กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านฉลุย! สภาฯ เห็นชอบผ่าน วาระ 3

สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบ 400 เสียง ผ่านวาระ 3 "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ลุ้นสว.พิจารณาต่อ


วันนี้ 27 มีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 400 เสียง ต่อ 10 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมการธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยที่ สส.มุสลิม ได้ขอใช้เอกสิทธิ์ไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา

-เห็นชอบ 400 เสียง
-ไม่เห็นชอบ 10 เสียง
-งดออดเสียง 2 เสียง
-ไม่ลงคะเเนเสียง 3 เสียง

ในการพิจารณาได้เรียงไปตามมาตรา โดยมีสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นเสนอให้มีการแก้ไขเนื้อหาในบางมาตราที่แตกต่างไปจาก กมธ.วิสามัญฯ ได้ทำการแก้ไข เช่น เรื่องการกำหนดอายุคู่สมรสไม่ให้ต่ำกว่า 18 ปี ยกเว้นศาลจะเห็นว่ามีเหตุอันสมควร, กมธ.เสียงข้างน้อยที่มาจากภาคประชาชนเสนอให้เพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก" นอกเหนือจากคำว่าบิดาและมารดา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก

นายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพื่อทุกคนในประเทศโดยที่คู่สมรสชาย-หญิง เคยได้รับสิทธิอย่างไร ก็จะไม่เสียสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ และกฎหมายฉบับนี้ จะคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคืนสิทธิให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เคยเสียสิทธิไป ทั้งการรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษี การลงนามยินยอมให้คู่สมรสเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียมในสังคมไทย ที่จะทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่เปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันสมรสกัน

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ สภาผู้แทนราษฎร จะส่งต่อให้วุฒิสภา พิจารณาตามขั้นตอน

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะโฆษกคณะกรรมธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ โฆษกวิปวุฒิสภา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของวุฒิสภา ในการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ว่า วุฒิสภา พร้อมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ในวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ หรือ วันที่ 9 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 

ทั้งนี้ มั่นใจว่า จะสามารถพิจารณารับไว้พิจารณา พร้อมตั้งกรรมาธิการฯ มาพิจารณาต่อได้ทันอย่างแน่นอน ซึ่งกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาในช่วงการปิดสมัยประชุม มาพิจารณา ก่อนจะเสนอกลับมายังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ให้ทันก่อนที่สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tnnthailand.com/news/social/163688/
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่