ใครที่มีนโยบาย จะทำให้อุณหภูมิอากาศของไทยอยู่ระหว่าง 18-28 องศาเซลเซียส ได้..จะเลือกเป็นนายกฯ 2 สมัยเลยเอ้า!

กล้าสัญญา ก็ กล้ากากบาทให้...

ขอนโยบายเจ๋ง ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทย อากาศร้อนน้อยลง...หน้าหนาว ขอ 18-20 องศาเซลเซียส พอ!...หน้าร้อน ขอ 28-30 องศาเซลเซียส พอ!

** ถ้าขืนปล่อยไปตามยถากรรม, ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง...อนาคต คงร้อนถึง 50 องศาเซลเซียส...คงต้องเปลี่ยนไปทำงานตอนกลางคืน แทน...คงต้องเปิดแอร์ ตลอดทั้งวัน ทั้งคืน...ค่าไฟบ้าน คงขึ้นเดือนละเป็นหมื่น!
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 13
... เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหา "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" (Climate change) เกิดขึ้นจากกิจกรรมการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" (Greenhouse Gases) ในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมเคมี(Chemical industry)และอุตสาหกรรมโรงกลั่น(Refining industry)ที่มีอยู่ทั่วโลก เมื่อก๊าซเหล่านี้ลอยขึ้นไปสะสมและห่อหุ้มบนชั้นบรรยากาศก็จะดูดซับรังสีอินฟราเรด(Infrared, IR)หรือรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวโลก ส่งผลให้รังสีดังกล่าวสะท้อนไปมาอยู่ภายในชั้นบรรยากาศและออกไปยังอวกาศได้น้อยลง หรือที่เรียกว่า "ภาวะเรือนกระจก" (Greenhouse effect) ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น กล่าวอีกอย่างคือ "ภาวะโลกร้อน" (Global warming)

จากข้อมูลสถิติของ Emissions Database for Global Atmospheric Research (EDGAR) เมื่อปี ค.ศ. 2022 ระบุว่า ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 29.161% ของทั้งหมด รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา (11.188%), อินเดีย (7.331%), รัสเซีย (4.796%), บราซิล (2.437%), อินโดนีเซีย (2.307%), และญี่ปุ่น (2.199%) ตามลำดับ ขณะที่ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 0.862% หมายความว่า ปัญหา Climate change ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ แม้รัฐบาลไทยจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตนเองจนเป็นศูนย์ แต่ประเทศอื่นๆยังปล่อยก๊าซดังกล่าวในปริมาณมากอยู่ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหา Climate change ได้ อีกทั้งทวีปเอเชียยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของ Climate change มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เช่น คลื่นความร้อน(Heat wave), ภัยแล้ง(Drought), และน้ำท่วม(Flood) ฯลฯ

ส่วนนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องดีหากเมืองนั้นๆมีพื้นที่สีเขียวไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ 9 ตารางเมตรต่อคนขึ้นไป ซึ่งกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเพียง 7 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนต้นไม้ก็อาจกีดขวางกระแสลมและยังส่งผลให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงขึ้น ทำให้ร่างกายรู้สึกร้อนขึ้นกว่าเดิมเพราะเหงื่อระเหยได้น้อยลง การระบายความร้อนก็ลดลง จึงจำเป็นต้องอาศัยวิธีการหลากหลายไปพร้อมๆกัน อาทิ การพัฒนาผังเมือง, การออกแบบสิ่งปลูกสร้างใหม่, การติดตั้งระบบทำความเย็นบนหลังคา, และการวาง District Cooling System หรือระบบเดินน้ำเย็นผ่านท่อเข้าอาคาร เป็นต้น แต่วิธีการทั้งหมดนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งไม่ได้ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศลดลงครับ ...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่