ธปท. ขยับ! เรียกแบงก์พาณิชย์ เช็กต้นทุนหลังฟันกำไรสูงปรี๊ด ทบทวนดอกเบี้ย

https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_8052406

ธปท.ออกโรงเรียกแบงก์พาณิชย์ เช็กต้นทุน หลังฟันกำไรสูงปรี๊ด กนง.รับเศรษฐกิจโตผิดคาด จากปัญหาโครงสร้าง พร้อมทบทวนนโยบายดอกเบี้ย
วันที่ 15 ม.ค.2567 น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เห็นว่าดอกเบี้ยไทยสูงเกินไป และกำไรธนาคารพาณิชย์สูง ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนว่า ธปท.เตรียมเรียกธนาคารพาณิชย์เข้ามาหารือ
 
ที่ผ่านมาได้คุยตลอดเวลาและต้องคุยมากยิ่งขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ให้มากกว่านี้ ต้องทำให้ธนาคารทำมากกว่านี้ เช่น ดูแลคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินกู้เป็นคนละกลุ่มกับเงินฝาก

ทั้งนี้ เรื่องกำไรธนาคารพาณิชย์ มองว่าเป็นกลไกตลาด ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาการส่งผ่านดอกเบี้ยเงินฝากน้อย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แต่ปัจจุบันหลายธนาคารเริ่มขยับเงินฝากมากขึ้นทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 2.95% สูงขึ้นก่อนโควิด ยังไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการในการประกอบธุรกิจ ทำให้ต้องเข้าไปดูว่ามีการไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจหรือไม่ สามารถปรับลดส่วนต่างตรงนี้ได้หรือไม่

“ธปท.สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์เก็บดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า ส่วนนี้ลูกค้าสามารถเปิดเผยข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ รวมทั้งจะเร่งสร้างการแข่งขันให้มากขึ้น ปัจจุบันได้เห็นชอบ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ไปแล้ว 3 ราย ก็จะไปติดตาม รวมทั้งดูสภาพแวดล้อมการเงินอีกครั้ง”

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้สูงไปหรือไม่ ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวช้าและเงินเฟ้อติดลบนั้น ธปท.เข้าใจและเห็นใจ หลายคนเจอเศรษฐกิจไม่ดี มีปัญหาปากท้อง ธปท.และกนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง นโยบายการเงินแก้ไม่ได้ง่าย ๆ หลายอย่างต้องใช้ยาและการรักษาที่ตรงต้นตอของปัญหา
 
การลดดอกเบี้ย มีความเสี่ยง ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ แต่อาจมีปัญหายากเกินแก้ เช่น การก่อหนี้เกินตัว รวมทั้งการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (Search for yield)
ส่วนการที่เงินเฟ้อติดลบแต่ทำไมไม่ลดดอกเบี้ย สาเหตุคือจากปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน การลดดอกเบี้ยไม่สะท้อนกำลังซื้อ เพราะเงินเฟ้อลดลงจากปัญหาอุปทาน การผลิตที่คลี่คลายลงในบางสินค้า ประเมินว่าเงินเฟ้อจะติดลบยาวถึงเดือนก.พ.นี้ และค่อยๆเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1-2% สิ้นปี 2567 โดยธปท.รับฟังจากทุกภาคส่วน จากรัฐบาล กระทรวงการคลัง นายกฯ นักวิเคราะห์ที่ให้มุมมองมีประโยชน์

มีหลายปัจจัยต้องคำนึงทั้งระยะสั้นระยะยาว ได้ทบทวนเสมอว่ามีจุดยืนสอดคล้องอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ ยืนยันไม่มีการประชุม กนง.นัดพิเศษ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นปกติ ตลาดการเงินทำงานปกติ ไม่มีเหตุผลเรียกการประชุมนัดพิเศษ

อย่างไรก็ดี กนง. พร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการยึดนโยบายจนไม่มีการปรับเปลี่ยน ที่ผ่านมาการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนการชั่งน้ำหนักและพิจารณาปัจจัยทั้งหมด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยจุดยืนที่ กนง. อยากให้มีในภาวะการเงินปัจจุบัน คือ อยากให้มีการสมดุล และเป็นกลาง ไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

“ข้อมูลตอนนี้ที่ชัด คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไปต่อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อนและอาจผิดคาด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างข้อจำกัดให้เศรษฐกิจมากกว่าที่คิด ซึ่งต้องกลับมาดูว่ากระทบกับแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่ง กนง.จะเอาข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาว่ามีนัยยะมากน้อยแค่ไหน อยากให้เข้าใจว่านโยบายการเงินไม่ได้มีอะไรที่ถูกต้อง 100% เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า การทำงานของตลาดทุน ตราสารหนี้เอกชน ยืนยันทำงานปกติ ส่วนเรื่องความเสี่ยงการชำระคืนจะครบกำหนด 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ ส่วนใหญ่ครบกำหนดไตรมาสแรก มองว่าปัญหาการไม่สามารถชำระคืนได้เป็นปัญหาเฉพาะรายเฉพาะบริษัท แต่มั่นใจไม่ขยายไประบบตลาดการเงิน และผลกระทบหุ้นกู้กลุ่มเสี่ยงต่อกองทุนรวมมีน้อยมาก
 
“การพิจารณาแอลทีวีสินเชื่อบ้านนั้น ต้องชั่งน้ำหนักผู้กู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าดูสถานการณ์จะเห็นว่าผู้กู้สัญญาแรก ต้องการบ้านหลังแรกจริง แอลทีวีไม่ได้กระทบ มีแอลทีวี 110%, จำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สินเชื่อผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น ภาพใหญ่คงต้องมาดูแต่การเห็นสภาพปัจจุบัน ความจำเป็นต้องดูความสมดุลต่างๆด้วย”

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย ข่าวสด
ติดตามข่าวสารต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.khaosod.co.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่