รู้จัก ‘เซีย จำปาทอง’ สส พรรคก้าวไกล ตัวแทนผู้ใช้แรงงานธรรมดา ผู้หวังเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ

ผมเซีย จำปาทอง ผมเป็นแค่คนธรรมดาที่ทำงานรับจ้าง ได้รับเงินค่าจ้างแค่พอใช้ชีวิตไปวันๆ ชีวิตผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เมื่อลำดับปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกลถูกประกาศ คำถามที่หลายคนอาจสงสัย คือ บรรทัดที่ 4 ของบัญชีรายชื่อ เซีย จำปาทอง คือใคร? ทำไมเป็นรองแค่ ‘พิธา – ชัยธวัช – ศิริกัญญา’ ผู้เป็นหัวหน้า เลขาธิการ และรองหัวหน้าพรรค และทำไมอยู่ในลำดับที่ปลอดภัยกว่าเจ้าของชื่อที่คุ้นหูอย่าง ‘รังสิมันต์’ หรือ ‘วิโรจน์’

หากพิจารณาบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ของพรรคอื่น จะพบว่ามีเป็นรายชื่อของคน ‘ไม่ธรรมดา’ ทั้งนั้น บางคนเป็นนักเรียนนอกลูกนักการเมืองใหญ่ บางคนเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย บางคนเป็นหม่อมหลวง แน่นอนว่าการจัดคนในลำดับบัญชีย่อมสะท้อนวิธีคิดของแต่ละพรรคการเมือง



เซีย จำปาทอง ไม่ใช่นักเรียนนอก ไม่ได้เป็นลูกหลานใคร และไม่ใช่เจ้าของนามสกุลดัง แต่เชื่อเถอะว่าเซียไม่ใช่ใครที่ไหน เขาปราศรัยไว้ชัดเจนว่าเป็นประชาชนธรรมดาที่ทำงานรับจ้าง ได้รับค่าจ้างแค่พอใช้ชีวิตไปวันๆ เฉกเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ 

และหมวกอีก 2 ใบที่เซียสวมอยู่ คือ ประธานสหภาพแรงงานกิจการปั่น–ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์) และประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย

ใครคือเซีย เขาเคยเคลื่อนไหวอะไรมาบ้าง ทำไมได้อยู่ลำดับที่ 4 และจะเป็นผู้แทนที่ผลักดันอะไรให้เรา? The MATTER ชวนอ่านบทสัมภาษณ์นี้ไปด้วยกัน



ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ปีกแรงงาน เคยเคลื่อนไหวด้านแรงงานอย่างไรบ้าง?

ผมสมัครสมาชิกสหภาพแรงงานตั้งแต่เริ่มทำงานเมื่อปี 2536 เคยร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประกันสังคมในอีก 3 กรณีกรณีที่ยังไม่ได้บังคับใช้ คือ กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ก็ร่วมเคลื่อนไหวจนกรณีเหล่านี้มีผลบังคับใช้เพิ่ม

 เพราะตอนที่ผมเริ่มทำงาน ประกันสังคมยังเพิ่งบังคับใช้แค่ 4 กรณีเท่านั้น ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย–ประสบอุบัติเหตุ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย 

จากนั้นก็เป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงาน เคยอยู่หลายฝ่าย เช่น การศึกษา สวัสดิการ ก่อนจะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสหภาพแรงงาน ผมเป็นประธานอยู่ 2 สมัยก็ผลัดไปเป็นฝ่ายอื่นต่อ ตอนหลังมีคนเสนอให้เป็นประธานก็เป็นอีก

ทุกวันนี้ก็เป็นประธานสหภาพแรงงานกิจการปั่น–ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์) และเป็นประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย

ทำไมถึงสมัครเข้าร่วมสหภาพแรงงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้าทำงานในโรงงานจะมีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว พี่ๆ คณะกรรมการและสมาชิกรุ่นก่อนก็แนะนำและอธิบายข้อดีของการมีสหภาพแรงงาน จัดการศึกษาให้เราทราบว่า ถ้าเราไม่รวมตัวกัน เราก็จะทำงานหนักแต่ไม่ได้มีสวัสดิการและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ส่วนนายจ้างเขาก็รวยเอา 

แต่ถ้าเราอยากมีค่าจ้างและสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น มีโบนัสหรือมีเงินขึ้นประจำปี เราก็ต้องเข้าร่วมสหภาพแรงงานและยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ซึ่งสหภาพแรงงานก็ทำให้เห็นจริงว่า พอยื่นข้อเรียกร้องและเจรจากับนายจ้างก็ได้เงินและโบนัสเพิ่มขึ้นจริง เห็นแบบนี้เราก็ตัดสินใจมาร่วมและสมัครเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 



ได้ยินว่าเป็นคนเสื้อแดงมาก่อน เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไรบ้าง  

ผมเคยร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง การทำงานกับสหภาพทำให้ผมซึมซับและมีสำนึกเรื่องประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว 

เพราะกระบวนการของสหภาพแรงงานมีความเป็นประชาธิปไตยสูง เช่น ใครจะสมัครเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานก็ต้องได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก สมมติว่ามีคนสมัคร 20 คน แต่มีข้อกำหนดว่าจะเอาคณะกรรมการแค่ 17 คน อีก 3 คนก็อาจจะไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือเวลาจะแก้ไขข้อบังคับอะไรก็ต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่ 

ถ้ามีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบจึงจะแก้ไขได้ภายในเครือข่ายแรงงานเห็นว่ารัฐบาลสมัยนั้นจัดตั้งกันโดยมีคนไม่เกี่ยวข้องมาร่วม ไปจัดต้ังกันในค่ายทหาร เรารู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ใช่ มันไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย 

ก็เลยเข้าร่วมชุมนุมต่อสู้กับคนเสื้อแดง พากันไปตลอดจนถึงวันที่เขาสลายการชุมนุม แม้เราไม่ได้รับบาดเจ็บแต่ก็เห็นคนถูกยิงล้มลงต่อหน้า ตอนนั้นยืนอยู่ตรงบ่อนไก่ใกล้ๆ เวทีมวย ไม่รู้กระสุนมาจากไหน ผมก็วิ่งหนี โชคดีที่ชาวบ้านแถวนั้นเปิดประตูบ้านให้เข้าไปหลบ เลยไม่เป็นอะไร 

วันที่สลายการชุมนุมพวกผมก็อยู่ในเหตุการณ์ จำได้ดีว่ามีคนถูกกระทำและถูกทำร้าย ยังฝังใจเราอยู่ มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้น และเราก็เห็นกระบวนการต่างๆ ว่า สุดท้ายแล้วก็พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้แล้วว่าที่คนเสื้อแดงโดนกล่าวหาว่าเผา ว่ามีอาวุธสงคราม สุดท้ายมันก็ไม่เป็นความจริง

ผมเป็นคนเสื้อแดงคนนึง คนเสื้อแดงในสมัยนั้นมีหลายแบบ ถึงยุคนั้นจนยุคนี้ความคิดก็หลากหลาย คนร้อยคนก็ไม่ได้คิดเหมือนกัน บางคนคิดว่าเราควรที่จะผลักดันให้ถึงที่สุดในการแก้ปัญหาที่โครงสร้างเพื่อให้ประเทศเปลี่ยนและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่บางส่วนก็มองว่าแค่รัฐบาลจากการเลือกตั้งตามประชาธิปไตยก็พอแล้ว เสื้อแดงมีหลายแบบ และก็มีแดงกลุ่มนึงที่เปลี่ยนมาเป็นส้มนั่นแหละ

เคลื่อนไหวภาคประชาชนอยู่ดีๆ ทำไมถึงลงมาเล่นการเมือง

ผมเคลื่อนไหวในขบวนการสหภาพแรงงานและได้เจอข้อเท็จจริงว่า ปัญหาแรงงานไม่สามารถแก้ไขได้ถ้าเราไม่สนใจเรื่องการเมือง เพราะการเมืองกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันเรา ไม่ว่าเราจะหลับ ตื่น หรือทำงาน

แม้แต่เรานอนหลับอยู่ เปิดพัดลม แต่สิ้นเดือนค่าไฟแพงมาก การเมืองมันกำหนดว่าค่าไฟจะถูกหรือแพง การเมืองกำหนดว่าคุณจะสัมปทานหรือจะให้เอกชนมาสร้างโรงไฟฟ้ากี่โรง ค่าไฟแพงเพราะรัฐจัดการเรื่องนี้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ 

ค่าจ้างขั้นต่ำก็เหมือนกัน เวลาเราพูดถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าการเมืองไม่เห็นด้วยก็ไม่มีโอกาสได้ขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคม หรือกฎหมายความปลอดภัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน การเมืองเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง พอเราเห็นและเรียนรู้ว่าเป็นแบบนี้ก็คิดว่าแรงงานควรจะมีพรรคการเมือง

จนปี 2560 มีคนชวนไปทำพรรคการเมือง ก็เลยตัดสินใจร่วมจัดตั้งพรรค ซึ่งก็คือพรรคอนาคตใหม่ เพราะเราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พอเรารู้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำมันมีฝ่ายการเมืองเป็นคนกำหนด ถ้าเราไม่ไปทำงานการเมือง แล้วเมื่อไหร่ค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการปรับขึ้น เอาหนังสือไปยื่นให้รัฐบาลเขาก็ไม่ทำให้ ก็เลยคิดว่า เราควรมีส่วนร่วมและไปทำเองดีกว่า 

ทำไมถึงได้อยู่ลำดับที่ 4? ก้าวไกลมีวิธีคิดอย่างไรเกี่ยวกับการจัดลำดับให้แรงงาน 
วิธีจัดลำดับแบบนี้ไม่ได้เพิ่งมาเป็นตอนที่ผมอยู่อันดับ 4 เพราะตอนพรรคอนาคตใหม่ คุณมด—วรรณวิภา ไม้สน ก็อยู่ลำดับ 3 ของบัญชีรายชื่อ 

นั่นหมายความว่าอนาคตใหม่และก้าวไกลให้ความสำคัญกับแรงงาน ในข้อบังคับของพรรคเขียนไว้ว่า กระบวนการทำงานต้องมีส่วนร่วมของแรงงานอยู่ในพรรคด้วย จึงเป็นที่มาของลำดับ 4

การให้ความสำคัญกับแรงงานมีตั้งแต่อนาคตใหม่ พรรคคิดว่าแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นคนที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจพัฒนาและเป็นกำลังหลักสำคัญ คนวัยแรงงานมีเกือบ 40 ล้านคน 

แต่กลับถูกทอดทิ้งไม่ค่อยมีพรรคการเมืองไหนพูดถึง และไม่มีโอกาสนำเสนอพูดคุยปัญหาของตัวเอง หรือได้รับการดูแลจัดสรรงบประมาณ พรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นก็เห็นความสำคัญและกำหนดว่า จะจัดให้แรงงานอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ 
ส่วนวิธีเสนอชื่อตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ทางเครือข่ายจะมีกระบวนการในการพิจารณาโดยการเปิดรับสมัคร



ถ้าได้เป็น ส.ส. จะผลักดันประเด็นไหนเป็นอันดับแรก

เราอยากผลักดันเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่แรงงานและพี่น้องประชาชน และหากถามเจาะที่แรงงาน เราอยากผลักให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท 

เพราะการที่เพราะการที่แรงงานมีค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ตอนนี้แรงงานรายได้น้อย พอรายได้น้อยจะซื้อของทีมันก็คิดแล้วคิดอีก ต้องใช้จ่ายประหยัดมากเพราะของแพง รวมถึงสิทธิในการรวมตัวของคนงาน 

ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญเหมือนกัน ก็จะผลักดันไปพร้อมกันหลายๆ เรื่อง

จะสนับสนุนให้สหภาพแรงงานเข้มแข็งขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ 
ผมมองว่า ประเด็นเรื่องสหภาพแรงงานเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงมากขึ้นในหมู่ขบวนการการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ 

และพรรคก้าวไกลจะผลักดันให้รัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกัน เพื่อจะให้การรวมตัวกันมันง่ายขึ้น 

ถามว่า ทุกวันนี้มีกฎหมายให้สิทธิลูกจ้างรวมตัวไหม? มีครับ 

มีกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้ลูกจ้างในสถานประกอบการรวมตัวกันได้ แต่เอาเข้าจริงการรวมตัวกันมันทำได้ยากมาก เพราะว่าแค่คนงานคิดว่าจะรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงาน บางแห่งนายจ้างก็เลิกจ้างแล้ว

ณ ขณะนี้ ผมว่าขบวนการของสหภาพแรงงานมันโตขึ้นนะ แค่ยังไม่ได้สามารถรวมตัวกันและสร้างอำนาจต่อรองได้อย่างเต็มที่ แต่ในเชิงการพูดถึงสหภาพแรงงานผมว่ามันกว้างขึ้น คนหนุ่มสาวพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น

นอกจากผลักดันให้รัฐรับรองอนุสัญญา ILO มีวิธีอื่นที่จะสนับสนุนสหภาพแรงงานในคนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งขึ้นมั้ย

เราส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ และสนับสนุนการทำกิจกรรมในการจัดตั้งเป็นเครือข่าย

การ ‘ปรับค่าแรงขั้นต่ำ’ พรรคมีกระบวนการขึ้นค่าแรงอย่างไร

ทางพรรคก้าวไกลพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ กระบวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศเรามันช้ามาก ทำให้แรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในขณะที่เศรษฐกิจและเงินเฟ้อมันไปไกลแล้ว

ผลก็ตกมาอยู่ที่แรงงาน แล้วสุดท้าย พอแรงงานรายได้น้อย เศรษฐกิจก็ไม่ขับเคลื่อนเพราะไม่มีกำลังซื้อ

ก้าวไกลคำนวณจากเรื่องพวกนี้ จนเสนอที่ 450 บาทแบบจะปรับขึ้นทุกปีอัตโนมัติโดยไม่ต้องให้มีขบวนการสหภาพแรงงานเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันกรรมกรสากล ในวันสตรีสากล หรือในวันอะไรต่างๆ

พรรคมีแผนเจรจากับภาคธุรกิจในการเพิ่มค่าแรงอย่างไร

สำหรับ SME พรรคก็เตรียมนโยบายไว้ว่าจะดูแลหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่สำหรับทุนใหญ่ๆ หรือทุนผูกขาด มันไม่สะเทือนขนหน้าแข้งเขาหรอกครับ ผมคิดว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มีนายทุนบางคนด้วยซ้ำที่เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาตั้งหลายสิบปีก่อน ว่าให้เป็น 500 บาทต่อวัน

ข้อเสนอเรื่องลดชั่วโมงการทำงาน ถ้าก้าวไกลออกกฎหมายได้ จะทำยังไงให้นายจ้างไม่ละเมิด
ขณะนี้ยอมรับเลยว่า มีนายจ้างบางคนละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายอื่นๆ 

ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอยู่เช่น กฎหมายกำหนดว่าห้ามเลิกจ้างคนท้อง ก็มีนายจ้างเลิกจ้างคนท้อง หรือทุกวันนี้ กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้ทำงานสัปดาห์นึงไม่เกิน 48 ชั่วโมง แต่ก็ยังมีนายจ้างบางแห่งที่ให้ลูกจ้างทำงานมากกว่านั้น

คือ รัฐควรมีเงินกองทุนที่เก็บเงินจากนายจ้างมาเป็นกองทุนไว้เลยว่า หากคุณปิดกิจการ อย่างน้อยๆ ก็จะมีเงินที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ไม่งั้นเราก็จะเจอกรณีแบบที่เล่าไป

เพราะเมื่อมันเกิดขึ้น กลไกมันตามยากโดยเฉพาะนายจ้างคนต่างประเทศก็ไม่รู้จะไปตามที่ไหน หรือแม้แต่นายจ้างในประเทศ เวลาเขาปิดกิจการลอยแพคนงาน บางทีก็สร้างเงื่อนไขกลไกต่างๆ ไว้ในกรณีที่ไม่จ่ายค่าชดเชย ก็ยิ่งทำให้คนทำงานติดตามค่าชดเชยได้ยาก

ปลายทางที่เห็นคือรัฐสวัสดิการ ปลายทางอยู่ไม่ไกลนะ แค่นี้เอง ตอนนี้เริ่มเห็นแล้ว จากที่ผมเริ่มทำงานในสหภาพแรงงาน เคลื่อนไหวปัญหาแรงงาน พร้อมกับเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ในระยะเวลาไม่กี่ปี ก็มีการพูดถึงปัญหาโครงสร้างของประเทศนี้มากขึ้น 

https://thematter.co/social/politics/sia-jampathong-interview/202731
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่