จีบแม่ค้า บ้ารำวง

กระทู้สนทนา
จีบแม่ค้า บ้ารำวง
โดย : ละเว้

"เขาว่าจีบแม่ค้า เขาว่าบ้ารำวง..." 🎵

แฮ่ ขออนุญาตขึ้นต้นด้วยบทเพลง 'แม่ค้าแม่ขาย' ซึ่งเป็นเพลงเก่า ๆ ของ 'กังวาลไพร ลูกเพชร' นักร้องขวัญใจวัยเด็กของผมกันสักหน่อย ไม่ทราบว่ามีใครเกิดทันหรือยังจำเพลงนี้กันได้บ้าง หรือจะมีแต่ผมที่แก่แต่ผู้เดียวเสียก็ไม่รู้นะ ฮ่า

บทเพลงที่ว่านี้นอกจากเป็นเพลงโปรดของผมแล้วยังถือเป็นการบันทึกวิถีชีวิตในอดีตที่เลือนหายไปกับกาลเวลาได้เป็นอย่างดี และวิถีชีวิตที่ว่าก็ตรงตามเนื้อเพลงท่อนแรกเลย 'จีบแม่ค้า บ้ารำวง' นั่นแหละครับ

ว่ากันด้วยเรื่องบ้ารำวงก่อน เท่าที่ทราบนั้นรำวงพัฒนามาจากรำโทน ซึ่งก็หลายปีดีดักก่อนผู้เขียนจะเกิดกันนานเลยทีเดียว ดังนั้นขอพูดถึงยุคสมัยที่ผู้เขียนเกิดทันจะดีกว่านะครับ... 

ตอนที่ผู้เขียนยังเด็กมาก ๆ นั้นแน่นอนว่าสภาพโดยรอบของหมู่บ้านที่อาศัยอยู่จะยังคงมีแต่ป่าดง ความเจริญยังคงห่างไกลเต็มที หนังกลางแปลงนานครั้งจะมีเล็ดลอดมาถึงหมู่บ้านของเราได้สักครา มหรสพสมโภชงานประจำปีของวัดในหมู่บ้านดีที่สุดก็คือรำวง ซึ่งก็จะไม่แตกต่างจากรำวงย้อนยุคในปัจจุบันสักเท่าไร

แม้จะเรียกว่ารำวงแต่ไม่ว่าอย่างไรเวทีรำวงก็มักมีการเต้นร่วมอยู่ด้วยเสมอ จึงกลายเป็น เต้นรำ และจังหวะสำหรับการเต้นรำนั้นก็มีหลากหลายทีเดียว ไม่ว่าจะแบบไทย ๆ อย่าง 'รำวง' 'ตะลุง' 'ม้าย่อง' หรือจะเป็นจังหวะสากลยอดฮิตอย่าง 'ชะชะช่า' (Cha cha cha) ที่เรานิยมเรียกกันว่า 'สามช่า'  และ 'โซล' (Soul) ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวะที่ฮิตไม่แพ้สามช่าเช่นกัน

นอกจากนั้นก็ยังมีจังหวะ 'รุมบ้า' (Rumba) บีกิน (Beguine) 'ซานตาน่า' (Santana) และอีกมากมาย 

ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่า จังหวะส่วนใหญ่ก็คือแนวเพลงหรือถูกเรียกตามแนวเพลงนั่นเอง ยกเว้น 'ซานตาน่า' ที่จะถูกเรียกตามชื่อวงดนตรีครับ

.
ส่วนที่จะว่าต่อไปนี้ไม่ทราบว่าถิ่นอื่นจะมีเหมือนบ้านผมไหมนะครับ แถวบ้านของผมนั้นนอกจากจังหวะต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วยังมีอีกหนึ่งจังหวะ หรือหนึ่งเพลง นั่นคือ 'ดาวล้อมเดือน' (เอาชื่อเพลงมาเรียกชื่อจังหวะ)

จังหวะนี้จะพิเศษหน่อย ถือว่าเป็นสีสันของงานเลยก็ว่าได้ อย่างหนึ่งก็คือคนที่ได้เต้นมักไม่ได้สมัครใจ แต่จะเป็นการบังคับกันกลาย ๆ เสียมากกว่า

เอ๊ะ ยังไง ติดตามต่อครับ

.
จังหวะดาวล้อมเดือนนี้การจะเล่นได้ก็ต้องมีฅนเหมารอบ และไม่ได้เหมาเพื่อเต้นเองแต่อย่างใด หากจะระบุเลยว่าเหมาจังหวะดาวล้อมเดือนให้ฅนนั้นฅนนี้หรือให้ใครขึ้นไปรำ

ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ผู้ถูกระบุชื่อจะไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ (นอกจากจะยอมเสียค่าปรับ) และเมื่อขึ้นไปรำกองเชียร์ก็จะเล่นเพลงรำวงซึ่งมีชื่อว่า 'ดาวล้อมเดือน' ตามที่กล่าว เพลงนี้มีเนื้อร้องประมาณว่า...

'ดาวล้อมเดือน เตือนหัวใจเศร้าหมอง เจ็บใจนักคู่รักเป็นสอง ไม่อยากแลมองคู่รักสองใจ...'

โดยการรำนั้นผู้ที่ขึ้นไปรำจะอยู่ตรงกลาง มีเหล่านางรำสวมกระโปรงบานรำเป็นวงล้อมรอบ (เหมือนดาวล้อมเดือนจริง ๆ) เมื่อจบเพลงนางรำก็จะขังฅนที่ถูกล้อมนั้นด้วยการจับมือกันเอาไว้ การจะทำให้ยอมปล่อยตัวลงจากเวทีได้ก็ต้องจ่ายเงินเป็นค่าไถ่ 

เรียกว่าจะรำหรือไม่รำก็ต้องเสียเงินอยู่ดีนั่นแหละครับ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเลือกที่จะขึ้นไปรำกันมากกว่า เพราะไหน ๆ ก็เสียเงินแล้วได้สนุกสักหน่อยก็ยังดี 

และฅนเหมารอบให้ขึ้นไปรำนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้สนิทชิดเชื้อกันเป็นอย่างดี จึงไม่มีใครถือสาอะไรนอกจากเฮฮากันไปเท่านั้น

.
การรำวงโดยทั่วไปสมัยนั้นยังถือว่ามีความสุภาพมากทีเดียว ลูกค้าที่ส่วนใหญ่คือบรรดาหนุ่ม ๆ ทั้งหลายเมื่อยื่นบัตรหน้าบันไดขึ้นไปบนเวทีแล้ว หมายตาใครไว้ก็ตรงไปโค้งคำนับเป็นการขอรำวงหรือขอเต้นด้วย ระหว่างรำหากมีใครขึ้นมาโค้งขอรำต่อแทนฅนที่รำอยู่ก็ต้องเสียสละออกจากเวทีไป ถือเป็นอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแบบนั้นครับ

.
มาว่ากันที่จีบแม่ค้าบ้าง เมื่อมีงานมีมหรสพก็ต้องมีแม่ค้านำของมาขายให้กับผู้มาเที่ยว พวกถั่วต้ม อ้อยควั่นอะไรประมาณนั้น และแม่ค้างานวัดสมัยก่อนจะต้องเป็นสาวโสดเท่านั้น (ใครมีลูกสาวจะได้เปรียบหน่อย) ที่ว่าต้องเป็นสาวโสดเพราะสมัยก่อนการจีบแม่ค้าดูจะเป็นอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากเพลง 'แตงเถาตาย' ของ 'ไวพจน์ เพชรสุพรรณ' อีกหนึ่งเพลงที่พูดถึงการจีบแม่ค้า ซึ่งเพลงนี้จะเหมือนมีการตัดพ้อด้วยว่ามีสามีแล้วยังมา (หลอก) เป็นแม่ค้าอะไรทำนองนั้น

ส่วนเพลงแม่ค้าแม่ขายที่ยกมาในช่วงแรกเนื้อหาจะเปรียบเปรยประมาณว่า การจีบแม่ค้ากับการหลงรักนางรำล้วนไม่ต่างกัน เพราะต้องใช้เงินเข้าทุ่มเหมือนกัน จีบแม่ค้าก็ต้องหมั่นอุดหนุนขนมนมเนย บ้ารำวงก็ต้องหมั่นซื้อบัตรซื้อตั๋วขึ้นไปรำ ที่สำคัญทั้งแม่ค้าและนางรำนั้นต่างมีตัวเลือกมากมาย สุดท้ายส่วนใหญ่ก็จึงหมดตัวกันไปฟรี ๆ 

ครับ ที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือวิถีชีวิตส่วนหนึ่งในอดีตที่หลายฅนอาจลืมเลือน และอีกหลายท่านอาจไม่เคยได้รับรู้เท่านั้นครับ.

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่