Perfect Days (2023): ชำระชีวิต

รู้ตัวอีกทีถึงนึกได้ว่าหนังสี่เรื่องล่าสุดที่ดูในโรงล้วนเป็นหนังญี่ปุ่นทั้งสิ้น แถมเป็น Anime ถึงสามเรื่อง สองเรื่องแรกได้รีวิวไปเมื่อปีที่แล้ว สองเรื่องหลังคือ Blue Giant(2023) ถือว่าเป็นงานที่ถูกใจคนล่าฝันและรักดนตรีอย่างผม แต่คงไม่มีอะไรให้วิเคราะห์วิจารณ์เท่าไร เพราะเป็นงาน Melodrama มาตรฐานจากพล็อตไปถึงงานภาพและเสียง

แต่สำหรับหนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับชาวเยอรมันชั้นครูอย่าง Wim Wenders ที่มาสร้างหนังญี่ปุ่นทั้งแท่ง หน้าหนังกับกระแสพูดถึง ว่าเป็นหนัง feel-good การมองแง่งามในชีวิตประจำวันของพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะวัยค่อนกลางคนผู้หนึ่ง แต่เมื่อดูจบ กลับทำให้ผมต้องมาทบทวนว่า สารที่ผู้กำกับที่ผ่านโลกจริงและโลกมายามาขนาดนี้ เขาต้องการสื่อถึงอะไร?

เปลือก: หนัง feel-good

"ถ้าอยากรู้ว่าตัวตนใครเป็นอย่างไร อย่าดูแต่เบื้องหน้า แต่จงดูหลังฉากชีวิตของเขา ตัวแทนตัวตนและวัฒนธรรม ของคนแต่ละชาติ ก็ควรดูผ่านหลังฉากในพื้นที่หลังฉากที่สุด คือ ห้องน้ำสาธารณะของชาตินั้น" นี่คือสิ่งแรกที่ผมคิด หลังจาก ได้รู้พล็อตเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับจับเอาเรื่องที่น้อยคนจะใส่ใจ มาเล่าผ่านชีวิตตัวละคร ผู้ดูแลรับใช้พื้นที่ ที่คนส่วนใหญ่รังเกียจ โดยการพาไปสังเกตการณ์ชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลาไม่กี่วัน หากมองผิวเผินแล้ว หนังเหมือนจะ สื่อถึง การให้เรากลับมาใส่ใจ เรื่องราว สิ่งละอันพันละน้อยของชีวิต ก็ทำให้เราสามารถมีความสุขได้ตามอัตภาพ

เนื้อ: ธรรมดาของชีวิต

แต่เมื่อใช้มุมมองของคนที่ผ่านโลกมาในระดับหนึ่ง จะเห็นว่า ชั้นเปลือกของหนัง เมื่อเลาะออกมาแล้ว เนื้อหากลับพูดถึง ความเป็นไป สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว ของแต่ละชีวิต ไม่ใช่เพียงตัวเอกเท่านั้น แต่คือตัวละครรายรอบตลอดสองชั่วโมง ที่บางตัวไม่มีบทพูดด้วยซ้ำ แต่สายตาไม่กี่วินาทีก็สามารถฝากให้เราต้องคิดต่อถึงเรื่องราวชีวิตเขา 

เราทุกคนต่างมีเงื่อนไข และเส้นทางเดิน ผันแปรเปลี่ยนไป ตามเหตุปัจจัย การเล่าเรื่องแบบน้อยได้มากของผู้กำกับ ที่แทรกอยู่ทุกองค์ประกอบของแต่ละฉาก ทำให้เราสามารถ คิดต่อได้ตามแต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคน ว่าเบื้องหน้าและเบื้องหลังของแต่ละชีวิตในเรื่องนั้น เป็นเช่นไร และจะเดินไปเช่นไร

แก่น: ธรรมชาติของจิต

"ถึงเราจะมีชีวิตดังราชา หรือเป็นแค่คนขัดส้วม อยู่กับสิ่ง สวยงาม หรือเฝ้าคอยชำระสิ่งปฏิกูลให้สะอาดหมดจดเพียงใด จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราต่างไม่สามารถชำระจิตใจ ของตัวเองได้" นี่คงเป็นสิ่งที่ผมสังเคราะห์ออกมาได้ หลังจากหนังจบแต่อารมณ์ไม่จบอยู่เป็นวัน การเล่าเรื่องอันน่าทึ่ง ของผู้กำกับ ไม่ใช่แค่เพียงเล่าเรื่องราวตามแบบฉบับเฉพาะตัวของญี่ปุ่น ที่ละเอียดอ่อน เงียบงันและลึกซึ้ง แต่คือการ ใช้ภาษาของภาพยนตร์ ได้ลึกโดยไม่ต้องพยายาม หรือทำตามแบบแผนใด ทั้งภาพยนตร์กระแสหลักหรือแม้แต่สายอาร์ต 

สารที่ผู้กำกับใช้แทรกมา ผ่านภาษาภาพยนตร์ เราล้วนเห็น มาตลอดทั้งเรื่อง จนมาระเบิดในฉากท้ายสุด การสลับภาพ ของชีวิตประจำวัน กับฉากเหนือจริงที่คนดูอาจไม่เข้าใจในความฝันของตัวละครเมื่อหมดวันนั้น หากเราดูแค่เปลือก ก็คงไม่คิดอะไร หากเราดูแค่เนื้อหา ก็คงเข้าใจความฝัน สุขเศร้าเหงาทุกข์ หรือสิ่งฝังใจตัวละคร แต่หากเรามองถึงแก่นแท้ในสัญญะของบางสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อ นี่คือเรื่องของ 'จิต-ใจ' ของคน ที่ต่อให้เราพยายามสร้างชีวิตตัวเอง ให้อยู่ในรูปรอย พยายามมองหาแง่งามเล็กน้อยในทุกขณะ หรือพยายามชำระล้าง ทำความสะอาดวัตถุมากมายเพียงใด แต่ท้ายสุดแล้ว เราก็ไม่อาจหนีความจริงที่ว่า ชีวิตของแต่ละคนล้วนเป็นไปตามจิตใจตน หากเรายังไม่อาจชำระจิตใจที่ฝังเรื่องราวหลากหลายร้อยพัน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตได้ เราก็คงไม่อาจหาความสงบอย่างแท้จริง เหมือนสิ่งที่ตัวเอกพรั่งพรู ผ่านสีหน้า และสายตาของตน ในฉากท้ายสุด

การแสดงเต็มสิบ (ถ้าคุณยังเยาว์คุณจะเห็นสายตาที่เปี่ยมสุข ถ้าคุณผ่านโลกมาคุณจะเห็นสายตาที่อ่อนล้า)
งานภาพยนตร์เต็มสิบ (ไม่มีขนบ แต่หนักแน่น ทำงานเหมือนไม่มีอะไรแต่มีอะไรเต็มไปหมด)
การเล่าเรื่องเกินสิบ (ทำให้นึกถึงงานเขียนของนักเขียนเยอรมันเช่นเดียวกับผู้กำกับ ที่เล่าเรื่องลึกซึ้งอย่างการแสวงหาธรรมะและการหลุดพ้น อย่าง Herman Hesse)

นี่คืองานชั้นครูที่เรียบง่าย เงียบงัน แต่แตกต่างแบบไม่ต้องพยายาม

10/10

ขอบคุณที่โลกนี้มีภาพยนตร์

ป.ล.
ผู้ช่วยทำความสะอาดของตัวเอก มีเด็กออทิสติกมาเล่นหูเขาทุกวันเพราะชอบหูเขามาก เขาพูดกับตัวเอกแบบซื่อ ๆ ใจความว่า

"ในโลกของเด็กคนนั้น คงชอบแต่หูเขาที่มีมีความหมาย แต่เขาอาจไม่มีตัวตน"

แล้วโลกของเราทุกคน ยึดสิ่งใดเป็นตัวตน?

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่