การไปทำใบขับขี่สาธารณะ ที่กรมขนส่ง เขตจตุจักร ฉบับปี 2566

สวัสดีเพื่อนๆ วันนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ การไปทำใบขับขี่สาธารณะที่ กรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร นะครับ

เราอบรมออนไลน์ไว้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2566 แต่เพิ่งจะไปติดต่อที่กรมการขนส่ง เดือนกันยายน 2566
เราอยู่แถวบางนา สมุทรปราการ แต่เลือกจองคิวได้ที่กรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร นะครับ
ต้องขอบอกว่าเราเลือกทำทั้งประเภท รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ นะครับ

ก่อนที่จะเดินทางไป เราก็ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้พร้อมก่อนนะ มีดังนี้

1. หลักฐานการอมรมออนไลน์ผ่านระบบ e-Learning ของเราเลือกทำทั้ง 2 อย่าง ก็เลยต้องอบรม 2 อย่าง อบรมเสร็จก็แคปหน้าจอไว้เป็นหลักฐาน
2. จองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue  แต่ขอบอกว่าคิวยาวมาก จองข้ามเดือนกันเลยที่เดียว แคปหน้าจอไว้เป็นหลักฐาน
3. ใบรับรองแพทย์ ไปขอที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เลย ล่วงหน้าสัก 1 วันก็ดี จะได้ไม่เสียเวลา เราขอที่คลินิค ค่าเสียหาย 100 บาท
4. บัตรประจำตัวประชาชน ตัวจริง
5. บัตรใบขับขี่ส่วนบุคคล ตัวจริง ทำทั้ง 2 อย่าง ก็เตรียมไปทั้ง 2 อย่างเลย

เราอยู่สมุทรปราการ เลือกวิธีเดินทางไปโดยขึ้น BTS จากสถานีแบริ่ง ไปลงสถานีหมอชิต ค่าเสียหาย 62 บาท
มาถึงสถานีหมอชิต เลือกมองหาทางออก 2 ฝั่งตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร เพื่อไปต่อยังกรมการขนส่ง เขตจตุจักรได้เลย
กรมการขนส่ง เขตจตุจักร ที่ตั้งจะอยู่ถัดจากสถาบันการบินพลเรือน เดินย้อนจากสถานีหมอชิตกลับมาทางที่จะไปสะพานควาย
เราเลือกที่จะเดินไปเพราะคิดว่ามันไม่ไกลมากและทางเดินก็สะดวกสบาย แต่ถ้าขี้เกียจเดินก็เรียกพี่วินไปเลยแปปเดียว

เราต้องไปติดต่อที่ อาคาร 4 นะครับ ผมมาจากฝั่งตลาดนัดจตุจักรก็ตรงเข้าไปด้านในสุด ตึกอยู่ขวามือ มีเลขตึกบอกชัดเจน
เดินเข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่สอบถามว่าเรามาทำอะไร และขอดูหลักฐานต่างๆประกอบ แล้วก็จะแจ้งให้เราไปติดต่อชั้นไหน
ทำใบขับขี่สาธารณะ ให้ไปติดต่อที่ ชั้น 4 ได้เลย

มาถึงชั้น 4 ก็ต้องไปกดบัตรคิวก่อนนะ เพื่อรอติดต่อเจ้าหน้าที่ ของเราเลือกกดบัตรคิว แบบที่จองคิวออนไลน์มาแล้ว ไม่ งง กันนะ
ถึงคิวก็ติดต่อเจ้าหน้าที่พร้อมยื่นเอกสาร เจ้าหน้าที่จะเตรียมเอกสารให้และไปรอต่อคิวเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้านใน
เจ้าหน้าที่จะแจ้งรายละเอียด และเตรียมเอกสารต่างๆ สำหรับนำไปทดสอบทฤษฎี และเอกสารขอตรวจประวัติอาชญกรรม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จากนั้นไปติดต่อเจ้าหน้าที่ ชั้น 3 เพื่อทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย และทดสอบทฤษฎี

อันดับแรกต้องทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย มีทั้งหมด 4 สถานี

1. ทดสอบตาบอดสี บอกสีที่แสดงขึ้นมากับเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้อง สีเขียว สีเหลือง สีแดง
2. ทดสอบการวัดระยะมุมมองด้านข้าง โดยจะต้องเลื่อนแท่งเสามาให้เสมอเป็นแนวเดียวกันให้มากที่สุด
3. ทดสอบปฏิกิริยาในการเหยียบเบรค โดยจำลองแป้นคันเร่งและแป้นเบรคมาให้ เราต้องเหยียบคันเร่ง เมื่อขึ้นไฟสีแดงต้องรีบเหยียบแป้นเบรค 
4. ทดสอบสายตาทางด้านข้าง โดยศรีษะอยู่กับที่และให้บอกสีที่แสดงขึ้นมาด้านข้างให้ถูกต้อง สีเขียว สีเหลือง สีแดง

จริงๆ ก่อนทดสอบ หน้าห้องจะมีวีดีโอแนะนำวิธีการทดสอบแต่ละสถานีให้ดูนะครับ ผมว่าไม่ยากเกินความสามารถ และแต่ละสถานีก็ใช้เวลาไม่นาน

เมื่อทดสอบผ่านทั้ง 4 สถานี เจ้าหน้าที่จะให้เราไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในส่วนถัดไป เพื่อเข้ารับการทดสอบภาคทฤษฎี
ข้อสอบมีทั้งหมด 30 ข้อ ให้เวลาทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง จะต้องได้ 25 ข้อขึ้นไปถึงจะผ่าน 
อ่านคำถาม และ ดูคำตอบดีๆ นะครับ อาจจะทำเรา งง ได้  บางทีคำถามก็กำกวม นิดนึง

หากไม่ผ่านต้องสอบใหม่ ก็อยู่ที่ความสามารถของเพื่อนๆ แล้วละครับ จะรอบเดียวผ่านหรือหลายๆ รอบถึงจะผ่าน
ของเราต้องทดสอบทั้ง 2 แบบนะครับ ทั้งประเภทรถจักรยานยนต์ และรถยนต์  ในที่สุดก็ผ่านเรียบร้อยทั้ง 2 อย่าง

อ้อ จะบอกว่าไม่มีสอบภาคสนามนะครับ สอบทฤษฎีผ่าน ก็กลับบ้านได้เลย

จากนั้นก็ต้องจองคิวออนไลน์เพื่อเข้าไปขอตรวจประวัติอาชญกรรม ที่สำนักงานตำรวจ ต้องจองคิวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน
อันนี้ขอข้ามขั้นตอนการไปติดต่อที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเลยนะครับ จะมาแชร์ประสบการณ์ภายหลัง

รอประมาณ 20 - 30 วัน ผลการตรวจประวัติอาชญกรรมก็จะถูกส่งมาที่ กรมการขนส่ง นะครับ จะมี QR Code ให้เราเข้าไปเช็คสถานะได้
สถานะจะแจ้งแค่ว่า “ผลการตรวจประวัติอาชญกรรมถูกส่งมาเรียบร้อยแล้ว” เราก็ต้องเตรียม รูปถ่ายขนาด 3 นิ้ว จำนวน 3 รูป 
สำหรับทำบัตรประจำตัวผู้ขับรถ ของประเภทรถยนต์สาธารณะ นะครับ อย่าลืมเตรียมเอกสารผลการทดสอบทฤษฎีไปด้วย
จากนั้นเราก็ไปติดต่อที่ กรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร เหมือนเดิม รอบนี้ไม่ต้องจองคิวออนไลน์เข้าไปนะครับ 

ไปติดต่อ อาคาร 4 ชั้น 4 ได้เลย กดบัตรคิวแบบ ไม่ได้จองออนไลน์ ได้เลยครับ
รอถึงคิวก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาจะจัดเตรียมเอกสารพร้อมกับแนบผลการตรวจประวัติอาชญกรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งมาให้
จากนั้นก็รอคิวติดต่อเจ้าหน้าที่ในส่วนถัดไป เพื่อทำการถ่ายรูปติดบัตร ชำระค่าบริการ ค่าธรรมเนียม  ค่าเสียหายต่างๆ

เราทำทั้ง 2 อย่าง ค่าเสียหาย ทั้งหมด 485 บาท แบ่งเป็น 

ใบขับขี่ประเภทจักรยานยนต์สาธารณะ = 5+150 = 155 บาท
   1.ค่าธรรมเนียมคำขอ 5 บาท
   2.ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับจักรยานยนต์สาธารณะ 150 บาท

ใบขับขี่ประเภทรถยนต์สาธารณะ = 5+300+25 = 330 บาท
   1.ค่าธรรมเนียมคำขอ 5 บาท
   2.ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ 300 บาท
   3.ค่าธรรมเนียมบัตรประจำตัวผู้ขับรถ 25 บาท

เมื่อชำระค่าบริการและถ่ายรูปติดบัตรเรียบร้อย เราก็ไปรอรับบัตรประจำตัวผู้ขับรถประเภทรถยนต์สาธารณะ 
กับเจ้าหน้าที่ด้านหน้าตอนที่เรามาติดต่อในตอนแรก  เมื่อได้บัตรแล้วก็ถือว่าจบเสร็จสิ้น กลับบ้านได้

จริงๆ ถ้าหากเราเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องมาครบถ้วนแต่แรก เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการในส่วนต่างๆ ใช้เวลาไม่นานมากนะครับ

หวังว่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่กำลังหาข้อมูลในการไปทำใบขับขี่สาธารณะ นะครับ


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่