เขียน ณ วันที่ 19 มี.ค 2566
สัปดาห์ก่อนดูเหมือนว่าคนในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนต่างก็วุ่นวายสับสนกันทั่วโลกเนื่องจากการล่มสลายของธนาคาร SVB หรือ Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่ให้บริการแก่บริษัทสตาร์ทอัพและดิจิทัลในคาลิฟอร์เนีย และอีกหลายแบงก์ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจนี้
นอกจากนั้น ก่อนสิ้นสัปดาห์ แบงก์เครดิตสวิสซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่ “ระดับโลก” ของสวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มมีปัญหาในเรื่องของทุนที่ไม่เพียงพอเพราะธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนหนักและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นกองทุนจากประเทศตะวันออกกลางปฎิเสธที่จะเพิ่มทุน ทำให้ราคาหุ้นที่ตกต่ำอยู่แล้ว ตกลงไปอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะคนกลัวว่าแบงก์อาจจะต้องล้มในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของทั้งสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์ดูเหมือนว่าจะรีบเข้าแทรกแซงและช่วยเหลือทันทีจนทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามรุนแรงต่อเนื่องไปถึงธนาคารอื่นอย่างเป็นระบบ
เฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกลางของอเมริกาได้ประกาศค้ำประกันเงินฝากทั้งหมดของ SVB ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ฝากเงินทั่วไปว่า เงินฝากของตนเองในแบงก์และแบงก์อื่นจะไม่หายไป ไม่จำเป็นต้องไปถอนเงินออกพร้อม ๆ กันซึ่งจะทำให้เกิด “Bank Run” ซึ่งธนาคารจะมีเงินไม่พอให้ถอนและต้องล้มละลายทันที ส่วนของสวิสเอง แบงก์ชาติก็จัดหาเงินเป็นสภาพคล่องหลายหมื่นล้านเหรียญให้ในกรณีที่มีคนขอถอนเงินจำนวนมาก
ถึงวันนี้เอง ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์แบงก์รันและแบงก์ล้มที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในอเมริกาและยุโรปนั้นจบลงไปแล้ว ยังมีโอกาสเหมือนกันที่แบงก์จะล้มเหลวต่อไปต่อเนื่องเป็นระบบโดยเฉพาะในยุโรปที่แบงก์เครดิตสวิสมีขนาดใหญ่มากและเป็น “แบงก์หลัก” ที่การแก้ปัญหาอาจจะทำได้ยากกว่าและผลกระทบรุนแรงกว่า ซึ่งถ้ามันส่งผลต่อเนื่องไปยังแบงก์อื่นก็อาจจะทำให้เกิด “วิกฤติ” ทางการเงินขึ้นได้
นั่นทำให้ผมหวนนึกถึงวันที่ผมยังทำงานอยู่ในฐานะผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งหนึ่งของไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่สถาบันการเงินหรือแบงก์ที่รวมถึงบริษัทที่ผมอยู่ด้วย ประสบปัญหาและเกิด “Bank Run” อย่างเป็นระบบ และจบลงด้วยการ “ล้ม” ของสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งแทบจะพร้อมกันทันที เหลือเพียง 2-3 แห่งที่รอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์
ปัญหาและผลกระทบที่ตามมาของแบงก์หรือสถาบันการเงินที่รับเงินฝากหรือกู้เงินจากคนอื่นเพื่อมาปล่อยต่อหรือลงทุนกินส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยหรือต้นทุนกับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหรือจากการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินเช่นพันธบัตรก็คือ เกิดความผิดพลาดหรือการฉ้อฉลในการทำงาน เช่น ปล่อยกู้ให้กับบริษัทหรือโครงการที่ไม่คุ้มค่า ลงทุนในทรัพย์สินหรือหุ้นที่มีราคาแพงเกินไปซึ่งในที่สุดก็ตกลงมาทำให้ขาดทุนมหาศาล
ทั้งสองอย่างนั้นมักจะเกิดขึ้นในยามที่เกิดความเฟื่องฟูของการลงทุนในกิจการธุรกิจ หรือความเฟื่องฟูของราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นรวมถึงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
ในกรณีของเหตุการณ์ในช่วงนี้ก็คือ ความเฟื่องฟูของธุรกิจสตาร์ทอัพ ดิจิทัล เหรียญต่าง ๆ เช่นบิทคอยน์ เป็นต้น ซึ่งก็มีแบงก์จำนวนหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยการให้กู้หรือลงทุนจำนวนมาก โดย SVB ก็ถือได้ว่าเป็นแบงก์ที่เน้นในกลุ่มสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ให้บริการที่หลากหลายรวมถึงการเป็นผู้รับฝากเงินของบริษัทเหล่านั้นด้วย
ส่วนเครดิตสวิสเองนั้น เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเฮดจ์ฟันด์ Archegos Capital ซึ่งเป็นกองทุนที่เล่นหุ้นแบบร้อนแรงใช้มาร์จินและอาจจะมีการใช้ข้อมูลภายในและปั่นหุ้นด้วย ซึ่งทำให้มีผลงานโดดเด่น มีชื่อเสียงและได้เงินจากนักลงทุนมหาศาล แต่สุดท้ายก็พัง กองทุนล่มสลายและเครดิตสวิสสูญเงินไปเกือบ 5 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
ในกรณีของไทยในช่วงก่อนปี 2540 ก็คือความเฟื่องฟูของอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นโรงงานเหล็กและการผลิตอื่น ๆ ในยามที่ไทยกำลังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่และจะเป็น “เสือ” แห่งเอเชีย และตลาดหุ้นที่กำลังคึกคักโดยมี “บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์” ซึ่งทำหน้าที่เหมือนแบงก์แต่มีขนาดเล็กกว่าและกล้าเสี่ยงมากกว่า เข้าไปให้บริการรวมถึงการร่วมลงทุนในความเฟื่องฟูนั้น
ซึ่งก็เช่นเคยและเกิดขึ้นเสมอก็คือ ในที่สุด “ฟองสบู่” ก็ “แตก” บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มีผลประกอบการขาดทุนอย่างหนัก บริษัทที่ร้อนแรงที่สุดและเป็น “ราชัน” ของวงการคือ “ฟินวัน” ล่มสลายก่อน หลังจากนั้นบริษัทอื่นก็ตามกันมาจนล่มสลายเกือบทั้งหมด
ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้แบงก์ล้มง่ายก็คือ ลักษณะธรรมชาติของกิจการที่มีหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากนั้น มีปริมาณมากกว่าทุนของตนเองหลายเท่า บางทีเป็น 10 เท่า ดังนั้น ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจรุนแรงและกระทบกับแบงก์รุนแรง เช่น ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วมากและทำให้ส่วนต่างรายได้และต้นทุนเปลี่ยนเป็นติดลบ ก็อาจจะทำให้เกิดขาดทุน เช่น 10% ของทรัพย์สิน ก็จะทำให้เงินทุนที่มีเพียง 10% หายไปทั้งหมดได้
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ หนี้สินของธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้นและมีเจ้าหนี้จำนวนมากบางทีเป็นล้าน ๆ คนที่ฝากเงิน ในขณะที่ทรัพย์สินที่ปล่อยกู้หรือลงทุนนั้นมักจะเป็นระยะยาวซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ถ้าวันไหนเจ้าหนี้ “ขาดความมั่นใจ” ว่ากิจการของบริษัทหรือธนาคารอาจจะเลวร้ายและล้มละลายในอนาคต พวกเขาก็จะถอนเงินและไม่ต่ออายุหนี้จำนวนมากที่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งแบงก์ก็จะไม่มีเงินสดพอและก็ต้องล้มละลายทันที และนี่ก็คือ “แบงก์รัน”
ข้อสรุปของธุรกิจแบงก์ก็คือ แบงก์ที่ “ซ่า” หรือ “กล้ามาก” โตเร็วมากและอาจจะกำไรดี แต่ทุนอาจจะ “ไม่ค่อยพอ” อาจจะเพราะโตเร็วเกินไป มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจเปลี่ยน ทำให้ความเชื่อมั่นของคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนฝากเงินหรือเจ้าหนี้หมดไป ซึ่งจะทำให้พวกเขาเริ่มถอนเงินและก่อให้เกิดแบงก์รัน และสุดท้ายในเวลาอันสั้นมากเป็นแค่หลักไม่กี่วัน แบงก์ก็ล้มถ้าไม่มีรัฐบาลหรือคนอื่นที่ใหญ่และแข็งแรงพอเข้ามาช่วย
ประสบการณ์ของผมในช่วงที่บริษัทเงินทุนล้มก็คือ บริษัทปล่อยกู้ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากรวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่เช่นโรงงานเหล็ก โดยที่บริษัทเงินทุนหลายบริษัทร่วมกันปล่อยกู้แบบซินดิเคทโลน แต่แล้ว ภาคธุรกิจเหล่านั้นก็เกิดปัญหา ส่วนหนึ่งก็ตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังถดถอยลง การส่งออกลดลงและสุดท้ายประเทศต้องแก้ปัญหาลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งทำให้หนี้ของบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและไม่สามารถจ่ายคืนหนี้แบงก์ได้ กลายเป็นหนี้เสียซึ่งทำให้แบงก์มีปัญหา
ข่าวนี้ทำให้บริษัทเงินทุนถูกถอนเงินและไม่ต่ออายุเงินหนี้เงินกู้ บริษัทเงินทุนที่อ่อนแอและไม่มีแบงก์เป็นบริษัทแม่หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ “ล้ม”ก่อน บริษัทที่ผมอยู่เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นแบงก์ก็ยังพออยู่ได้แต่อาการ “แบงก์รัน” คือมีผู้ฝากเงินถอนเงินมากกว่าฝากวันละ3-400 ล้านบาทเกือบทุกวัน
งานปล่อยกู้และให้บริการทางการเงินทุกอย่างหยุดหมด พนักงานเปลี่ยนมาทำเรื่อง “กู้บริษัท” โดยการ “ควบรวม” กับบริษัทที่มีปัญหาอื่น ๆ เพราะไม่มีบริษัทดีหรือใหญ่พอที่จะเข้ามาช่วยควบรวมหรือเพิ่มทุนให้ ว่าที่จริงบริษัทใหญ่ ๆ รวมถึงแบงก์ก็กำลังจะ “ตาย” แนวคิดเรื่องบริษัทที่อ่อนแอมารวมกันเพื่อให้เกิดความแข็งแรงนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเมื่อมองย้อนกลับไป แต่ในขณะนั้นเราไม่รู้และไม่เข้าใจ
สุดท้ายบริษัทก็ล่มสลาย ในขณะที่แบงก์ส่วนใหญ่ก็รอดเพราะรัฐบาลปล่อยให้ล้มไม่ได้ ประเทศเริ่มต้นใหม่และเจริญเติบโตต่อไปจนถึงวันนี้และไม่ได้มีวิกฤติแบบปี 2540 อีกเลย โดยเฉพาะในภาคของการเงินที่มีการจัดระบบและการบริหารที่เข้มงวด แบงก์มีการสะสมทุนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนสูงกว่ามาตรฐานมาก พร้อมกับการทำงานอย่างอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่า วิกฤติการเงินจากต่างประเทศรอบนี้ จะไม่มีผลอะไรกับสถาบันการเงินของไทยอย่างแน่นอน
19 มี.ค 2566
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/finance/investment/1058571
ประสบการณ์แบงก์รัน-แบงก์ล้ม - โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เขียน ณ วันที่ 19 มี.ค 2566
สัปดาห์ก่อนดูเหมือนว่าคนในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนต่างก็วุ่นวายสับสนกันทั่วโลกเนื่องจากการล่มสลายของธนาคาร SVB หรือ Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่ให้บริการแก่บริษัทสตาร์ทอัพและดิจิทัลในคาลิฟอร์เนีย และอีกหลายแบงก์ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจนี้
นอกจากนั้น ก่อนสิ้นสัปดาห์ แบงก์เครดิตสวิสซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่ “ระดับโลก” ของสวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มมีปัญหาในเรื่องของทุนที่ไม่เพียงพอเพราะธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนหนักและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นกองทุนจากประเทศตะวันออกกลางปฎิเสธที่จะเพิ่มทุน ทำให้ราคาหุ้นที่ตกต่ำอยู่แล้ว ตกลงไปอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะคนกลัวว่าแบงก์อาจจะต้องล้มในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของทั้งสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์ดูเหมือนว่าจะรีบเข้าแทรกแซงและช่วยเหลือทันทีจนทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามรุนแรงต่อเนื่องไปถึงธนาคารอื่นอย่างเป็นระบบ
เฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกลางของอเมริกาได้ประกาศค้ำประกันเงินฝากทั้งหมดของ SVB ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ฝากเงินทั่วไปว่า เงินฝากของตนเองในแบงก์และแบงก์อื่นจะไม่หายไป ไม่จำเป็นต้องไปถอนเงินออกพร้อม ๆ กันซึ่งจะทำให้เกิด “Bank Run” ซึ่งธนาคารจะมีเงินไม่พอให้ถอนและต้องล้มละลายทันที ส่วนของสวิสเอง แบงก์ชาติก็จัดหาเงินเป็นสภาพคล่องหลายหมื่นล้านเหรียญให้ในกรณีที่มีคนขอถอนเงินจำนวนมาก
ถึงวันนี้เอง ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์แบงก์รันและแบงก์ล้มที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในอเมริกาและยุโรปนั้นจบลงไปแล้ว ยังมีโอกาสเหมือนกันที่แบงก์จะล้มเหลวต่อไปต่อเนื่องเป็นระบบโดยเฉพาะในยุโรปที่แบงก์เครดิตสวิสมีขนาดใหญ่มากและเป็น “แบงก์หลัก” ที่การแก้ปัญหาอาจจะทำได้ยากกว่าและผลกระทบรุนแรงกว่า ซึ่งถ้ามันส่งผลต่อเนื่องไปยังแบงก์อื่นก็อาจจะทำให้เกิด “วิกฤติ” ทางการเงินขึ้นได้
นั่นทำให้ผมหวนนึกถึงวันที่ผมยังทำงานอยู่ในฐานะผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งหนึ่งของไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่สถาบันการเงินหรือแบงก์ที่รวมถึงบริษัทที่ผมอยู่ด้วย ประสบปัญหาและเกิด “Bank Run” อย่างเป็นระบบ และจบลงด้วยการ “ล้ม” ของสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งแทบจะพร้อมกันทันที เหลือเพียง 2-3 แห่งที่รอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์
ปัญหาและผลกระทบที่ตามมาของแบงก์หรือสถาบันการเงินที่รับเงินฝากหรือกู้เงินจากคนอื่นเพื่อมาปล่อยต่อหรือลงทุนกินส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยหรือต้นทุนกับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหรือจากการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินเช่นพันธบัตรก็คือ เกิดความผิดพลาดหรือการฉ้อฉลในการทำงาน เช่น ปล่อยกู้ให้กับบริษัทหรือโครงการที่ไม่คุ้มค่า ลงทุนในทรัพย์สินหรือหุ้นที่มีราคาแพงเกินไปซึ่งในที่สุดก็ตกลงมาทำให้ขาดทุนมหาศาล
ทั้งสองอย่างนั้นมักจะเกิดขึ้นในยามที่เกิดความเฟื่องฟูของการลงทุนในกิจการธุรกิจ หรือความเฟื่องฟูของราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นรวมถึงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
ในกรณีของเหตุการณ์ในช่วงนี้ก็คือ ความเฟื่องฟูของธุรกิจสตาร์ทอัพ ดิจิทัล เหรียญต่าง ๆ เช่นบิทคอยน์ เป็นต้น ซึ่งก็มีแบงก์จำนวนหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยการให้กู้หรือลงทุนจำนวนมาก โดย SVB ก็ถือได้ว่าเป็นแบงก์ที่เน้นในกลุ่มสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ให้บริการที่หลากหลายรวมถึงการเป็นผู้รับฝากเงินของบริษัทเหล่านั้นด้วย
ส่วนเครดิตสวิสเองนั้น เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเฮดจ์ฟันด์ Archegos Capital ซึ่งเป็นกองทุนที่เล่นหุ้นแบบร้อนแรงใช้มาร์จินและอาจจะมีการใช้ข้อมูลภายในและปั่นหุ้นด้วย ซึ่งทำให้มีผลงานโดดเด่น มีชื่อเสียงและได้เงินจากนักลงทุนมหาศาล แต่สุดท้ายก็พัง กองทุนล่มสลายและเครดิตสวิสสูญเงินไปเกือบ 5 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
ในกรณีของไทยในช่วงก่อนปี 2540 ก็คือความเฟื่องฟูของอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นโรงงานเหล็กและการผลิตอื่น ๆ ในยามที่ไทยกำลังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่และจะเป็น “เสือ” แห่งเอเชีย และตลาดหุ้นที่กำลังคึกคักโดยมี “บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์” ซึ่งทำหน้าที่เหมือนแบงก์แต่มีขนาดเล็กกว่าและกล้าเสี่ยงมากกว่า เข้าไปให้บริการรวมถึงการร่วมลงทุนในความเฟื่องฟูนั้น
ซึ่งก็เช่นเคยและเกิดขึ้นเสมอก็คือ ในที่สุด “ฟองสบู่” ก็ “แตก” บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มีผลประกอบการขาดทุนอย่างหนัก บริษัทที่ร้อนแรงที่สุดและเป็น “ราชัน” ของวงการคือ “ฟินวัน” ล่มสลายก่อน หลังจากนั้นบริษัทอื่นก็ตามกันมาจนล่มสลายเกือบทั้งหมด
ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้แบงก์ล้มง่ายก็คือ ลักษณะธรรมชาติของกิจการที่มีหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากนั้น มีปริมาณมากกว่าทุนของตนเองหลายเท่า บางทีเป็น 10 เท่า ดังนั้น ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจรุนแรงและกระทบกับแบงก์รุนแรง เช่น ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วมากและทำให้ส่วนต่างรายได้และต้นทุนเปลี่ยนเป็นติดลบ ก็อาจจะทำให้เกิดขาดทุน เช่น 10% ของทรัพย์สิน ก็จะทำให้เงินทุนที่มีเพียง 10% หายไปทั้งหมดได้
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ หนี้สินของธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้นและมีเจ้าหนี้จำนวนมากบางทีเป็นล้าน ๆ คนที่ฝากเงิน ในขณะที่ทรัพย์สินที่ปล่อยกู้หรือลงทุนนั้นมักจะเป็นระยะยาวซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ถ้าวันไหนเจ้าหนี้ “ขาดความมั่นใจ” ว่ากิจการของบริษัทหรือธนาคารอาจจะเลวร้ายและล้มละลายในอนาคต พวกเขาก็จะถอนเงินและไม่ต่ออายุหนี้จำนวนมากที่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งแบงก์ก็จะไม่มีเงินสดพอและก็ต้องล้มละลายทันที และนี่ก็คือ “แบงก์รัน”
ข้อสรุปของธุรกิจแบงก์ก็คือ แบงก์ที่ “ซ่า” หรือ “กล้ามาก” โตเร็วมากและอาจจะกำไรดี แต่ทุนอาจจะ “ไม่ค่อยพอ” อาจจะเพราะโตเร็วเกินไป มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจเปลี่ยน ทำให้ความเชื่อมั่นของคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนฝากเงินหรือเจ้าหนี้หมดไป ซึ่งจะทำให้พวกเขาเริ่มถอนเงินและก่อให้เกิดแบงก์รัน และสุดท้ายในเวลาอันสั้นมากเป็นแค่หลักไม่กี่วัน แบงก์ก็ล้มถ้าไม่มีรัฐบาลหรือคนอื่นที่ใหญ่และแข็งแรงพอเข้ามาช่วย
ประสบการณ์ของผมในช่วงที่บริษัทเงินทุนล้มก็คือ บริษัทปล่อยกู้ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากรวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่เช่นโรงงานเหล็ก โดยที่บริษัทเงินทุนหลายบริษัทร่วมกันปล่อยกู้แบบซินดิเคทโลน แต่แล้ว ภาคธุรกิจเหล่านั้นก็เกิดปัญหา ส่วนหนึ่งก็ตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังถดถอยลง การส่งออกลดลงและสุดท้ายประเทศต้องแก้ปัญหาลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งทำให้หนี้ของบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและไม่สามารถจ่ายคืนหนี้แบงก์ได้ กลายเป็นหนี้เสียซึ่งทำให้แบงก์มีปัญหา
ข่าวนี้ทำให้บริษัทเงินทุนถูกถอนเงินและไม่ต่ออายุเงินหนี้เงินกู้ บริษัทเงินทุนที่อ่อนแอและไม่มีแบงก์เป็นบริษัทแม่หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ “ล้ม”ก่อน บริษัทที่ผมอยู่เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นแบงก์ก็ยังพออยู่ได้แต่อาการ “แบงก์รัน” คือมีผู้ฝากเงินถอนเงินมากกว่าฝากวันละ3-400 ล้านบาทเกือบทุกวัน
งานปล่อยกู้และให้บริการทางการเงินทุกอย่างหยุดหมด พนักงานเปลี่ยนมาทำเรื่อง “กู้บริษัท” โดยการ “ควบรวม” กับบริษัทที่มีปัญหาอื่น ๆ เพราะไม่มีบริษัทดีหรือใหญ่พอที่จะเข้ามาช่วยควบรวมหรือเพิ่มทุนให้ ว่าที่จริงบริษัทใหญ่ ๆ รวมถึงแบงก์ก็กำลังจะ “ตาย” แนวคิดเรื่องบริษัทที่อ่อนแอมารวมกันเพื่อให้เกิดความแข็งแรงนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเมื่อมองย้อนกลับไป แต่ในขณะนั้นเราไม่รู้และไม่เข้าใจ
สุดท้ายบริษัทก็ล่มสลาย ในขณะที่แบงก์ส่วนใหญ่ก็รอดเพราะรัฐบาลปล่อยให้ล้มไม่ได้ ประเทศเริ่มต้นใหม่และเจริญเติบโตต่อไปจนถึงวันนี้และไม่ได้มีวิกฤติแบบปี 2540 อีกเลย โดยเฉพาะในภาคของการเงินที่มีการจัดระบบและการบริหารที่เข้มงวด แบงก์มีการสะสมทุนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนสูงกว่ามาตรฐานมาก พร้อมกับการทำงานอย่างอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่า วิกฤติการเงินจากต่างประเทศรอบนี้ จะไม่มีผลอะไรกับสถาบันการเงินของไทยอย่างแน่นอน
19 มี.ค 2566
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
อ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/blogs/finance/investment/1058571