[กระทู้มีสาระ] ระดับกำไรที่เหมาะสมของธนาคารพาณิชย์

กลายเป็นประเด็นที่วิจารณ์กันสนุกปาก เมื่อกำไรของธนาคารพาณิชย์มีทีท่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ หลายคนเดือดดาลกับกำไรที่พวกเขาคิดว่า “มากเกินไป” ซึ่งก็แปลกดี เพราะพวกเขาไม่เคยระบุ (และก็คงไม่รู้) ว่าตัวเลขที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร แต่ก็ยังคงมั่นใจว่าธนาคารพวกนี้ต้องฟันกำไรเกินควรอยู่แน่ ๆ

ดังนั้น เรามาดูกันแบบมีหลักวิชาดีกว่า ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยควรมีกำไรมากหรือน้อยเพียงใด

-----------------------------------

1) เริ่มจากหลักพื้นฐานเรื่องการสร้างมูลค่า

หากธนาคารเอาเงินทุนมาใช้ แล้วสามารถหาดอกผลได้ชนะ “ต้นทุน” ของเงินทุนนั้น ๆ อย่างนี้เรียกว่า สร้างมูลค่า และถ้ากลับกัน คือ แพ้ หรือทำกำไรได้น้อยกว่าต้นทุน ก็เป็นการ ทำลายมูลค่า

ตัวอย่างเช่น เงินทุนจากผู้ถือหุ้นมีต้นทุน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และแบงก์เอามาหากำไรได้ ROE = 8% แบบนี้ คือ สอบตก ดำเนินกิจการไปก็ทำลายมูลค่าไปเรื่อย ๆ สักวันก็ล่มสลาย ไม่ยั่งยืน

* ข้อสังเกต: หากจะให้ยั่งยืน ต้อง ROE >= ต้นทุนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น

2) ต้นทุนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น หาได้จากไหน?

อ้างอิงหลักวิชาการแบบไม่ลงลึกด้วยโมเดลของกอร์ดอน ต้นทุนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น คำนวณได้จาก อัตราการเติบโต (g) บวกด้วย อัตราผลตอบแทนเงินปันผล หรือยีลด์ (y)  ที่ผู้ถือหุ้นคาดหวัง

พูดง่าย ๆ คือ

ต้นทุนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น = g + y

ซึ่งในภาวะปัจจุบัน เราอาจประเมินเงินเฟ้อระยะยาว 2 เปอร์เซ็นต์ บวกการเติบโตของ GDP ราว 2.5 เปอร์เซ็นต์ รวม ๆ แล้ว อัตราการเติบโต (g) เท่ากับ 2% + 2.5% = 4.5%

ส่วนตัว y หรือยีลด์เงินปันผลธนาคาร นักลงทุนอาจเทียบเคียงกับพันธบัตรระยะยาวของธนาคาร เช่น ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร 4.6 เปอร์เซ็นต์ นักลงทุนหุ้นก็อาจคาดหวังยีลด์เงินปันผลที่ไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ y = 4.6%

ดังนั้น ต้นทุนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น = g + y ก็จะเท่ากับ 4.5% + 4.6% = 9.1%

ในทางปฏิบัติ เราอาจบวกส่วนเพิ่ม (premium) เข้าไปอีกประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงเฉพาะตัวของธุรกิจธนาคาร เช่น ความเสี่ยงจากโครงสร้างเงินทุน จากวัฏจักรเศรษฐกิจ และจากกฎระเบียบของทางการ เป็นต้น

[หากท่านใดมีสมมติฐานเป็นอย่างอื่น สามารถเปลี่ยนตัวเลขได้ แต่อย่าลืมว่าจะต้องมีเหตุผลรองรับ]

* สรุป คือ ต้นทุนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น = 10.1%

3) รวมข้อ 1 กับข้อ 2 เข้าด้วยกัน จะได้

ROE >= 10.1%

-----------------------------------

คราวนี้มาดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกันบ้าง ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีค่า ROE อยู่ที่ 8.2 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย)

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เท่ากับว่าสถานการณ์ในระบบธนาคารไทยกำลัง “ตรงข้าม” กับคำกล่าวหา เพราะ ROE ที่ 8.2 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าต้นทุนของเงินทุน 10.1 เปอร์เซ็นต์ แสดงถึงการทำลายมูลค่า และด้วยข้อมูลเช่นนี้ ถ้าเราตรวจสอบด้วยโมเดลของกอร์ดอน ค่า P/BV ที่เหมาะสมของหุ้นธนาคาร จะควรอยู่ที่ 0.66 เท่า

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ซึ่งเมื่อหันไปดูในตลาดหุ้น นักลงทุนก็ให้ P/BV หุ้นแบงก์อยู่ที่ราว ๆ 0.65 เท่า สอดคล้องกับโมเดลของกอร์ดอนนั่นเอง นี่คือประสิทธิภาพของตลาดทุน

คำถามต่อไปแบบบ้าน ๆ เราจะกดขี่ธนาคารต่อไปได้ไหม ประชาชนเจ็บปวดแล้ว ให้แบงก์เจ็บปวดบ้างสิ

คำตอบ คือ ได้ครับ แต่อย่านานนัก

เพราะระบบธนาคารมีความเข้มแข็งพอที่จะรองรับมือเท้าได้ระยะหนึ่ง ถ้ามูลค่าถูกทำลายไปเรื่อย ๆ สุดท้ายนักลงทุนก็วิ่งหนี เมื่อภาคการเงินมีปัญหา จำเป็นต้องขอเพิ่มทุนครั้งใหม่ ก็จะไม่เหลือใครยอมใส่เงินให้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนต่ำ เป็นภาระที่รัฐบาลต้องเข้ามาอุ้ม

ซึ่งแม้แต่รัฐเองก็อาจอุ้มไม่ไหว หากเป็นการล่มสลายในเชิงระบบ คือ มีแบงก์หลายแห่งเกินไปที่มีปัญหาพร้อมกัน ถึงตอนนั้นเราจะเวียนกลับไปแถว ๆ วิกฤติต้มยำกุ้ง จมหนี้กันไปชั่วลูกชั่วหลาน... อีกครั้ง

และใครจะรู้ ต้มยำกุ้ง 2 อาจใหญ่กว่าต้มยำกุ้ง 1 ก็เป็นได้ ทางที่ดีเราอย่าแก้ปัญหาหนึ่งด้วยการสร้างอีกปัญหาหนึ่งเลย

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่