Grab กำไรเป็นครั้งแรก แต่ราคาหุ้น ยังคงตกต่ำ

กระทู้สนทนา
Grab กำไรเป็นครั้งแรก แต่ราคาหุ้น ยังคงตกต่ำ /โดย ลงทุนแมน
ที่ผ่านมา ถ้าใครลงทุนใน Grab Holdings ก็เรียกได้ว่าเจ็บหนัก
เพราะในวันนี้ มูลค่าบริษัทนั้นเหลือเพียง 433,000 ล้านบาท จากจุดสูงสุดที่ 950,000 ล้านบาท เมื่อตอนสิ้นปี 2021
หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง -54% ในเวลาเพียง 2 ปีนิด ๆ
แต่มาวันนี้ กลับมีข่าวดีก็คือ Grab ทำกำไรได้แล้ว และยังเป็นกำไรแรก นับตั้งแต่บริษัทจัดตั้งมาอีกด้วย
โดยผลประกอบการไตรมาสล่าสุด (Q4 2023)
มีรายได้ 23,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%
กำไร 392 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 13,900 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
แล้วหลังจากประกาศงบออกไป ราคาหุ้นตอบสนองอย่างไร ?
คำตอบคือ นิ่งสนิท..
แล้วทำไม Grab มีกำไร แต่ราคาหุ้นและมูลค่าบริษัทยังอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ถ้าใครสงสัยว่ามันเป็นเพราะอะไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าจะเล่าเรื่องนี้ ก็ต้องอธิบายโครงสร้างต้นทุนของ Grab ก่อน
ปกติแล้วต้นทุนหลักของ Grab ก็จะมีตั้งแต่
- ค่าตอบแทนสนับสนุน (Incentives) ร้านค้า, คนขับ และลูกค้า ตัวอย่างเช่น โคดส่วนลดที่เราใช้กัน
- ค่าใช้จ่ายพนักงาน
- ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (R&D)
เริ่มกันที่ ค่าตอบแทนสนับสนุน ต้นทุนนี้เป็นต้นทุนที่ Grab ต้องจ่ายไปเรื่อย ๆ ในทุกวัน เพื่อจูงใจให้ไรเดอร์มาวิ่งงาน คนอยากมาใช้บริการ และรักษาฐานลูกค้า
ซึ่ง Grab ต้องเสียเงินให้กับค่าสนับสนุนนี้ถึง 64,000 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว
นอกจากนั้น ก็จะมีต้นทุนพนักงาน ที่ต้องใช้ในการดำเนินงานและบริหารงานหลังบ้าน
รวมถึงค่า R&D เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแพลตฟอร์ม
ดังนั้นโจทย์สำคัญก็คือ บริษัทจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้
- มีรายได้เติบโตมากขึ้น จนมากกว่าต้นทุนพวกนี้
- รวมถึงควบคุมต้นทุนเหล่านี้ให้ลดลง
ถึงจะมีกำไร นั่นเอง
โดยที่ผ่านมา ถึงแม้ Grab จะยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่รายได้ ก็ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน (Break-Even Point) เท่ากับว่ายังไม่มีกำไร
แต่ในไตรมาสล่าสุดที่ผ่านมา Grab ก็ได้ประกาศว่าตัวเองมีกำไรเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
แล้วยังประกาศซื้อหุ้นคืนด้วยวงเงิน 18,000 ล้านบาทอีกด้วย
คำถามก็คือ ในเมื่อ Grab ทำกำไรได้แล้ว อีกทั้งยังซื้อหุ้นคืนเพิ่ม แต่ทำไมมูลค่าบริษัทยังตกต่ำ ?
สาเหตุแรกก็คือ กำไรที่เราเห็นในไตรมาสนี้ จริง ๆ แล้ว เป็นเพราะ
- รายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิ
- การปรับมูลค่าทรัพย์สินทางการเงิน
ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ได้มาจากธุรกิจหลัก
โดยบริษัทรับรู้รายได้จาก 2 รายการนี้กว่า 1,922 ล้านบาท
ดังนั้นถ้าไม่นับรวม 2 รายการนี้ และไปดูกำไรจริง ๆ จากการทำธุรกิจ Grab ก็ยังขาดทุนอยู่ นั่นเอง..
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจของ Grab ก็กำลังดีขึ้น เพราะตัวเลขขาดทุน กำลังน้อยลงเรื่อย ๆ
กำไรจากการดำเนินงานของ Grab
- ไตรมาส 2 ปี 2023 ขาดทุน 3,800 ล้านบาท
- ไตรมาส 3 ปี 2023 ขาดทุน 2,360 ล้านบาท
- ไตรมาส 4 ปี 2023 ขาดทุน 1,650 ล้านบาท
และสาเหตุต่อมาก็คือ “คู่แข่ง”
อย่างที่รู้กันว่าธุรกิจฟูดดิลิเวอรีไม่ได้มี Grab เป็นผู้เล่นแค่รายเดียว หรือครองตลาดเบ็ดเสร็จ
แต่ยังต้องเผชิญกับผู้เล่นอื่น ๆ ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ในแต่ละประเทศ ที่ต่างคนต่างไม่ยอมกัน ไม่ว่าจะเป็น
- GoFood ของ GoTo บริษัทอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มเรียกรถ รายใหญ่ของอินโดนีเซีย
- ShopeeFood ของ Sea บริษัทอีคอมเมิร์ซและเกมออนไลน์ ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค
- LINE MAN แพลตฟอร์มฟูดดิลิเวอรีที่ก่อตั้งโดยคนไทย มีรายได้เกือบ 8,000 ล้านบาท
- Robinhood แพลตฟอร์มฟูดดิลิเวอรีในเครือ SCBX
ซึ่งคู่แข่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้ Grab มีความท้าทายมากขึ้น สำหรับการเติบโตที่มีโจทย์คือ จะต้องแซงต้นทุนที่มีให้ได้
และภาพการแข่งขันในวันนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน และใครจะเป็นผู้ชนะ
นักลงทุนก็เลยตั้งคำถามว่า แล้วในอนาคต Grab จะเติบโตเพิ่มได้อย่างไร
ซึ่งที่ผ่านมา ถึง Grab จะมีการเพิ่มธุรกิจอื่นลงไปในแพลตฟอร์ม อย่างเช่น บริการสินเชื่อ แต่ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าธุรกิจหลัก
แล้วเรื่องของ Grab เป็นกรณีศึกษาอะไรให้กับเรา ?
ก็ต้องบอกว่า นอกจากตัวกำไรในบรรทัดสุดท้ายแล้ว
สิ่งที่นักลงทุนควรดูเพิ่ม ก็คือไส้ในของกำไร ว่าที่มาจริง ๆ คืออะไรบ้าง
โดยควรให้ความสำคัญกับกำไรที่เกิดจากธุรกิจปกติของบริษัทเป็นหลัก ไม่ใช่รายการพิเศษ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
รวมถึงการมองภาพในมุมที่กว้างขึ้น อย่างเรื่องสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม
และการมองไปข้างหน้า ถึงอนาคตของบริษัท ว่าจะเติบโตอย่างไร มีความเป็นไปได้เพียงใด ระหว่างทางมีอุปสรรคเยอะแค่ไหน
ซึ่งในกรณีของ Grab ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ตัวเองสามารถเติบโตจนธุรกิจหลักมีกำไรได้จริง
วันนั้น นักลงทุนก็อาจกลับมาให้มูลค่ากับบริษัทเหมือนอย่างเช่นเคย ก็เป็นได้..
คำเตือน: โพสต์นี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูล ไม่ได้แนะนำให้ซื้อ หรือขาย แต่อย่างใด
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่