สาธุ อยากจะบอกอะไรแก่สังคม? (Spoil)

อันนี้ขอมองตามประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ ผสมกันระหว่างหนังและสังคมในชีวิตจริง

คร่าวๆ สาธุตีแผ่ความ Hopeless ของสังคมได้ดีเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าขนความเน่าเฟะ มาครบเกือบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็น คนยุคใหม่, นักธุรกิจ, ทนาย, 
นักการเมือง, พระสงฆ์ ผมใช้คำว่าพระสงฆ์ ไม่ใช่หมายรวมถึงพระอริยะ หรือพระพุทศาสนาโดยรวม ซีรีส์ค่อยๆคลี่ความเนาะเฟะทีละ EP ผมขอจัดแบบรวมๆตามนี้
 
1. คนยุคใหม่ (คนในสังคมยุคนี้ที่ไม่ใช่แค่วัยรุ่น)
- ซีรี่ส์ เล่าถึงคนยุคใหม่ที่มีความฝัน และมีจริต mindset ที่พอบอกรวมๆได้ว่าต้องการ "รีบๆรวยๆเร็วๆ เสร็จแล้วอยากจะไปทำอะไรที่ชอบก็ไป" Early Success ซึ่งตรงนี้มันไม่ผิด แต่เมื่อรีบไปมันก็พลาดพลั้ง ในยุคนี้การสื่อสารมันไว แรงเสียดทางในสังคมก็คือ Feed social media ที่เลือกกันเสพ ใครจิตไม่แข็งชอบ All in ก็มักจบไม่สวย ตัวละคร 3 ตัวก็มีจริตแบบนั้นแต่หนักเบาต่างกันไป ในขณะที่ชาวบ้าน ตาสีตาสา ก็ไร้ที่ยึดเหนี่ยว หรือมักจะเชื่อตามๆกัน ใครดีก็ว่าดี ไม่กล้าที่จะพิจารณาสิ่งต่างๆโดยละเอียด ถ้าเชื่อฝังหัวเรื่องใดเรื่องนึงก็จะเชื่อไปแบบนั้นจนซึมลึก อุปทานหมู่ มันคือ ศรัทธาหรืองมงาย?

2. ตัวเอก 3 ตัว
- เดียร์ คือคนที่มีความทะยานอยากน้อยที่สุด เธออาจแค่ต้องการทำอะไรกับเพื่อนๆแล้วบินไปอยู่กับครอบครอบครัว ความเปราะบางที่เธอมีคือความเหงา ที่ต้องแยกกันอยู่กับพ่อ มีแค่เพื่อนเท่านั้น เรียกว่าไปไหนไปกัน ทำไรทำด้วย อาจจะตรงตามชื่อตัวละคร "Dear" ลักษณะคือแคร์คนรัก ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก พื้นฐานจัดว่าเป็นคนจิตใจดีคนนึง นิสัยโก๊ะมากด้วย แต่คนปะรเภทนี้มักจะติดร่างแห หรือถูกหลอกได้ง่าย
- เกม คือ Playboy เข้าสังคมเก่ง แคร์รูปลักษณ์ภายนอก ท่องแต่แลมโบๆๆ หัวร้อน ชอบทางลัด ไม่คิดว่า การทำงานหนักและความสำเร็จคือบันไดทีละขั้น แต่จะรีบขึ้นลิฟท์ มันก็ย่อมคิดได้และมีคนทำอย่างนี้ได้ แต่หาได้น้อยมากเช่นกัน Concept ก็ตรงตามชื่ออีก "Game" ชีวิตเหมือนการเล่นเกม การสร้างอะไรขึ้นมาแล้วไปอยู่ในกระแสวังวงนั้นๆ เช่นการก่อตั้ง project สร้าง Game NFT paly to earn พ่อหนุ่มผู้ชอบความตื่นเต้นเป็นชีวิตจิตใจ แต่ก็กล้าออกรับแทนเพื่อนนะ
- วิน คือ ขบถตัวจริง มีความทะยานอยากและชอบการแข่งขันตรงตามชื่อ "Win" เรียนก็ไม่จบเพราะอาจเห็นคนที่ประสบความสำเร็จในโลกก็ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จ นิสัย เป็นพวก mastermind ชอบ manipulate เล่นกับความรุ้สึกของคน ใจดำ (ภาค 2 กลับตัวซะ) 55555 อาจด้วยมีปมในวัยเด็กที่ขาดพ่อดูแล แต่ละครตัวนี้ก็ไม่ได้ชั่วร้ายสุดขั้วเพราะอย่างน้อย วินก็ยังรักแม่ 

สามตัวละครนี้ไม่ได้ชั่วสุดขั้ว ยังมีจิตใจที่ดีอยู่ แต่พวกคือคนที่หลงทางและไม่มี "หิริโอตัปปะ - ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป" ไม่รู้ตัวหรือหลอกตัวเองด้วยซ้าว่าสิ่งที่ทำอยู่นั่นไม่ใช่บาป ใครๆเค้าก็ทำกันป่าววะ?

3. พระบ้าน VS พระป่า
- ซีรีส์ฉายภาพให้เห็นถึงความแตกต่างของสองนิกาย (มหานิกาย - ธรรมยุติก) ที่มีวัตรปฏิบัติต่างกัน และไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน คนทั่วไปอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือพระบ้าน อะไรคือพระป่า สีของจีวร สไตล์การห่มจีวร ภาษาบทสวด นี่คือสิ่งจำแนกพระบ้าน พระป่าแบบคร่าวๆ บางคนมักจะมองว่าพระป่าคือของ แทร่ เกจิดังๆมาจากสายวัดป่าทั้งนั้น แต่ช้าก่อน ไม่ว่าสายไหน ก็แพ้แก่  3 สิ่งนี้ คือ เงิน, สีกา, และ อำนาจ และที่เป็นข่าวดังๆที่เป็นเคสพระป่าก็เยอะ เช่น เณรคำ นั่นไง
- พระดล คือตัวแทนของพระป่า ซื่อๆที่บวชมานานเจนจัดในศาสนา บวชตั้งแต่เด็ก แต่อ่อนด้วยในการใช้ชีวิต ไม่เจนจัดในบริบททางสังคม ผมสงสารตัวละครนี้มาก คือเหมือนผ้าขาวที่ ถูกป้ายสี เจอ ความโก๊ะ ความซึนๆ ของเดียร์เข้าไปก็เสร็จสิครับ ความเหงา เจอกับความเหงาก็เหมือนจะเข้าใจกันได้ในระดับนึง แต่มีสถานะเป็นตัวกั้น ด่านที่พระสงฆ์ผ่านยากที่สุดผมว่าด่าน นารี สีกา นี้แหละ คุณงุ่นง่านได้ แต่ห้ามทำอสุจิเคลื่อนโดยตั้งใจ ผิดระดับ 3 เกือบขั้นปาราชิก  มันต้องฝึกจริงๆ พระเกจิ ส่วนมากเจอคู่กรรม ของแพ้ทางแบบนี้ ท่านมักจะปลีกวิเวก ไปไกลๆให้ไม่ฟุ้งซ่าน ยังดีว่าท้ายที่สุด เพราะดลนั้นกล้าหาญที่จะบอกความรู้สึกตัวเองไปก่อนจะถูก  "ทิ้งไว้กลางทาง" และด้วยยังมี เกราะที่เรียกว่า "ศีลธรรม" อยู่บ้าง ไม่งั้นช้ากว่านี้ผมว่าเซฟไม่ทัน พร้อมแตกทุกเมื่อ อีกนิดเดียวจะเป็น กาโต๊ะ แล้ว 
- พระเอกชัย วางมาดขึงขัง อำมหิต และเอาทุกอย่าง พระเอก คือพวกอยู่เป็น ไม่ว่าจะเป็นการอ่อนให้กับหลวงเจ๊ ไม่ปะทะตรงๆ นอบน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ สมานเข้ากันได้กับผู้มีอิทธิพลทุกกลุ่ม ฉลาดเลือกกินยาวๆ เขี่ยพวกโง่ๆที่ทำธุรกิจสีดำออก มีความโลภเป็นที่ตั้ง สั้นๆ คือเลว คอยชักใยหลวงตาแก่ๆ เผลอๆแอบมีดีลกับวิน ไว้ด้วย แต่ซีรีส์ไม่ได้เฉลยตรงนี้ พระประเภทนี้คือเหลือบไรของวงการอย่างแท้จริง และมีไม่น้อยด้วยผมเชื่อแบบนั้น

4. การหากินกับวัดแบบครบวงจร "เกิด แก่ เจ็บ ตาย"
- ซีรีส์พยายามจะบอกว่า คนในสังคมทุกวันนี้ อ่อนแอ มาก ไม่มีเกราะป้องกันตัวที่เรียว่า "ศีลธรรม" ไม่ถือแม้ ศีลห้า ให้กระแสแห่งกิเลสเป็นตัวชักนำพาไป
ศาสนาพุทธ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ก่อนจะเริ่มภาวนาควรเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่นั่นคือ "รักษาศีล" ไม่ให้ด่างพร้อยให้มากที่สุด ไม่งั้นภาวนาไป นั่งสมาธิไป หรือเช่าพระมามากแค่ไหนก็ไม่ช่วยอะไร ทุกวันนี้ผสมปนเปมั่วไปหมด พุทธ พราหมณ์ ผี แต่แก่นพื้นฐานถูกละเลย แผนการณ์ของตัวเอกทั้ง 3 คนเลยสำเร็จขึ้นมาได้ แถมยังมีพวกมารศาสนา บวชเพื่อหากิน บวชเพื่อสะสม พระเครื่อง กับ พุทธพาณิชย์ ในซีรีส์ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ควรหนีห่าง แต่ในความเป็นจริง แล้วบริบทในสังคม มันมาไกลมากแล้ว มันแลดูเป็น ecosystem ที่ต้องเกื้อกูลกันระหว่าง สังคม เศรษฐกิจปากท้องและศาสนา สุดท้ายมันกลับมาที่เจตนาตั้งต้นอยู่ดี วัดคือแหล่งเศรษฐกิจไม่ว่าในสมัยไหน งานวัด มีมาแต่อดีต วัดคือเศรษฐกิจนอกระบบ ที่ถ้าทำให้โปร่งใส กระจายเงินทำบุญให้ถูกต้องสังคมจะได้อะไรอีกเยอะ วัดหรือกิจการทางศาสนาไม่ควรเป็นแค่แหล่งฟอกเงิน ไม่ใช้ขยันสร้างสิ่งแต่สมมติรูปปั้นต่างๆ จากเพจลงทุนแมน คนไทยบริจาคให้วัดปีละ 54,000 ล้านบาท แต่ตรวจสอบได้กี่เปอร์เซ็นต์? หรือควรมีจัดการเงินที่บริจาคที่ดีกว่านี้ไหม? วัดสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับคนที่บวชเป็นพระน้อยและคุณภาพของพระที่ลดลง ในทางกลับกันถ้าศาสนาพุทธในไทย Reform ให้กลับมาโปร่งใส, ทันสมัย, และแข็งแกร่งได้ มันก็น่าจะช่วยจรรโลงสังคมได้ ทำให้ศาสนากลับมาเป็นสิ่งที่ "ยึดเหนี่ยว" เหมือนที่ท่องกันตอนเด็กๆได้สักทีเถ๊อะ สาาาาาาาาาาาาาาาธุ๊

สุดท้ายชอบมากซีรีส์ที่ตีแผ่สังคม Season 2 มาให้ไวเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่