JJNY : สหรัฐมองว่าอิราเอลยังไม่พร้อม│เพนตากอนส่งที่ปรึกษาให้อิสราเอล│‘สมัชชาคนจน’ฟ้องUNHCR│คลื่นทุนจีนบุก รัชดา-พระราม 9

สหรัฐมองว่ากองทัพอิราเอลยังไม่พร้อมบุกกาซาภาคพื้นดิน
https://tna.mcot.net/world-1260415
 
 
เยรูซาเล็ม 24 ต.ค.- สื่ออิสราเอลอ้างรายงานของสื่อสหรัฐว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐมองว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอลหรือไอดีเอฟ (IDF) ไม่พร้อมเริ่มปฏิบัติการรุกภาคพื้นดินกับฉนวนกาซา
 
เว็บไซต์ไทมส์ออฟอิสราเอลอ้างหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ที่รายงานเมื่อวันอาทิตย์อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐว่า นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลเกือบทุกวัน และได้ขอให้อิสราเอลพิจารณาอย่างรอบคอบเรื่องไอดีเอฟจะบุกกาซาอย่างไร เนื่องจากกลุ่มก่อการร้ายปฏิบัติการจากในอุโมงค์และพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น

เจ้าหน้าที่สหรัฐระบุว่า อิสราเอลต้องตัดสินใจว่า ต้องการกำจัดฮามาสด้วยการโจมตีแบบมุ่งเป้าเฉพาะจุด (surgical strikes) ควบคู่กับการบุกเฉพาะจุด (targeted raids) เช่นที่สหรัฐใช้ร่วมกับทหารอิรักและเคิร์ดในเมืองโมซุลของอิรักปี 2550 หรือรุกภาคพื้นดินอย่างแผ่ขยายเช่นที่สหรัฐใช้ร่วมกับทหารอิรักและอังกฤษในเมืองฟัลลูจาห์ของอิรักในปี 2547 เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า ได้ถอยห่างจากการคุยกับอิสราเอลในเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าอิสราเอลยังไม่มีแผนปฏิบัติการที่น่าจะกำจัดฮามาสสำเร็จตามที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลประกาศไว้
 
ขณะเดียวกันไทมส์ออฟอิสราเอลรายงานเมื่อวันจันทร์ว่า หลังจากใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกับฉนวนกาซามานาน 16 วันติดต่อกัน ไอดีเอฟได้แจ้งกับรัฐบาลว่าพร้อมเต็มที่ที่จะเริ่มปฏิบัติการรุกภาคพื้นดิน และเชื่อว่าจะต้องเริ่มโดยเร็วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล แม้ว่าต้องเสี่ยงสูญเสียกำลังพลจำนวนมากก็ตาม.-สำนักข่าวไทย



เพนตากอนส่งที่ปรึกษาทางทหาร-ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ให้อิสราเอล
https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/208711

มีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังส่งที่ปรึกษาทางทหารและระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออต ไปให้กับอิสราเอล
 
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งเปิดเผยกับ Associated Press ว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน กำลังส่งที่ปรึกษาทางทหารและระบบป้องกันภัยทางอากาศไปยังอิสราเอล ก่อนที่กองทัพอิสราเอลจะโจมตีภาคพื้นดินในฉนวนกาซา
 
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปช่วยเหลือคือ พล.ท. เจมส์ กลินน์ นาวิกโยธินซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำกองกำลังปฏิบัติการพิเศษต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม และมีบทบาทในการสู้รบอันดุเดือดในฟัลลูจา ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการสู้รบที่นองเลือดที่สุดของกองกำลังสหรัฐฯ ในช่วงสงครามในอิรัก

เจ้าหน้าที่เผยว่า กลินน์จะช่วยให้คำแนะนำอิสราเอลเกี่ยวกับวิธีลดอัตราการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนในระหว่างสงครามในเมือง

อิสราเอลกำลังเตรียมปฏิบัติการภาคพื้นดินในฉนวนกาซา ซึ่งมีการประเมินกันว่า ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธฮามาสได้ใช้เวลาหลายปีในการสร้างเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินและวางกับดักทั่วเขตเมือง
 
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า กลินน์และเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่น ๆ ที่กำลังให้คำปรึกษาแก่อิสราเอล “มีประสบการณ์ที่เหมาะสมกับปฏิบัติการประเภทต่าง ๆ ที่อิสราเอลกำลังดำเนินการอยู่
 
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่า ที่ปรึกษาของสหรัฐฯ จะไม่มีส่วนร่วมในการสู้รบใด ๆ พร้อมเสริมว่า กลินน์จะเสนอแนวทางในการบรรเทาการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนระหว่างสงครามในเมืองด้วย
 
การส่งเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาทางทหารจากสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในมาตรการของเพนตากอนเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอิสราเอลและฮามาสกลายเป็นสงครามที่ขยายวงกว้างขึ้น
 
นอกจากนี้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพนตากอนประกาศว่า จะส่งระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต และระบบป้องกัน Terminal High Altitude Area Defense System ไปยังตะวันออกกลาง พร้อมทั้งปรับกระบวนทัพกองเรือที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินไอเซนฮาวเออร์ของสหรัฐฯ ให้อยู่ภายใต้กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (Centcom)
 
Centcom เป็นกองบัญชาการที่มีอำนาจสั่งการกองกำลังสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เอเชียตะวันตก และเอเชียกลาง
 
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหมายความว่า กองทัพเรือจะมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีนอกชายฝั่งอิสราเอล ได้แก่ กองเรือบรรทุกเครื่องบินฟอร์ด และกองเรือไอเซนฮาวเออร์ โดยจะประจำการในตำแหน่งที่สามารถเคลื่อนตัวเพื่อปกป้องฐานทัพสหรัฐฯ และอิสราเอลจากทะเลแดงหรืออ่าวโอมานได้
 
เรียบเรียงจาก Associated Press / The Guardian



‘สมัชชาคนจน’ ฟ้อง UNHCR ถูก ตร.ละเมิด ลั่น ผลเจรจา ‘รับได้’ แต่ ทส.-แรงงาน เหมือนไม่มีตัวตน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4247917

‘สมัชชาคนจน’ ฟ้อง UNHCR ถูก ตร.ละเมิดสิทธิ เล่าผลเจรจา ‘ยอมรับได้’ แต่กระทรวงทรัพย์ฯ-แรงงาน ไม่ร่วมมือเท่าที่ควร
 
สืบเนื่องการชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน บริเวณถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งปักหลักชุมต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อย
 
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายดิป มาการ์ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนและหัวหน้าทีมประเทศไทย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ UNHCR ลงพื้นที่ชุมนุมของพี่น้องสมัชชาคนจน เพื่อติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตลอดการชุมนุมเจรจาแก้ไขปัญหาร่วม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
โดย นายไพฑูรย์ สร้อยสด เลขาธิการสมัชชาคนจน กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา โดยเฉพาะพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นับตั้งแต่วันแรกที่มีการสกัดกั้นการเข้าพื้นที่ชุมนุมเจรจาแก้ไขปัญหา ทั้งๆ ที่ได้มีการแจ้งการชุมนุมไว้แล้ว รวมทั้งพฤติกรรมการคุกคามทางเพศโดยการถ่ายรูปผู้หญิงที่กำลังอาบน้ำในช่วงการชุมนุม 3 วันแรก ซึ่งตำรวจเข้ามาใช้รถห้องน้ำร่วมกับชาวบ้าน
 
นายไพฑูรย์เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการประกาศห้ามชุมนุมในระยะ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ชุมนุมยืนยันว่าอยู่ห่างมากกว่า 50 เมตร พร้อมแจ้งการชุมนุมอย่างเป็นทางการ กระทั่งต้องวัดระยะห่างให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูเพื่อพิสูจน์ รวมทั้งในการเดินขบวนไปเจรจาแก้ไขปัญหาตามนัดหมายกับผู้แทนรัฐบาล ก็ถูกตำรวจปิดกั้นทุกครั้งที่เราเดินทางไปเจรจา จึงยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ( กสม.) และเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุม เพราะตำรวจผลักดันกฎหมายนี้ แต่กลับเป็นผู้ละเมิดกฎหมายนี้เสียเอง
 
ในส่วนของการเจรจาแก้ไขปัญหากับรัฐบาลถึงวันนี้ เรามีเรื่องเจรจาที่ยังไม่ได้ข้อยุติอีกประมาณ 5-7 เรื่อง โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้แทนรัฐบาล ทางสมัชชาคนจนจึงได้ยื่นข้อเสนอพร้อมกรอบการเจรจราการแก้ไขปัญหาระหว่างสมัชชาคนจนกับรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม โดยภายหลังการเปิดเจราเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมนั้น นับว่าผลการเจรจาเป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง และมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องตามรายกรณีปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังพบว่ามีปัญหาที่ไม่สามารถเจราจาได้ คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงแรงงานที่ยังไม่สามารถเจรจาและไม่ได้รับความรับมือเท่าที่ควรเหมือนกระทรวงอื่นๆ โดยนัดหมายดำเนินการเจราจาต่อในวันที่ 24 ตุลาที่จะถึงนี้” นายไพฑูรย์เผย
 
ด้าน นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการเจรจาการแก้ไขปัญหาในกรณีปัญหาที่ยังติดขัดและไม่ได้รับความร่วมมือคือ กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงแรงงานที่ยังไม่มีความคืบหน้า
 
เพราะกระทรวงแรงงานเหมือนไม่มีตัวตนในการเจรจรา หรือกรณีเขื่อนราษีไศล หรือกรณีอื่นๆ แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว แต่เราก็ยังไม่มั่นใจว่าผลการเจรจาเหล่านั้นจะบรรลุผล เพราะที่ผ่านมาเราเองก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ส่วนกรณีป่าไม้ที่ดิน ก็เป็นการเอาที่ดินของชาวบ้านไปทำคาร์บอนเครดิต ให้เราปลูกต้นไม้ให้รัฐบาลเอาไปขาย เมื่อครบกำหนดขายก็จะให้เราออกจากที่ดิน แล้วเราจะไปอยู่ตรงไหน การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่ไม่เป็นธรรม ส่วนปัญหาด้านเกษตรก็เป็นการละเมิดสิทธิเกษตร เราจึงเสนอให้รัฐยอมรับและผลักดันปฏิญญาสิทธิเกษตรกรและบุคคลอื่นผู้อยู่ในชนบท ซึ่ง UN เพิ่งรับรองไป จึงอยากฝากไปยัง UN ให้ช่วยผลักดันไปยังรัฐบาลเช่นกัน” นายบารมีกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากฟังรายงานจากตัวแทนสมัชชาคนจน นายดิป มาการ์ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนและหัวหน้าทีมประเทศไทย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวขอบคุณสมัชชาคนจน
 
นายดิปกล่าวว่า ยินดีผลักดันปฏิญญาสิทธิเกษตรกร ซึ่งไทยได้ลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศที่ตรงกับการเรียกร้องของสมัชชาคนจนพอดี
 
“ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการเรื่องเศรฐกิจและมนุษยชน ซึ่งเป็นกรอบที่เราจะทำงานร่วมกันได้ สิ่งที่สมัชชาคนจนทำอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องที่เราอยากให้สมัชชาคนจนช่วยแนะนำเพื่อให้พวกเราได้ร่วมกันผลักดันและสร้างความร่วมมือไปด้วยกัน หลังจากนี้ ยินดีและพร้อมลงพื้นที่ไปเยี่ยมพี่น้องสมัชชาคนจนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” นายดิปกล่าว
 
ทั้งนี้ นายบารมี กล่าวขอบคุณ UNHCR ที่จะนำข้อกังวลของสมัชชาคนจนไปร่วมผลักดัน
 
เราก็ต้องการกลับบ้านทุกวัน เพราะข้าวในนาก็ตั้งท้องรอเก็บเกี่ยว แต่การเจรจราก็ยังไม่ได้รับข้อยุติ” นายบารมีกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่