JJNY : 5in1 นิติมช.ขึ้นป้าย│ลุยตรวจสนามฟุตซอล│กสม.จี้แก้สิทธิให้เท่าบัตรทอง│ขีดแข่งขันอุตดิ่งหนัก│กาตาลุญญาประกาศภัยแล้ง

นิติ มช. ขึ้นป้าย “ยกเลิก ≠ ล้มล้าง” – “นิรโทษกรรมประชาชน”
https://prachatai.com/journal/2024/02/107888
  
 
นิติศาสตร์ มช. ขึ้นป้ายผ้าเขียนข้อความ “ยกเลิก ≠ ล้มล้าง” และ “นิรโทษกรรมประชาชน” หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเสนอแก้ ม.112 ของ “พิธา – พรรคก้าวไกล” เป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครอง
 
2 ก.พ. 2567 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นป้ายผ้าเขียนข้อความ “ยกเลิก ≠ ล้มล้าง” และ “นิรโทษกรรมประชาชน” สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเสนอแก้ ม.112 ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “พรรคก้าวไกล” ในการหาเสียงการเลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้พิธาและพรรคก้าวไกลเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 อีกทั้งไม่ให้มีแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ ม.49 วรรค 2 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ม.74



2ส.ส.ก.ก. ควงกมธ.ป้องกันปราบปรามทุจริต ลุยตรวจสนามฟุตซอลลอยน้ำหลังเพจดังแฉ โยนป.ป.ช.สอบใช้งบ
https://www.matichon.co.th/region/news_4406375

2 ส.ส.ก้าวไกล ควง กมธ.ป้องกันปราบปรามทุจริต ลงพื้นที่ตรวจสอบสนามฟุตซอลลอยน้ำย่านปากเกร็ด หลังเพจดังแฉ โยน ป.ป.ช.ตรวจสอบความเหมาะสมการใช้งบ
 
จากกรณีที่เพจข่าว “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” ได้โพสต์ภาพสนามฟุตซอลลอยน้ำซึ่งตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะสวนสมเด็จศรีนครินทร์ ของทางเทศบาลนครปากเกร็ด พร้อมกับเปิดเผยว่า เทศบาลนครปากเกร็ดได้โยกงบเงินเดือนครูศูนย์เด็กเล็กกับประถม 2 รายการเป็นเงิน 16 ล้านบาท แล้วนำมารวมกับงบประมาณนั้น
 
ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีรัจชัย พันธุมาศ รองประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายนพดล ทิพยชล โฆษกคณะกรรมาธิการ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 4 จ.นนทบุรี นายปรีติ เจริญศิลป์  รองประธานคณะกรรมาธิการ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 5 จ.นนทบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ภาค 1 และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.จังหวัดนนทบุรี ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบสนามฟุตซอลลอยน้ำดังกล่าว ที่อยู่ภายในสวนสาธารณะ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถนนศรีสมาน ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยพบว่านอกจากสนามกีฬาฟุตซอลลอยน้ำ มูลค่า 60 ล้านบาทแล้ว ยังมีสนามออกกำลังกายลอยน้ำ มูลค่าอีก 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ติดกันในบึงสวนสาธารณะด้วย ซึ่งสนามออกกำลังกายลอยน้ำก็ถูกร้องเรียนด้วยเช่นกัน ในเรื่องของความจำเป็นและงบในการจัดสร้างที่สูงถึง 20 ล้านบาท โดยมีนายสุทร บุญสิริชูโต ปลัดเทศบาลนครปากเกร็ด มาคอยชี้แจงตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการ
 
นายสุทรกล่าวว่า สนามกีฬาฟุตซอลลอยน้ำแห่งนี้ใช้งบโอนจากงบที่เหลือจากการจัดกิจกรรมโครงการต่างๆ โอนมาทำสนามแห่งนี้โดยใช้เวลาสร้างไม่ถึง 1 ปี ซึ่งในเรื่องขั้นตอนการสร้างเราทำตามกระบวนการทั้งหมด มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ สัญญาดำเนินการ 210 วัน หลังสร้างเสร็จเปิดให้บริการมีประชาชนมาใช้บริการเฉลี่ย 70 คนต่อวัน โดยเปิดให้ใช้ตั้งแต่เวลา 06.00 ถึง 20.00 น. เป็นช่วงที่เด็กนักเรียนเลิกเรียนมาใช้สนามดังกล่าวออกกำลังกาย ซึ่งสนามฟุตซอลลอยน้ำแห่งนี้เทศบาลเปิดเป็นแห่งแรกที่เปิดให้บริการฟรี ถ้าเป็นสนามของเอกชนคิดค่าบริการประมาณ 200 บาทต่อ 1 คน ซึ่งสวนสาธารณะแห่งนี้มีเนื้อที่ 102 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 65 ไร่ พื้นดินที่เหลือก็เป็นสวนสาธารณะเต็มพื้นที่ จึงจำเป็นต้องสร้างเป็นสนามกีฬาลอยน้ำ โดยสนามกีฬาแห่งนี้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังจุดอื่นๆ ได้
 
ส่วนการก่อสร้างทางเทศบาลนครปากเกร็ดใช้วิธีเปิดประมูลโครงการเมื่อปี 2562 ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตอนนี้ใช้งานมาแล้วประมาณ 4 ปี เปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 16.00-20.30 น. ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านในพื้นที่แล้วได้รับความเห็นชอบ ยืนยันไม่มีการทุจริตในการก่อสร้างสนามฟุตซอลลอยน้ำแห่งนี้อย่างแน่นอน
 
นายธีรัจชัย พันธุมาศ รองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้ตนและคณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ร่วมกับ ส.ส.ในพื้นที่ หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบการสร้างสนามฟุตซอลลอยน้ำ ที่ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงทุ่นลอยน้ำ งบ 20 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2562 ตอนนี้ใช้งานมากว่า 5 ปีแล้ว เรามาดูในส่วนที่มีภาคประชาชนร้องเรียน และตรวจสอบโดยละเอียด จากนี้จะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในส่วนของเทศบาลนครปากเกร็ดได้ชี้แจงเป็นที่น่าพอใจ เราให้ทางหน่วยงานท้องถิ่นเป็นคนตัดสินใจ ทั้งเรื่องของความคุ้มค่า ระยะการใช้งาน
 
ส่วนที่มาของโครงการและราคามันเหมาะสมหรือไม่ หรือการไปเช่าสถานที่อื่น การใช้งบบำรุงรักษา ทราบว่าระยะเวลาในการใช้งานคาดการณ์ไว้ประมาณ 20 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดให้ ป.ป.ช. เป็นฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งในวันนี้ทางเทศบาลนครปากเกร็ดมีการชี้แจงเป็นที่น่าพอใจและเรามองเห็นถึงประเด็นหลักแล้ว รายละเอียดทาง ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบเต็มที่แล้ว ขอบคุณที่ให้ข้อมูลและช่วยกันตรวจสอบ
 

 
กสม.ชี้ ประกันสังคม ให้เบิกทำฟัน 900 บาท ละเมิดสิทธิมนุษยชน จี้แก้สิทธิให้เท่าบัตรทอง
https://www.matichon.co.th/local/news_4406396

กสม. ชี้ ประกันสังคมจำกัดวงเงินค่าบริการทันตกรรม ส่งผลให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอให้เร่งแก้ไข อย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับบัตรทอง
 
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อเดือนมกราคม 2566 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็น ได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แตกต่างจากผู้มีสิทธิในอีกสองระบบที่สามารถเบิกได้ตามความจำเป็น ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน
 
ในปี 2559 คณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็น ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมและเพิ่มความรุนแรงของโรคทันตกรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน จึงขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
การที่คณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของผู้ถูกร้องได้ประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตนเบิกค่าบริการทันตกรรมรวมกันทุกรายการได้ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมส่วนใหญ่กำหนดอัตราค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานเกินกว่า 900 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกันตนไม่สามารถเบิกได้ ส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้เพียง 1 – 2 รายการ และจำนวนหัตถการส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเต็มวงเงิน 900 บาท อาทิ ขูดหินปูน 900 – 1,800 บาท อุดฟัน 800 – 1,500 บาท ถอนฟัน 900 – 2,000 บาท ผ่าฟันคุด 2,500 – 4,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดวงเงินที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการดูแลทันตสุขภาพของประชาชนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และทันตแพทยสภา
นอกจากนี้ สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ยังไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพอีกหลายประเภท เช่น ค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและรักษาสุขภาพช่องปากและฟันทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ ซึ่งแตกต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง และผู้มีสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐที่สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีดังกล่าวได้
 
กสม. เห็นว่า การที่คณะกรรมการประกันสังคม กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ให้เบิกได้เฉพาะกรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รวมกันทุกรายการไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี เป็นการกำหนดวงเงินการเบิกค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นด้านสุขภาพช่องปากและฟัน ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการทันตกรรมที่จำเป็นสำหรับผู้ประกันตนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มวัยทำงาน จึงเป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพของผู้ประกันตนในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน
 
อย่างไรก็ตาม กสม. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า บริการทันตกรรมเป็นเพียงกรณีตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุขไทย ที่มีมายาวนาน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกันตน หากพิจารณาในภาพรวมของประเทศจะพบว่า ประชาชนถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมี 3 ระบบกองทุนแยกจากกัน ภายใต้กฎหมายในเรื่องหลักประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงสิทธิในสุขภาพที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนซึ่งควรได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 มกราคม จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) และคณะกรรมการการแพทย์ ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง
 
นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่