[รีวิว] A Haunting in Venice - คดีของปัวโรต์ที่ท้าทายความเชื่อของชายผู้ยึดมั่นในความจริง

ถ้าไม่ได้เห็นใบหน้าของนักสืบ “แอร์กูล ปัวโรต์” (Hercule Poirot) เราแทบไม่เชื่อสายตาของตัวเองว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากงานเขียนของ “อกาธา คริสตี้” (Agatha Christie) นักเขียนนิยายสืบสวนผู้โด่งดัง แน่นอนหากนับตามชื่อของ เคนเนธ บรานาห์ (Kenneth Branagh) ในการรับบทเป็นนักสืบปัวโรต์และในฐานะผู้กำกับ อาจบอกได้ว่านี่คือ ภาพยนตร์ลำดับที่ 3 แล้ว ถัดจาก Murder on the Orient Express (2017) และ Death on the Nile (2022)

ซึ่งเหมือนเป็นการพยายามเล่นกับการคาดเดาของคนดู เพราะทั้งสองเรื่องก่อนหน้า ล้วนหยิบผลงานแต่ผลงานยอดนิยมมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ทำให้หลายคนเดาเนื้อเรื่อง รูปคดี รวมถึงตัวของคนร้ายออกได้ไม่ยาก ซึ่งแน่นอนไม่เป็นผลดี ครั้งนี้ เคนเนธ บรานาห์ จึงหยิบผลงาน ที่มีชื่อว่า Hallowe’en Party ที่ตีพิมพ์ในปี 1969 มาดัดแปลง ซึ่งเป็นผลงานของอกาธา คริสตี้ ที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่าสองเรื่องแรก ถือว่า เป็นการคืนความสดใหม่ให้กับแฟรนไชส์ได้ดีเลย

A Haunting in Venice มาในลุคที่แทบจะเป็น “หนังผี” แบบร้อยเปอร์เซนต์ ทั้งบรรยากาศของอาคารบ้านเรือนและตัวเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1947 เพื่อการรองรับคดีการตายปริศนาของหญิงสาวที่ชื่อว่า “อลิเซีย” (Rowan Robinson) เป็นลูกของแม่เลี้ยงเดี่ยวฐานะมั่งคั่ง “โรวีน่า” (Kelly Reilly) ที่พยายามจะติดต่อกับลูกสาวที่เชื่อว่ายังวนเวียนอยู่ในบ้าน จึงว่าจ้างร่างทรงอย่าง “จอยซ์ เรย์โนลด์” (Michelle Yeoh) เพื่อทำพิธีกรรมติดต่อกับอลิเซีย นี่จึงแทบจะกลายเป็นหนังผีอยู่รอมร่อหากอยู่ในจักรวาลคนเรียกผี (The Conjuring) เพียงแต่การมีอยู่ของแอร์กูล ปัวโรต์ ก็ยังทำให้ผู้ชมยังอยู่กับความเป็นจริง และรอคอยว่าเขาจะเปิดโปงร่างทรงคนนี้อย่างไรนั่นเอง

ความแตกต่างจาก Death on the Nile ที่เห็นได้ชัด คือ การดำเนินเรื่องที่กระชับฉับไวมากขึ้น เรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครถูกเล่าผ่านการสืบสวนในคราวเดียว นั่นจึงทำให้นอกจากผู้ชมจะได้รับข้อมูลการยืนยันที่อยู่ระหว่างเกิดเหตุแล้ว ยังได้รู้ถึงแรงจูงใจของแต่ละคนในการมารวมตัวกันที่นี่ ไม่เว้นแต่ตัวของ เพื่อนเก่าอย่างแอรีแอดนี โอลิเวอร์ (Tina Fey) นักเขียนที่ชักชวนปัวโรต์มาพิสูจน์เรื่องร่างทรงเช่นกัน ซึ่งทำให้การเดาตัวคนร้ายมีความหลากหลายและน่าตื่นเต้นขึ้นตามข้อมูลที่ค่อยๆ เผยมาทีละนิด

แม้ความอลังการงานสร้างจะลดลงจากภาคที่แล้ว (ดารา A-list ก็น้อยลง) แต่ A Haunting in Venice ยังคงให้บรรยากาศความหลอน ความหวาดระแวง และน่าขนลุก ได้สมกับความเป็นบ้านผีสิง ไปพร้อมๆ กับถ่ายทอดความงามกลางเก่ากลางใหม่ของสถาปัตยกรรมสไตล์โกธิคในเมืองเวนิสได้อย่างลงตัวตามยุคสมัยของเรื่อง ผ่านการถ่ายภาพ มุมกล้อง และการตัดต่อ กลายเป็นงานศิลปะที่ดูประณีตและมีมนต์ขลัง

อีกหนึ่งสิ่งที่ยังคงตามหลอกหลอนตัวของปัวโรต์มาจากภาคที่แล้ว กับเรื่องของอาการ “โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ” หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) ที่เป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้นไม่พอผลกระทบที่ว่านี้ยังขยายไปสู่ตัวละครอื่นๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้ง สภาพเศรษฐกิจ ปัญหาผู้ลี้ภัยสงคราม นั่นทำให้การหันหน้าพึ่งหมอผีหรือร่างทรง กลายเป็นทางเลือกที่สะท้อนความกลัวของผู้คนในสมัยนั้นออกมาได้เป็นอย่างดี

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ กลับกันหัวใจหลักของภาพยนตร์ในตระกูล “Whodunnit” ยังคงขาดชั้นเชิงการเล่าเรื่องอยู่พอสมควร (เป็นปัญหาที่คล้ายๆ กับภาคที่แล้ว) เป็นที่รู้กันว่าการสืบสวนของปัวโรต์มักจะใช้การสัมภาษณ์ผู้ต้องสงสัยเป็นหลัก(เพื่อสืบเรื่องแรงจูงใจและความเป็นไปได้ในการก่อคดี) ส่วนการมองหาเบาะแสและหลักฐานดูจะเป็นเรื่องรองๆ ลงมา

ซึ่งแน่นอนว่าผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเป็นอัจฉริยะเทียบเท่ากับสืบหนวดงามผู้นี้ ลำพังแค่การจับคนมาสัมภาษณ์คงไม่ได้ช่วยให้ผู้ชมได้ไขคดีออกแต่อย่างใด แต่ตัวหนังแทบจะไม่เคยบอกผู้ชมเลยว่าในหัวของปัวโรต์เขาคิดอะไรอยู่หรือสืบคดีไปได้ถึงไหนแล้ว เห็นเพียงแต่การไถ่ถามผู้ต้องสงสัย (ด้วยบทสนทนาที่บางทีก็ดูก้าวร้าว) กับการเดินไปเดินมาเพื่อเจอผี แล้วก็สรุปไขคดีโป้งเดียวจบให้ผู้ชมอย่างเราๆ อ้าปากค้างว่า จบแล้วหรอ? นั่นจึงทำให้ความสนุกของการร่วมคิดวิเคราะห์ร่วมไปกับปัวโรต์ดูจะไม่เวิร์คเอาเสียเลย

รวมถึงอีกหนึ่งสิ่งที่คาดว่าจะได้เห็น คือ การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และตรรกะในการเอาชนะความเชื่อทางไสยศาสตร์ คล้ายๆ กับที่โคนันพยายามเปิดโปงจอมโจรคิดที่ใช้กลอุบายอันแยบยลเพื่อให้เขาดูเหมือนมีเวทย์มนต์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ สามารถหายตัวได้ แบบนั้นแหละ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงแค่บทสนทนาสั้นๆ ว่า นักสืบปัวโรต์ไม่เชื่อในพระเจ้า (นั่นทำให้เขาพยายามสืบคดีต่อ) แม้จะมีการแบ่งฝ่ายคนที่เชื่อในร่างทรงกับไม่เชื่อ แต่จุดนี้ก็ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรกับเนื้อเรื่องเท่าไหร่นัก (อาจเป็นเพราะจุดเปิดโปงร่างทรงมาเร็วเกินไป)

สรุป A Haunting in Venice คดีล่าสุดของนักสืบปัวโรต์ในชุดการกำกับของเคนเนธ บรานาห์ ที่มีความน่าสนใจตั้งแต่เห็นตัวอย่าง กับความโดดเด่นในบรรยากาศสไตล์หนังผี ให้อารมณ์ขัดกับการใช้ตรรกะของยอดนักสืบที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่ก็ยังขาดชั้นเชิงในการนำเสนอที่ควรจะทำให้ผู้ชมลุ้นและติดตามกับคดีได้มากกว่านี้

Story Decoder
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่