คนไทยกิน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” สูงอันดับ 3 ของโลก แบรนด์แข่งดุ จากสินค้าราคาถูก สู่ รสชาติพรีเมียม

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2769042

คนไทยกิน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” สูงอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ย 54 หน่วย บริโภคต่อคนต่อปี แบรนด์แข่งดุ 5 เจ้าใหญ่ มาม่า - ไวไว - ยำยำ - นิชชิน - นงชิม ครองตลาด จากเดิม เป็นสินค้าราคาถูก เพื่อ เอาใจ ชนชั้นล่าง สู่ การปั้น “รสชาติ” พรีเมียม จับคนรุ่นใหม่ กำลังซื้อสูง

แม้เทรนด์การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มแนวสุขภาพ กำลังท้าทาย อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป หรือ พร้อมรับประทาน จากการใส่ใจของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น แต่จากแนวโน้ม โดยการวิเคราะห์ ของวิจัยกรุงศรี กลับประเมินว่า ในช่วงปี 2567-2569 ปริมาณการจำหน่ายอาหารพร้อมทานในไทย ยังมีโอกาสเติบโต ได้เฉลี่ย 3-4% ต่อปี

เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเต็มรูปแบบ ยังส่งผลให้การบริโภคที่เน้นความเร่งรีบยังคงเกิดขึ้น ประกอบกับ ครอบครัวที่เล็กลงทำให้ปริมาณความต้องการอาหารในแต่ละครั้งของครัวเรือนลดลงด้วย

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังโต 
เจาะ ตลาดใหญ่ อย่าง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” พบ ทั้งการบริโภคในประเทศ และ การส่งออก ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วน 39.8% ในเชิงปริมาณ และ 36.0% ในเชิงมูลค่าของการส่งออกอาหารพร้อมทาน ขณะ ประเทศกัมพูชาเป็นคู่ค้าหลักมีสัดส่วน 20.3% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รองลงมาได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (12.8%) เมียนมา (12.6%) ลาว (10.5%) และสหรัฐฯ (6.6%) ตามลำดับ
 
สำหรับตลาดในประเทศ มูลค่ารวม อยู่ที่ 537.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ผลิตหลักๆ ประกอบไปด้วย  
บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (แบรนด์มาม่า)  
บจก. โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย (แบรนด์ไวไว) 
บจก. อายิโนะโมะโต๊ะ (แบรนด์ยำยำ) 
บจก. นงชิม (แบรนด์นงชิม) 
บจก. นิสชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) (แบรนด์นิสชิน) 

ผู้ผลิตกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 90% ของมูลค่าตลาด สำหรับปริมาณการบริโภคโดยรวมเติบโตเฉลี่ย 1.3% ต่อปี (ข้อมูลระหว่างปี  2560-2565) ขยายตัวได้ดีในภาวะที่กำลังซื้อซบเซา
เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาถูก และใช้บริโภคทดแทนได้ในยามขาดแคลนอาหารสด อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติที่หลากหลายและแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง
 
คนไทยบริโภค บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เฉลี่ย 54 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี
วิจัยกรุงศรี ยังระบุว่า การจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศของไทย อยู่ที่ 142.2 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 61.6% ของปริมาณจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 
สอดคล้องกับการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่มีปริมาณเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยจำนวน 3.87 พันล้านหน่วยบริโภค และมีอัตราการบริโภค 54 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี อยู่อันดับ 3 ของโลกร่วมกับเนปาล รองจากเวียดนาม (86.4 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี)  และเกาหลีใต้ (76.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) เทียบกับการบริโภคเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 15.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน พบว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวช่วยหนุนให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบพรีเมียมที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นได้ 

“การแข่งขันด้านราคาและปริมาณในประเทศค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองเนื่องจากเป็นสินค้าจานด่วนที่เน้นการใช้กลยุทธ์ด้านราคาและแข่งขันพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภค โดยเน้นกลุ่มระดับรายได้ปานกลางถึงล่าง ซึ่งกำลังซื้อยังไม่สูง โดยปัจจุบันผู้ผลิตมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่กำลังซื้อสูงขึ้น โดยการออกสินค้ารสชาติใหม่ที่เน้นคุณภาพของวัตถุดิบ (พร้อมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น “

ขณะที่ความนิยมในตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบหลัก อาทิ ข้าวสาลีที่มีโอกาสผันผวนตามความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับคู่ค้าหลักอย่าง ออสเตรเลีย และ แคนาดา อาจส่งผลต่อต้นทุนและความสามารถในการทำกำไรได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่