“ขวัญฤทัย” พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9 “พฤษภาทมิฬ” และ พระราชดำรัส พระราชบิดา “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง”

 
📌  ละคร  “ดวงใจเทวพรหม  ตอน  ขวัญฤทัย”  ep 1  📌

🙏🏻  พระราชดำรัส  ในหลวง รัชกาลที่ 9  ในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”  🙏🏻 

🙏🏻  พระราชดำรัส  สมเด็จพระบรมราชชนก  “...ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง...”  🙏🏻 

ในละคร มีการพูดถึงพระราชดำรัสของทั้งสองพระองค์ ดังนั้น กระทู้นี้ จะเป็นบทความถึงพระราชดำรัสของทั้งสองพระองค์ (ฉบับเต็ม)


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ




“...ประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคน สองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่า จะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า กรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไร ที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง...”

ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕


เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” (Black May)


วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” (Black May) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง ที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เมื่อเวลาประมาณ 21:30 นาฬิกา ของวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี (ในขณะนั้น) และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุม เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย ซึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย นำเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทั้ง 5 ช่อง เมื่อเวลา 24:00 นาฬิกาของคืนเดียวกัน วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดา จึงกราบบังคมทูล ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนเป็นการชั่วคราว

ในเวลา 5 ทุ่มครึ่งของวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นผู้นำมวลชน และ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยพระสุรเสียงเรียบๆ แต่หนักแน่นว่า

“คงไม่เป็นที่แปลกใจ ทำไมจึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชาธิบายแก่บุคคลทั้งสองว่า

แม้จะเป็นที่กระจ่างชัดตั้งแต่แรกว่า เหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันคืออะไร แต่
“ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างที่จะนับคณนาไม่ได้” และ
“ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกหนทุกแห่ง มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก”

ทรงถามผู้นำทั้งสองฝ่ายด้วยคำถามที่คนทั้งชาติเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ว่า

“แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ”

ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างละทิฐิมานะ ยอมปฏิบัติตามพระราชดำรัส ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน

และท่ามกลางเหตุการณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการเรียกพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ให้เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถ่ายทอดการนี้ออกอากาศสดได้ ในภาพทางโทรทัศน์ พระองค์ทรงขอให้คู่กรณียุติความรุนแรงและนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่สันติ ซึ่งผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างละทิฐิมานะ ยอมปฏิบัติตามพระราชดำรัส ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน และเห็นพ้องต้องกันในการที่จะให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศในสถานการณ์ดังกล่าว ณ จุดสูงสุดของวิกฤติการณ์ ปรากฏภาพพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าผู้ประท้วง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยหมอบกราบ และที่สุดก็นำไปสู่การลาออกของพลเอก สุจินดา คราประยูร ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เหตุการณ์สงบลง





เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา วันมหาวิปโยค


ในวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เวลา ๑๙.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านทางโทรทัศน์ ณ หอตึกสมุด สวนจิตรลดา มีความว่า

“...วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา ๖-๗ วันที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องและการเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวด และยิงแก๊สน้ำตาทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั่วพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนอยู่ในสภาพปกติ

อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมและแก้ไขสถานการณ์ให้คืนอยู่ในสภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน...”

และวันเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก็ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ความว่า

“...ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความห่วงใยเป็นที่สุดในการที่เกิดความไม่สงบขึ้นในขณะนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งปวงให้ระงับการใช้กำลังเสียเถิด ด้วยเราก็เป็นชาวพุทธด้วยกันทั้งนั้น ขอให้มีความเมตตากรุณาต่อกัน หันหน้าเข้าหากันเพื่อความสุขของตัวท่านและลูกหลานของท่าน

การตั้งตัวเป็นศัตรูต่อกันนั้น นำมาซึ่งความหายนะ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดทั้งสิ้น ขอให้ท่านทุกคนระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และข้าพเจ้าขออธิษฐาน ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ท่านทุกคนปรับตนเองให้ได้ ให้ความสงบมีขึ้นโดยเร็วเพื่อความสุขความเจริญของท่านเอง สวัสดี...”





“...ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง 
ลาภ ทรัพย์ และ เกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์...”

พระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
“พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย” 


พระราชดำรัสที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงตรัสไว้ (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์) มาจากลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงนักเรียนแพทย์ นายสวัสดิ์ แดงสว่าง ผู้ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกา ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ เพื่อเตือนสติและสอนให้นายสวัสดิ์ตั้งใจเล่าเรียนให้สำเร็จ ซึ่งหลังจากจบการศึกษา นายแพทย์สวัสดิ์ (ต่อมาคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง) ได้กลับทำงานให้กับโรงพยาบาลศิริราช ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการคิดค้นงานวิจัยหลายด้าน เช่น การค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ดเป็นคนแรกของโลก, ร่วมก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ นับได้ว่าท่านได้ทำงานถวายการรับใช้และจดจำสิ่งที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ตักเตือนและสั่งสอนไว้ทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภาพฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ฉลองพระองค์จอมทัพไทย

🙏🏻 น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ 🙏🏻
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่