JJNY : “โตโต้”ศาลตัดสิทธิ์“ช่อ”กลั่นแกล้ง│หมออ๋องแจงเหตุไม่ตรวจรับ│กฟผ.กัดฟัน! ขยายเวลาแบกหนี้│เซเลนสกีแนะยึดสิทธิ์วีโต้

“โตโต้” ศาลฎีกาตัดสิทธิ์ “ช่อ-พรรณิการ์” กลั่นแกล้ง
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_616199/

“โตโต้” ศาลฎีกาตัดสิทธิ์ “ช่อ-พรรณิการ์” กลั่นแกล้ง ชี้ไม่ได้เขียนเสือให้วัวกลัว นักการเมืองทุกคนมีสิทธิ์ต้องโทษย้อนหลัง แจง “ปิยบุตร” แถลงช้าเพราะติดประชุมสภา อย่ามองเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่เป็นปัญหาของข้อกฎหมาย
 
นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ กล่าวถึงกรณีศาลฎีกา พิพากษา น.ส.พรรณิการ์ วาณิช ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต โดยระบุว่าการแถลงข่าววันนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะประเด็นของน.ส.พรรณิการ์ แต่พูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ตนเป็นคนอภิปรายถึงแนวนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม รวมถึงปัญหาโครงสร้างประเทศที่ใช้นิติสงครามเข้ามาจัดการนักการเมือง
 
พร้อมตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เรียกว่า “ฉบับปราบโกง” เป็นการปราบโกงหรือปราบใคร เพราะพบว่ามีปัญหาแฝงในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการให้อำนาจองค์กรอิสระ ออกมาตรฐานจริยธรรมของแต่ละองค์กรขึ้นมา มีผลให้ สส. สว. และรัฐมนตรีอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมนี้ และเมื่อ สส. สว. และรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องใดก็แล้วแต่ กลับไม่ได้จบภายในองค์กรที่สังกัด แต่กลับให้อำนาจองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค 3 วรรค 4 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยเอาผิดต่อได้ ถือเป็นการลงโทษซ้ำซ้อน
 
นายปิยรัฐ ยังระบุว่าปัญหาคือการใช้มาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระมาใช้กับนักการเมือง จึงต้องถามกับองค์กรอิสระว่ามนอดีตเคยทำผิดจริยธรรมหรือไม่ก่อนมาดำรงตำแหน่ง ความผิดของน.ส.พรรณิการ์ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเชื่อว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐธรรมนูญกลั่นแกล้งนักการเมือง ปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน และนักการเมืองที่ไม่ยอมอยู่เป็น ด้วยกฎหมายนี้
 
ด้านนายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส. ก้าวไกล นนทบุรี ระบุว่านางสาวพรรณิการณ์เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก่อนตั้งคำถามว่ามาตรฐานจริยธรรมของสส. ต้องย้อนกลับไปก่อนที่จะมาเป็น สส.หรือไม่ พฤติกรรมในอดีตสามารถนำมาใช้ในขณะเป็น สส.หรือไม่ รวมถึงการกระทำที่เกิดไปแล้ว ความผิดเหล่านั้นยังคงติดตัวหรือไม่ พร้อมฝากไปถึงองค์กรอิสระว่าสิ่งที่วางบรรทัดฐานไว้ถูกต้องหรือไม่
 
นอกจากนี้ คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีโทษในมาตรา 112 หากถูกตรวจสอบจริยธรรมจะซ้อนทับกับกฎหมายอาญาหรือไม่ และยุติธรรมหรือไม่ หากในอนาคตกฎหมายนี้ย้อนกลับมาที่ตัวท่านเอง ด้านน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่าในแง่ของกฎหมาย ไม่ควรมีกฎหมายลงโทษย้อนหลัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากเทียบทางอาญาถือเป็นโทษประหารชีวิต ถือเป็นโทษสูงหากเทียบพฤติการณ์
 
เมื่อถามว่านายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความเห็นว่าพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีล่าช้า และแล้งน้ำใจ นายปิยรัฐกล่าวว่า ความเห็นดังกล่าวถือเป็นคุณูปการกับพรรค ในนามพรรคก้าวไกลได้มีการแถลงข่าวผ่านทางเพจเฟซบุ๊คไปแล้ว แต่ในการแถลงข่าววันนี้ไม่ได้แถลงในนามพรรค ไม่ได้ต้องการให้มองว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล พรรคก้าวไกลก็หารือภายใน ไม่สามารถแอคชันได้ทันท่วงที เนื่องจากเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) มีการประชุมสภาด้วย
 
เมื่อถามต่อว่าได้มีการคุยกับน.ส.พรรณิการ์หรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้คุยกับน.ส.พรรณิการ์ แต่คิดว่าทางพรรคน่าจะพูดคุยกันตามปกติ ส่วนแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ หากไม่อยากให้ศาลพิจารณาเรื่องจริยธรรม นายปิยรัฐระบุว่า ตามที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ได้นำเสนอการยกร่างรัฐผะรรมนูญฉบับใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการต่อยอด นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเสนอให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและไม่เกิดเครื่องมือทางการเมือง
 
กฎหมายจริยธรรม ควรอยู่ภายใต้สภา หรือเป็นกฎหมายรอง หรือไม่ การเอาผิดวินัยก็มีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่ แต่ละองค์กรมีกลไกอยู่ ซึ่งอาจเป็นการหารือภายในองค์กร ศาลไม่ควรชี้ผิดถูกเรื่องจริยธรรม เพราะเรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเดียวกับข้อกฎหมาย หากมองว่าการวินิจฉัยไม่เป็นธรรมควรไปร้องศาลปกครอง
 
ส่วนมองว่าเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือไม่ นายปิยรัฐมองว่าไม่ใช่การเขียนเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกล หรือคดีมาตรา 112 เท่านั้น แต่คำถามสำคัญก็คือ กรณีทั่วไปที่ศาลเคยตัดสินโทษไปแล้ว ศาลฎีกาจะกลับมาเอาโทษนักการเมืองคนนั้นในภายหลังได้อีกหรือไม่



หมออ๋อง แจงเหตุไม่ตรวจรับ งานสร้างรัฐสภาใหม่ ชี้มีหลายส่วน ไม่สมบูรณ์ตามแบบ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4191005

‘รองอ๋อง’ แจงเหตุตรวจรับมอบไม่ทันตามกำหนดการเดิม ชี้มีข้อขัดแย้งในคกก.ตรวจรับ หลายส่วนไม่เป็นตามแบบ ยันไม่เกี่ยวกับคดีที่อยู่ใน ‘ป.ป.ช.’ เตรียมถกทุกภาคส่วนอีกรอบ 
 
เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 21 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวถึงกรณีเรื่องการตรวจรัฐสภาว่า มีเงื่อนไขและกรอบเวลาอยู่หลายช่วง ซึ่งทำให้การก่อสร้างไม่เสร็จภายในปี พ.ศ.2563 ตามสัญญาและเกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาหลายจุด ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมข้อเท็จจริงจากกรรมการตรวจรับตามช่วงเวลาที่ควรจะเป็น ตรวจรับอาคารรัฐสภาคือเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ยังมีความเห็นขัดแย้งในตัวกรรมการ จึงต้องทำให้ชี้แจงของความเห็นแย้งให้ชัดเจนก่อน และคาดว่า จะมีความชัดเจน ภายในสิ้นเดือนนี้
 
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ประชาชนสนใจ มีอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ อาคารนี้สมบูรณ์พอที่จะตรวจรับหรือยัง เงื่อนไขเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งต้องรับผิดชอบ โดยฝ่ายของเลขาธิการสภาฯ ดังนั้น หากผู้ใดพบเห็นว่า ยังมีจุดที่ต้องสงสัยสามารถส่งเรื่องมาที่กรมประชาสัมพันธ์ผู้แทนราษฎรได้
 
ประการที่สอง คือเรื่องของค่าปรับ ซึ่งผ่านช่วงเวลามาหลายช่วงตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด ระหว่างโควิด และหลังโควิด มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับมติของครม. ที่มีการเปลี่ยน ครม. ตั้งแต่มีการก่อสร้าง เพราะฉะนั้น ข้อเท็จจริงส่วนนี้เราจะมีการเปิดเผยและรวบรวมสู่สาธารณะ เนื่องจากต้องการให้สังคมรับทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับเงินภาษีของประชาชนว่า รัฐสภาแห่งนี้ไม่สามารถที่จะตรวจรับได้ตามเวลา และมีใครที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องอะไรบ้าง ถ้าสามารถตรวจรับได้ภายในเดือนกันยายนนี้ก็จะมีการเปิดใช้อาคารรัฐสภาอย่างเป็นทางการ
 
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องข้อร้องเรียนต่างๆ ของคณะกรรมการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องนี้สามารถแยกออกจากเรื่องตรวจรับได้ คือเมื่อตรวจรับเรียบร้อยอยู่ในระยะประกัน 2 ปี คดีของ ป.ป.ช. ยังเดินหน้าต่อไปได้ และทางเราพร้อมให้ความร่วมมือตรวจสอบความทุจริตที่เกิดขึ้น ตนไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้รับจ้างและผู้จ้าง แต่ตนเป็นตัวแทนของประชาชนในการตรวจสอบเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใสมากที่สุด ตนขอศึกษาข้อเท็จจริงก่อนเนื่องจากมีหลายเงื่อนไข และหลายช่วงเวลา แต่เท่าที่สังคมเข้าใจคือด้วยมติของครม. และเงื่อนไขในเรื่องของโควิดมีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าปรับน้อยลง หรืออาจจะเป็นศูนย์
 
เมื่อถามว่า คณะกรรมการตรวจรับมีข้อขัดแย้งอะไรบ้าง นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ตนได้แค่คำบอกเล่า ต้องขอดูเอกสารการประชุมทั้งหมดก่อน ซึ่งจะมีการเรียกกรรมการตรวจรับมาประชุม และชี้แจงตัวเอกสารทั้งหมด หลังจากที่ตนกลับจากการดูงานต่างประเทศที่สิงคโปร์
 
เมื่อถามว่า สาเหตุหลักๆที่ไม่สามารถตรวจรับงานได้ในวันที่ 18 กันยายนคืออะไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังเป็นความไม่สมบูรณ์ตามเงื่อนไขของแบบ รัฐสภามีผู้รับผิดชอบหลายหน่วยงาน สำหรับหน่วยรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการเป็นเรื่องหลักที่เราจะตรวจรับ ซึ่งมีบางส่วนที่ยังมีข้อสงสัย คือมีความเห็นแย้งว่าไม่เป็นไปตามแบบ
 
เมื่อถามว่า ในการรับฟังคำชี้แจงจะรับฟังใครบ้าง นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า รับฟังทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจรับทั้งหมด
 
เมื่อถามว่า สิ้นเดือนกันยายนจะรับฟังทันหรือไม่ เนื่องจากประเด็นที่มีความสะสมมาในการสร้างรัฐสภาใหม่ที่มีหลายประเด็น และซับซ้อนมาก นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ความซับซ้อนเป็นเรื่องของกฎหมาย และสัญญา ซึ่งต้องใช้เวลา หลังจากนี้ในการตรวจสอบ โดยหน่วยงานที่ตรวจสอบก็จะตั้งมาเป็นกรรมการตรวจสอบเองก็ได้ แต่เรื่องของป.ป.ช.ก็คงเดินหน้าเต็มที่ ถ้าจะรอเรื่องฟ้องร้องทั้งหมดจบคงจะต้องใช้เวลาไปอีกหลายปีกว่าที่จะใช้งานอาคารรัฐสภาได้
 
เมื่อถามว่า สิ้นเดือนนี้ ต้องมีการสับเปลี่ยนข้าราชการจะมีปัญหาหรือไม่ หากเรื่องความขัดแย้งยังค้างคาอยู่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความสำคัญที่เราต้องช่วยกัน แน่นอนว่า จะมีการสรรหาเลือกเลขาธิการคนใหม่ ในเดือนตุลาคม และตนคิดว่า อาคารรัฐสภานั้นผ่านเลขาธิการมาหลายคน ดังนั้น หน้าที่ของตนและคณะทำงานทั้งหมด จะติดตามทุกอย่างไม่ให้มีข้อบกพร่องในการส่งมอบงานต่อไป


 
กฟผ.กัดฟัน! ขยายเวลาแบกหนี้ลดค่าไฟให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สนองนโยบายรัฐ
https://www.khaosod.co.th/economics/news_7876622

กฟผ.ขอเวลาประเมินแนวบริหารจัดการ ขอคืนหนี้ที่รัฐยังค้างอยู่ 1.35 แสนล้านบาท จะยืดให้ได้กี่งวด ชี้ออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อจ่ายคืนหนี้ อาจไม่ใช่แนวทางที่จะทำได้
 
วันที่ 20 ก.ย.2566 นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ขอเวลาประเมินแนวทางการบริหารจัดการขอคืนหนี้ที่รัฐยังค้างอยู่ 1.35 แสนล้านบาทว่าจะสามารถยืดหนี้ให้ได้กี่งวด ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดูแลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนในงวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.2566) ให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยที่น่าจะดูแลดำเนินนโยบายไปถึงปี 2567

เบื้องต้นงวดแรกที่จะต้องชำระหนี้ให้กฟผ. ยังสามารถรับภาระได้อยู่แต่ในระยะต่อไปอาจมีความเป็นไปได้ที่จะขยายระยะเวลาคืนหนี้กฟผ. ไปถึงสิ้นปี 2568 จากแผนเดิมที่จะต้องคืนหนี้งวดสุดท้ายให้จบภายในเดือนเม.ย.2568 ยอมรับว่า เรื่องที่กังวลมากที่สุดคือ เครดิตเรตติ้งจะลดลงหรือไม่ ส่วนการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อจ่ายคืนหนี้กฟผ. มองว่าอาจไม่ใช่แนวทางที่จะทำได้ เพราะเป็นการระดมเงินเพื่อชำระหนี้ไม่ใช่การนำไปลงทุน

นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ให้บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) เข้ามาช่วยรับภาระต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ โดยการปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าเป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู จากเดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งหากราคาก๊าซเกินกว่านั้นปตท.จะต้องรับภาระส่วนนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่