ส่อวุ่น! คุมเครื่องครัวสแตนเลส หวั่นโลหะหนักปนเปื้อน กระทบสุขภาพ

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย 
https://mgronline.com/daily/detail/9670000036423

ติดตามข่าวสารน่าสนใจมากมายได้ที่ 
https://mgronline.com

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจในสังคมไทย เพราะถือเป็นภัยใกล้ตัวผู้บริโภคอย่างอย่างยิ่ง หลังที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหารที่ใช้ในครัวเรือน หรือ  “ภาชนะสแตนเลส(stainless)”  เป็นสินค้าควบคุม ตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เสนอ

ทั้งนี้ การควบคุมดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ภาชนะสแตนเลสที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 7 รายการ ได้แก่ หม้อ กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ถาดหลุมใส่อาหาร และ ปิ่นโต แต่ไม่ครอบคลุมอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม 

วัตถุประสงค์ของการประกาศครั้งนี้ก็เพื่อให้ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน เนื่องเพราะเป็นสินค้าที่มีการใช้งานแพร่หลายมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาล และโรงเรียน โดยมีข้อกำหนดสำคัญคือ การควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่
 
โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และโมลิบดินัม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค 

คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่า ทำไมกระทรวงอุตสาหกรรมถึงเพิ่งคิดจะควบคุม เพราะประชาชนคนไทยก็ใช้ภาชนะสแตนเลสรูปแบบต่างๆ ในชีวิตประจำวันมาเป็นเวลาช้านาน จนหลายคนปริวิตกว่า ป่านนี้บรรดาสารปนเปื้อนต่างๆ มิได้เข้าไปอยู่ในร่างกายจนอยู่ในระดับอันตรายเรียบร้อยแล้วหรือ

 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าพบการจำหน่ายภาชนะสแตนเลสคุณภาพต่ำจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางช่องทางออนไลน์ จึงมีความเป็นห่วงว่าสินค้าดังกล่าวอาจจะไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค โดยได้เร่งดำเนินการให้สแตนเลสคุมเป็นสินค้าควบคุม เพราะต้องสัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่มโดยตรง หากเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาวได้

โดยก่อนหน้านี้ สมอ. ได้บังคับใช้มาตรฐานภาชนะเคลือบเทฟล่อน ภาชนะเมลามีน และภาชนะพลาสติกแล้ว ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีการบังคับใช้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน
โดยภาชนะจำพวกโลหะเคลือบฟลูออโรพอลิเมอร์สำหรับอาหาร หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า  “ภาชนะเทฟลอน” หรือ “นอนสติ๊ก”  เป็นหนึ่งในสินค้าที่ สมอ. ควบคุม เนื่องจากต้องมีความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะต้องสัมผัสกับความร้อนและอาหารโดยตรง และหากไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนออกมากับอาหาร

ล่าสุด ที่ประชุม กมอ. มีมติเห็นชอบให้ภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหารที่ใช้ในครัวเรือน หรือ “ภาชนะสแตนเลส” เป็นสินค้าควบคุม ตามที่ สมอ.เสนอ โดยมีการปรับปรุงแก้ไขสาระสำคัญของมาตรฐานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และจะเร่งประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 

รวมทั้งยังได้เห็นชอบร่างมาตรฐานอีกจำนวน 106 มาตรฐาน เช่น ลิฟต์โดยสารและลิฟต์ที่ใช้ขนของ สายไฟแรงสูง สวิตช์ไฟ ที่ติดกับสายไฟ เครื่องล้างจานเชิงพาณิชย์ แบตเตอรี่รถไฮบริด บอลลูนขยายหลอดเลือด ยางปิดช่องว่างระหว่างชานชาลากับขบวนรถขนส่งทางราง ยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง หม้อหุงข้าวและเตารีดประหยัดพลังงาน หมอนยางพารา น้ำมันหอมระเหยขิงไทย เป็นต้น รวมทั้ง เห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่จะจัดทำในปี 2567 เพิ่มเติมอีก จำนวน 349 มาตรฐาน

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่ามาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมภาชนะสแตนเลสที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 7 รายการ ได้แก่ หม้อ กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต แต่ไม่ครอบคลุมอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ เป็นการควบคุมปริมาณโลหะหนัก อาทิ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และโมลิบดินัม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค 

โดยมีผลบังคับใช้ให้ทั้งผู้ทำและนำเข้าทุกราย จะต้องขออนุญาตก่อนทำหรือนำเข้า และจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าทุกชิ้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินสกัดสินค้าไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐานในท้องตลาดตาม เป็นไปตามภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคจากการใช้สินค้า และปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ดีตาม โลหะหนักที่แฝงในภาชนะสแตนเลสสัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่ม 6 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และโมลิบดินัม นับเป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็ง โรคไต และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ทั้งนี้ การควบคุมคุณภาพของภาชนะสแตนเลสดังกล่าว จะเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าในประเทศ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้ง ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐาน 
และหากเจาะลึกในรายละละเอียดก็จะพบว่า  “โครเมียม”  ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอด รวมถึงมีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์  “นิกเกิล”  เป็นตัวการก่อให้เกิดโรคหืดหอบ กระตุ้นการอักเสบของปอด ก่อให้เกิดมะเร็งปอด  “ตะกั่ว” 
 
 ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท หากสะสมในร่างกายและส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์  “แคดเมียม”  ส่งผลต่อระบบประสาทอาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กระทบการทำงานของไต ทำลายกระดูกข้อต่อก่อเกิดปัญหากระดูกพรุน  “สารหนู” ก่อให้เกิดมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด, มะเร็งตับ, มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น และมีผลต่อระบบหัวใจ ระบบประสาท และ   “โมลิบดินัม”  ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร และอาจทำให้เกิดโรคเก๊าท์ ซึ่งเกิดจากการสะสมของกรดยูริก เป็นต้น

 แน่นอนว่า ประกาศควบคุมเครื่องครัวสแตนเลสของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากจะสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังยกระดับมาตรฐานสินค้าเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคมีข้อสงสัยก็คือ จะจัดการอย่างไรกับภาชนะสแตนเลสที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ เพราะยังคงพบเห็นการวางจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนเองก็ยังไม่ได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยที่จะตามมาจากสแตนเลสราคาถูกอย่างที่ควรจะเป็น 

ที่สำคัญคือ สิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์เป็นการเร่งด่วนก็คือ เครื่องครัวสแตนเลสที่ใช้ในการประกอบอาหาร มี มีอยู่ด้วยกันหลายเกรด หลายคุณภาพ และเกรดที่นิยมใช้งานสูงสุด ความเหมาะสม ทั้งในแง่ของ ความปลอดภัย และราคาคือ  “สแตนเลส 304” หรือ  “สแตนเลส 316” ที่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าคืออะไร และในระหว่างที่ประกาศยังไม่มีผลบังคับใช้ ผู้บริโภคจะมีวิธีสังเกตสังกาด้วยตนเองอย่างไรบ้างในการตัดสินใจซื้อมาใช้งาน.

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่