ว่ากันด้วยเรื่องแฮมสเตอร์

"หนู" เป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์ หนูนั้นทั้งทำลายพืชผทางการเกษตรลและพยายามที่จะเข้ามาร่วมอาศัยอยู่ในพื้นที่ของมนุษย์พร้อมกับนำความเสียหายนานาประการมาสู่เศรษฐกิจของมนุษย์เป็นจำนวนมหาศาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายทางตรงที่เด่นชัด คือ การกัดแทะกินพืชผลที่มนุษย์ปลูกตั้งแต่ในไร่นา ตลอดจนทำให้เกิดการปนเปื้อนในที่เก็บรักษา ในระหว่างการขนส่งและการแปรรูปผลิตผล จนกระทั่งอยู่ในมือผู้บริโภค นอกจากพืชผลทางการเกษตรแล้ว ผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ยังถูกหนูกัดแทะทำลายอีกด้วย นอกจากนี้หนูยังเป็นสัตว์พาหะสำคัญที่นำโรคหลายชนิดสู่คน และสัตว์เลี้ยง ตัวอย่างเช่น โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis), โรคไข้หนู (Murine thyphus, Scrub thyphus), กาฬโรค (Plaque) หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ส่วนความเสียหายทางอ้อมมักเกิดจากการกัดแทะสิ่งก่อสร้างเพื่อลับฟันของหนู ตัวอย่างเช่น อาคารบ้านเรือน ของใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน สายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในอาคารจนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ รวมทั้งการขุดรูเพื่ออยู่อาศัยภายใต้อาคาร ตามคันดิน คันคลอง หรือในท่อระบายน้ำเสีย ทำให้พื้นอาคารทรุด ดินฝั่งตลิ่งทรุด เกิดการอุดตันในท่อระบายน้ำ ซึ่งการทำลายที่เกิดขึ้นนี้เสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในปี ๆ หนึ่ง
 
แต่ในปัจจุบันหนูบางสายพันธุ์กลับกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของมนุษย์พอสมควร ตัวอย่างเช่น หนูตระกูลแฮมสเตอร์ โดยหนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่กระจายพันธุ์ในทะเลทรายของภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียกลาง จนถึงเอเชียตะวันออก มีการค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 กลางทะเลทรายซีเรีย ด้วยรูปร่างตัวเล็กจิ๋วอีกทั้งยังมีหน้าตาที่ดูน่ารักน่าเอ็นดู ทำให้มนุษย์เริ่มนำหนูแฮมสเตอร์มาเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1930 ที่สหรัฐอเมริกา โดยคำว่า "แฮมสเตอร์" (Hamster) นั้นมาจากภาษาเยอรมัน ซึ่งมีความหมายว่า "กระพุ้งแก้ม" เนื่องจากหนูแฮมสเตอร์มีลักษณะอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากหนูสายพันธุ์อื่น โดยเมื่อแฮมสเตอร์พบเจออาหารก็มักจะนำอาหารเหล่านั้นเก็บไว้ตรงบริเวณกระพุ้งแก้ม ซึ่งสามารถใช้สำหรับเก็บอาหารได้จำนวนมากเพื่อนำกลับไปกินในสถานที่ที่ปลอดภัย หากนำลักษณะการเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มมาเทียบเท่ากับมนุษย์หนึ่งคนแล้ว มนุษย์คนนั้นจะสามารถเก็บอาหารที่มีน้ำหนักถึง 70 ปอนด์ไว้ในกระพุ้งแก้มได้นั่นเอง
 
"แฮมสเตอร์มีกี่สายพันธุ์ ?"
สายพันธุ์ของหนูแฮมสเตอร์ยอดนิยมที่มนุษย์นำมาเลี้ยง มีทั้งหมด 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ สายพันธุ์แคระ และ สายพันธุ์ไม่แคระ
 
สายพันธุ์ไม่แคระ ที่นิยมนำมาเลี้ยงมีอยู่สายพันธุ์เดียว คือ

หนูแฮมสเตอร์ซีเรียน (Syrian) หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ไจแอนท์"

 
ลักษณะเด่นของสายพันธุ์ไจแอนท์จะอยู่ที่ขนาดตัว โดยหากเมื่อนำมาเทียบกับสายพันธุ์อื่นแล้ว สายพันธุ์ไจแอนท์จะมีขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุด และด้วยลักษณะเด่นอีกอย่างคือสายพันธุ์ไจแอนท์จะมีนิสัยที่เชื่องได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น มนุษย์จึงนิยมเลี้ยงแฮมสเตอร์สายพันธุ์ไจแอนท์มากที่สุด
 
แต่จะมีแฮมสเตอร์ไจแอนท์อีกแบบหนึ่งที่คนไทยมักเรียกกันจนติดปากว่า "ไจแอนท์ยุโรป" โดยลักษณะของไจแอนท์ยุโรปที่คนไทยเรียกกันจะมีลักษณะที่แตกต่างจากไจแอนท์ทั่วไป คือ หน้าจะใหญ่ไม่แคบไม่ยื่นยาว หูจะหันออกข้างและไม่ใหญ่โต ตัวจะบานหนาไม่แคบ(ช่วงอกกว้าง) มีทั้งตัวสั้นและตัวยาว มีทั้งขนสั้นและขนยาว แต่ก็มีบ้างที่หน้าแคบแต่ไม่มากและมีบ้างที่ตัวไม่หนา
 
"แล้วเรามีวิธีที่จะสามารถแยกไจแอนท์ไทยกับยุโรปได้อย่างไรบ้าง ?"
บอกไว้ตรงนี้เลยว่า แฮมสเตอร์สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธ์ุถูกนำเข้ามา แรกเริ่มเดิมทีแฮมสเตอร์ก็ไม่ได้มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในประเทศไทย ทุกตัวจึงมีความเท่าเทียมกัน จะต่างกันที่การรักษาคุณภาพของสายพันธุ์ ซึ่งแฮมสเตอร์รุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ขาดการรักษาคุณภาพ ขาดการให้อาหารที่ดี จนทำให้สายพันธุ์ไจแอนท์มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันมาก มีตั้งแต่แคระแกร็น ไปจนถึงหน้าใหญ่หน้าสั้นหน้าหมี ตัวใหญ่ทั้งหนาทั้งแน่น
 
สายพันธุ์แคระ ที่นิยมนำมาเลี้ยงมีอยู่ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่

1. หนูแฮมสเตอร์วินเทอร์ไวท์ (Winter White)

 
ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้ก็ตามชื่อเลย คือ ขนของสายพันธุ์นี้จะเป็นสีขาวหิมะ ลักษณะรูปร่างหน้าจะสั้นทู่ ตัวกลม ขนนุ่มนิ่ม มีลักษณะเด่นที่สีของขนมักจะอ่อนลงในหน้าหนาว มีสีเทาน้ำตาล เทาเงินอ่อน ขาวหลังเทา และสายพันธุ์นี้จะมีความดุนิดหน่อยจึงทำให้เชื่องได้ยาก ต้องอาศัยความใจเย็นและความขยันของผู้เลี้ยงในการฝึกให้เชื่องอย่างต่อเนื่อง
 
2. หนูแฮมสเตอร์แคมเบล (Cambells)

 
ลักษณะของสายพันธุ์แคมเบลจะตรงข้ามกับวินเทอร์ไวท์ตรงที่ขนของสายพันธ์ุนี้จะมีลักษณะที่สีเข้มกว่าและมีลายคาดกลางหลัง มีสีหลัก ๆ อยู่ 4 สี คือ Normal, Satin, Wavy และ Rex มีนิสัยชอบกัดแทะเป็นพิเศษ แต่เป็นมิตรมากกว่าวินเทอร์ไวท์ มักจะตื่นในช่วงเวลาพลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า

Tips 1 : ไม่ควรทำให้แฮมสเตอร์สดุ้งตื่นขณะที่กำลังนอนหลับบ่อย ๆ เพราะอาจะทำให้เกิดความเครียดสะสมได้
Tips 2 : หากแฮมสเตอร์มีนิสัยกัดแทะกรงบ่อย ๆ นั่นเป็นอาการที่แสดงให้เห็นถึงความเครียดจากการที่ต้องอาศัยอยู่ในกรงที่แคบ ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนกรงให้ได้ขนาดตรงตามมาตรฐาน (60 เซนติเมตรขึ้นไป)
 
3. หนูแฮมสเตอร์ไชนีส (Chinese)
 
ลักษณะเด่นชัดของแฮมสเตอร์สายพันธุ์นี้จะมีหางที่ยาวเล็ก หน้ายาว และดูผอมเพรียวกว่าสายพันธุ์อื่น ในช่วงที่สายพันธุ์นี้ยังเด็กจะมีนิสัยค่อนข้างขี้ตกใจ แต่เมื่อโตขึ้นจะใจเย็นและสงบ ในธรรมชาติมีเพียง 2 สีหลัก ๆ เท่านั้น คือ น้ำตาลเทา และสีขาว มามพร้อมแถบสีเข้มคาดตามยาวหลัง

4. หนูแฮมสเตอร์โรโบรอฟกี (Roborovski)

 
ลักษณะเด่นของสายพันธุ์โรโบรอฟกี คือ เป็นสายพันธุ์หนูแฮมเตอร์ที่มีขนาดตัวที่เล็กที่สุด แต่กลับมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนานที่สุดในบรรดา 5 สายพันธุ์ยอดนิยม และเป็นหนูแฮมเตอร์ที่วิ่งไวที่สุด ด้วยขนาดตัวที่เล็กจึงทำให้มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วเป็นอย่างมาก สีหลัก ๆ ตามธรรมชาติ คือ สีน้ำตาลทองตรงช่วงหลัง มีสีขาวช่วงท้องและแต้มขาวเหนือดวงตา และที่สำคัญคือสายพันธุ์นี้สามารถเลี้ยงรวมกันได้แต่ต้องมาจากแม่เดียวกันเท่านั้น

Tips 3 : อายุขัยเฉลี่ยของแฮมสเตอร์โดยส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ปี

"หากต้องการจะเลี้ยงแฮมสเตอร์ต้องทำอย่างไรบ้าง ?"
เนื่องจากว่าแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ขนาดเล็กและอ่อนไหวได้ง่าย จึงต้องอาศัยความรู้ในการเลี้ยงดูพอสมควร หากต้องการจะเลี้ยงแฮมสเตอร์ก็ควรเริ่มจากการสำรวจตัวเองก่อนว่าชอบแฮมสเตอร์สายพันธุ์ไหน แล้วจึงเริ่มทำการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่สนใจก่อนเริ่มเลี้ยง อย่างเช่น ขนาดกรงควรใช้ขนาดเท่าไหร่ รองกรงควรใช้เป็นอะไร อาหารควรกินแบบไหน และอย่าลืมสำรวจกำลังทรัพย์ของตัวเองด้วย เพราะถึงแม้ว่าแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ขนาดเล็กก็จริงแต่ค่าใช้จ่ายไม่เล็กตามขนาดตัว ทั้งค่าอุปกรณ์ในการเลี้ยง ทั้งค่ารักษาพยาบาล ถ้าหากมีกำลังทรัพย์นิด ๆ หน่อย ๆ บอกได้เลยว่าไม่ควรนำมาเลี้ยง

Q&A ที่พบบ่อย
"แฮมสเตอร์เลี้ยงรวมกันได้ไหม ?"
คำตอบ สามารถเลี้ยงได้แค่บางสายพันธุ์ เช่น โรโบรอฟกี (Roborovski) แต่ทางที่ดีควรเลี้ยง 1 ตัวต่อ 1 กรงจะดีกว่า เพราะแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่หวงถิ่นมาก หวงถิ่นจนถึงขนาดที่ว่าสามารถกัดกันจนตายกันไปข้างหนึ่งได้เลย

"แฮมสเตอร์ตัวเล็กใช้กรงเล็ก ๆ ที่มีอุปกรณ์พร้อมข้างในได้ไหม ?"
คำตอบ สามารถใช้ได้เฉพาะตอนพาไปหาสัตวแพทย์หรือนำไปส่งโรงพยาบาลเฉพาะสัตว์เท่านั้น เห็นแฮมสเตอร์ตัวเล็กแบบนี้แต่ใช้พื้นที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก เพราะแรกเริ่มเดิมที่แฮมสเตอร์มักจะทำรังอยู่ใต้ดินและด้วยนิสัยที่ชื่นชอบการสำรวจจึงขุดขยายรังออกไปเรื่อย ๆ ขนาดกรงแนะนำที่ควรใช้ขั้นต่ำจึงต้องมีขนาดประมาณ 60 เซนติเมตรขึ้นไป

"ทำไมบางคนถึงขั้นเปิดพัดลมเปิดแอร์ให้แฮมสเตอร์ ?"
คำตอบ เดิมทีแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในทะเลทรายซีเรียที่มีความร้อนสูง แต่กลับกลายเป็นว่าแฮมสเตอร์เหล่านี้ชื่นชอบอากาศเย็นมากกว่า โดยอุณหภูมิที่ชื่นชอบจะอยู่ที่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส หากต้องการจะเลี้ยงก็ควรจัดหาพื้นที่ที่มีความเย็นที่เหมาะสมกับการเลี้ยงแฮมสเตอร์ด้วย เพราะหากปล่อยให้อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอาจทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกได้

"รองกรงใช้เป็นทิชชูได้ไหม ?"
คำตอบ สามารถใช้ได้แต่ต้องเป็นทิชชูที่ใช้สำหรับรองกรงเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทิชชูทั่วไปได้ เพราะแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่ละเอียดอ่อนต่อฝุ่นมาก หากใช้รองกรงเกรดต่ำที่มีฝุ่นเกาะหนา ๆ อาจทำให้แฮมสเตอร์เป็นโรคผิวหนังจนร่วงได้ในอนาคต

หากให้ข้อมูลผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

อ้างอิง
https://www.cheminpestcontrol.com/products/product-40
https://www.petz.world/hamster-popula-breed/
https://ukritproperty.com/article.php?article_id=29/pets
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AE%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่