เชียงใหม่ - เที่ยวเมืองพร้าวตามใจฉัน

เมืองป้าว หรือ เมืองพร้าว หรือ อำเภอพร้าว 
เป็นเมืองที่เป็นที่ราบระหว่างภูเขาแข็งแกร่งดังเป็นกำแพงหินล้อมรอบ มีทางติดต่อไป เมืองฝาง เวียงป่าเป้า แม่แตง เชียงดาว
เป็นแหล่งปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีน้ำดี จากภูเขารอบ ๆ 


นอกจากได้ไปกราบหลวงปู่แหวนเมื่อปี พ.ศ. 2519 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีทางตัดตรงไปพร้าว
ต้องใช้เส้นทางอ้อมไปอำเภอแม่แตง ผ่านวัดบ้านปง - วัดอรัญวิเวก ไปแม่หอพระ แล้วจึงจะเลี้ยวไปวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว

ภายหลัง เมื่อถนนสาย ทล.1001 เชียงใหม่ - พร้าว สร้างเสร็จ
ปี 2555 เพิ่งจะได้มีโอกาสใช้เส้นทางนี้วนเที่ยวอำเภอพร้าว ไปออกที่เมืองงาย อำเภอ เชียงดาว
ปี 2557 ขับรถเล่นไปซื้อข้าวที่เมืองพร้าว
ปี 2566 ล่าสุด ชวนกันไปหาอาหารเวลาเที่ยงที่พร้าว กะแค่ถึงเวลาตรงไหนก็แวะที่นั่น
รวบสรุปสามครั้งที่หาเรื่องไปพร้าวก็แวะสถานที่เหล่านี้


เมื่อลงเขาถึงโหล่งขอด จะมองเห็นรูปปั้นหลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล) ตอนไปเมื่อปี 2555 ยังมีแค่ซุ้มประตู และเจดีย์
เป็น สถานที่บรรลุธรรมของหลวงปู่ขาว ณ เสนาสนะป่ากลางทุ่งนา บ้านโหล่งขอด
หลวงปู่ขาวท่านได้เห็นข้าวในไร่ชาวเขากำลังสุกเหลืองอร่าม
จึงคิดได้ว่า 
ข้าวมันงอกขึ้นมาเพราะมีเชื้อพาให้เกิด
ใจที่พาให้เกิด-ตาย ไม่หยุด ก็น่าจะมีเชื้อภายในเช่นเดียวกับเมล็ดข้าว
เมื่อท่านตัดเชื้อนั้นออกจากใจได้ก็ยุติการงอก
ดั่งข้าวสุก หมดการงอกอีกต่อไป  จิตสุก หมดการเกิดตายอีกต่อไป

วัดดอยแม่ปั๋ง
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นวัดที่หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เคยจำพรรษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จนมรณภาพในปี พ.ศ. 2528
ตอนนั้น พระอาจารย์หนูเจ้าอาวาสวัดท่านเป็นผู้ดูแลหลวงปู่มาตลอด
กุฏิหลวงปู่แหวน

กุฏิไม้ที่เรียกว่า โรงย่างกิเลส หรือ โรงไฟ ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่แหวนเท่าองค์จริง
กุฏิพระอาจารย์หนู
อุโบสถ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่แหวน
วัดถ้ำดอกคำ
เป็นสถานที่ที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต - วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร ได้มาพักบำเพ็ญเพียร
ต่อมามีหลวงปู่แหวน - วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว เชียงใหม่
หลวงปู่สารณ์ - วัดป่าสุจิตตะสังขวนาราม บ้านสังข์ ต.กุดน้ำใส อ.ค้อวัง จ.ยโสธร
หลวงปู่เทสก์ - วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ หนองคาย
หลวงปู่อ่อนสี - วัดพระงามศรีมงคล อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
ได้มาบำเพ็ญเพียรที่นี่
วัดกลางเวียง
เดิมชื่อวัดศรีบุญเรือง สร้างราว พ.ศ. 2414 โดยพระยาเขื่อนเมือง (บุญมา) เจ้าเมืองพร้าวขณะนั้น
โบสถ์วัดกลางเเวียง สร้างเมื่อพ.ศ. 2472
เป็นที่ตั้งของศาลหลักเมืองพร้าว
ชาวพร้าวจัดงานประเพณีบูชาเสาหลักเมืองหรือบูชาอินทขีล เช่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่
ดอยนางแล มีตำนานมุขปาฐะ - เล่าสืบต่อกันมาว่า
ดอยนางแลเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระเจ้าแสนคำลือ ที่ถูกส่งไปปกครองเวียงหิน
พระเจ้าแสนคำลือเป็นโอรสของพระเจ้าพรหมมหาราช 
( เจ้าพรหมมหาราชเป็นผู้ตีเอาเมืองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น คืนได้จากพวกขอม (กรอม จากเมืองอุโมงคเสลา) และขับไล่ไปถึงกำแพงเพชร )
ต่อมาดวงแก้วชะตาเมืองสูญหาย พระเจ้าแสนคำลือจึงสละราชสมบัติให้พระเจ้าแสนหวีผู้เป็นพระอนุชาปกครองต่อ แล้วเสด็จออกผนวชนุ่งขาวห่มขาว อยู่บนภูเขาด้านทิศตะวันตกของเวียงหิน
พระนางเจ้าศรีสุชาดาพระราชชายาขอติดตามออกผนวชด้วย แต่พระเจ้าแสนคำลือไม่ทรงอนุญาต พระนางจึงอธิษฐานบวชนุ่งขาวห่มขาวอยู่บนหอคอยกลางใจเมืองเวียงหิน
พระนางเจ้าศรีสุชาดาทรงบำเพ็ญปรมัตถะบารมี คือบารมีชั้นยอดเยี่ยม เมื่อบำเพ็ญให้เต็มที่จะได้ตรัสรู้เป็นพุทธะ
พระนางไม่เสวยพระกระยาหารติดต่อกันนานถึง 12 วัน ในที่สุดสิ้นพระชนม์บนหอคอย โดยพระเนตรทั้ง 2 ยังจ้องมองไปที่ภูเขาที่พระสวามีทรงบวชอยู่
พระเจ้าแสนหวีได้ถวายพระเพลิงบรมศพของพระนาง ปรากฎว่าพระอัฐิกลายเป็นพระธาตุ ได้อัญเชิญขึ้นไปถวายพระเจ้าแสนคำลือดาบส
พระเจ้าแสนคำลือดาบสจึงรับสั่งให้สร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบนยอดเขาเพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุไว้ ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุดอยนางแล”
สถานที่ปฏิบัติธรรมของพระเจ้าแสนคำลือดาบส ปัจจุบันเป็นสำนักปฏิบัติธรรมพระธาตุดอยนางแล 
ในภาพมองลงมายังเมืองพร้าว ข้ามเขาข้างหน้าเป็นอำเภอเวียงป่าเป้า เชียงราย

ที่นี่ได้รับการบูรณะให้ยิ่งใหญ่โดยอดีตพระนิกร
ตอนที่เราไปอดีตพระนิกรเพิ่งเสียชีวิต กำลังจะฌาปนกิจ ก็ค่อนข้างเงียบเหงาแต่สะอาดสะอ้าน

วัดพระธาตุกลางใจเมือง (สะดือเมือง)
สร้างขึ้นในสมัย พญากือนา ทรงประทานนามว่า วัดสะดือเมือง
ถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างเมื่อล้านนาถูกยึดครองโดยพม่า
พ.ศ. 2472 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับนิมนต์มายังอำเภอพร้าว มาพักที่วัดสันทราย 1 คืน 
แล้วท่านได้บอกคณะศรัทธาที่มาทำบุญว่า ท่านจะสร้างวัด ที่ไม่ใช่วัดสันทราย ซึ่งเมื่อคืนมีรุกขเทวดามาอาราธนาให้สร้างวัดที่สำคัญยิ่งมาแต่อดีต 
อยู่ห่างจากวัดนี้ไปทางทิศตะวันออก
ตรงวัดร้างที่มีกองอิฐองค์พระธาตุซึ่งพังลงมา ท่านได้พบศิลาจารึกหินสีดำนิลอ่านได้ว่า
วันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 7 ค่ำ ปีชวด พ.ศ. 1928 กือนาธรรมมิกราชา ( ผู้สร้าง ) วัดนี้ชื่อว่าสะดือเมือง
ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงสร้างวัด บรรจุสิ่งของที่พบและหินสีดำไว้ในองค์พระธาตุ ตั้งชื่อใหม่ว่า วัดพระธาตุกลางใจเมือง 
วัดนี้ไม่ได้ลงรถเพราะเจ้าถิ่นเยอะ ... มาก
วัดหนองอ้อ
ไปวัดนี้เพราะไปตามหาพระเจ้าฝนแสนห่า พอดีที่วัดมาพิธีส่งสการท่านเจ้าอาวาส จึงมีนกหัสดีลิงค์รอนำพาท่านไปสู่สวรรค์
วัดนี้ได้สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2414 พร้อมกับการสร้างเวียงพร้าว (ใหม่) สมัยพญาเขื่อนเมือง โครงสร้างหลีงคาม้าต่างไหมแบบล้านนา
เป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าฝนแสนห่า
ซึ่งพบอยู่ในบริเวณวัดร้าง (ห่าง) สันป่าเหียง หรือ วัดเวียงยิง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของซากเวียงโบราณเก่า คือ เวียงเงิน
ที่พญามังรายมหาราชสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 1824 พอดีหาไปหามาก็เจอแนวคล้ายคูน้ำคันดิน ในรูปลองขีดแนวดู
ไม่ทราบว่าใช่หรือเปล่านะ
โดยประมาณปี 2450 ชาวบ้านหาของป่า ฝนตกลงมาตลอดจึงหาที่หลบฝน ได้พบเห็นเศียรพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน
เจ้าอาวาสวัดหนองอ้อขณะนั้น ร่วมกับทุกภาคส่วนขุดขึ้นมาจากพื้นดินแล้วบรรทุกเกวียนมาวัดหนองอ้อ
ในขณะแห่อัญเชิญองค์พระ มีปรากฏการณ์ฝนตกตลอด
ดังนั้นหากปีไหนฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวเมืองจะอาราธนาอัญเชิญองค์พระเจ้าฝนแสนห่า ออกมาทำพิธีแห่ขอฝน
เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ประทับสมาธิราบ สังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี ศิลปะเชียงแสนยุคหลัง
คือได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย โดย
สะโอดสะองขึ้นไม่อวบอ้วนบึกบึน พระพักตร์ยาวเป็นรูปไข่มากขึ้น - เราว่าพระพักตร์คล้ายหลวงพ่อวัดดวงดี ที่เชียงใหม่มาก
พระศกทำเป็นเส้นละเอียด มีไรพระศกเป็นเส้นบางๆ
ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี ประทับสมาธิราบ 
วัดป่าพระอาจารย์มั่น

ประมาณปี พ.ศ. 2481 หลวงปู่มั่น ได้มาจําพรรษา ณ บริเวณวัดป่าแดงร้าง บ้านแม่กอย ตําบลเวียง
พร้อมกับพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ เช่น ท่านหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่สิม ซึ่งจะพักตามเสนาสนะป่ารอบ ๆ วัด
จนพ.ศ. 2482 หลวงปู่มั่นจึงได้ไปยังอุดรธานีตามคําอาราธนาของพระธรรมเจดีย์ (จุม พนฺธุโร) วัดโพธิสมภรณ์ หลังจากได้มาอยู่ภาคเหนือนานถึง 11 พรรษา
วัดทุ่งน้อย
แวะเป็นทางผ่านอ้อมเมือง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่