสำคัญ คือ เขาถ้ำรงค์ ด้านในถ้ำมีหลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ เป็นรูปหล่อสีดำทั้งองค์ หลวงพ่อดำมีอายุประมาณ 700 ปี มีเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปยังชุมชนอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง อาทิ สวนตาลลุงถนอม ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศูนย์เรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์จากใบตาล
 
นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนคุณธรรมบ้านถ้ำรงค์มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีไมตรีต่อกัน มีการร่วมมือกันทำกิจกรรมทุกอย่าง เป็นชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบของจังหวัดเพชรบุรี และมีศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
“กระทรวงวัฒนธรรมจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมให้ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) และชุมชนคุณธรรมบ้านถ้ำรงค์ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมและเรียนรู้ Soft Power ของไทยที่มีอยู่ในแต่ละแห่ง เช่น ผ้าพื้นบ้าน งานหัตถกรรม ศิลปะ อาหารและขนม เป็นต้น เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวจังหวัดเพชรบุรี ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว



พาพันเคลิ้มพาพันอาบน้ำพาพันรดน้ำต้นไม้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่