[รีวิว] Talk to Me - มือผีกับการถ่ายทอดความกลัวและลงลึกถึงปัญหาในสังคมยุคปัจจุบัน

หลังได้รับเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาอย่างหนาหูจากทั้งนักวิจารณ์และฝั่งคนดู บ้างก็ว่าเป็นภาพยนตร์สยองขวัญแห่งปี 2023 เลยทีเดียว สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกจากสองผู้กำกับฝาแฝด ไมเคิล ฟิลิปปู (Michael Philippou) และแดนนี ฟิลิปปู (Danny Philippou) ยูทูปเบอร์ชื่อดังชาวออสเตรเลีย ที่มีผู้ติดตามกว่า 6.7 ล้านคน แต่นั่นก็ไม่สร้างความน่าสนใจเท่ากับการมีป้ายชื่อของ A24 แปะอยู่ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าในระยะหลัง ภาพยนตร์ที่ A24 เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องล้วนแต่มีคุณภาพในระดับที่ดีเยี่ยม และมีไอเดียสดใหม่ที่รอให้เข้าไปประจักษ์อยู่เสมอ

สำหรับ Talk to Me ที่มองเผินๆ อาจจะดูเหมือนภาพยนตร์สยองขวัญธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่น่ามีอะไรมากไปกว่าความซวยที่เกิดจากการเล่นพิเรนทร์ของวัยรุ่น และนำมาสู่บทสรุปที่สมควรแก่เหตุ แต่นั่นเป็นความจริงเพียงหยิบมือเท่านั้น ความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มาจากตัวพล็อตเพียงอย่างเดียว แต่มาจากองค์ประกอบทั้งหลายในเรื่องที่ถูกปรุงแต่งมาอย่างดีจนแทบจะยกนิ้วให้เมื่อดูจบเลย (แน่นอนว่านิ้วโป้ง)

พิธีกรรมเชิญผีสิงสู่ที่มีอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นซากมือหมอผี เปลวไฟจากเทียนไข และประโยค “พูดกับฉันสิ” รวมถึงอาการของผู้ที่ถูกสิง เป็นพฤติกรรมที่เชื่อว่าผู้ชมที่ได้ดูคงตีความไปไม่ต่างกัน ว่ามันเป็นลักษณะของการเสพยาเสพติด แน่นอนว่าผู้ที่หลงเข้าไป “ลิ้มลอง” ย่อมได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งๆ ที่รู้ในพิษภัยของมันอยู่แก่ใจ และผู้ที่อ่อนแอ(ทางใจ)ย่อมตกเป็นเหยื่อของสิ่งนี้ได้ง่าย ซึ่งสิ่งนี้เองที่ภาพยนตร์ใช้เป็นตัวดำเนินเรื่อง ในการนำผู้ชมค่อยๆ ดำดิ่งไปสู่ผลลัพธ์ปลายทางที่น่าสยดสยองของตัวละคร

แต่ระหว่างทางที่เหล่าตัวละครต้องเผชิญปัญหาและพยายามหาทางออกนี่แหละที่เป็นหัวใจหลัก ซึ่งสาเหตุที่ Talk to Me ถูกยกย่องว่าเป็นตัวแทนของภาพยนตร์สยองขวัญในยุคนี้ เพราะท่าทีของเหล่าตัวละครต่อเรื่องผีสาง ที่พวกเขามองเป็นเรื่องขำขัน (จนยกโทรศัพท์มาถ่ายกันอย่างสนุกสนาน) มากกว่าจะกลัวจนหัวซุกหัวซุน แบบที่ถ้าเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อน (รุ่นปู่ย่าตายาย หรือ รุ่นพ่อรุ่นแม่) ที่ก็ยังมีความยำเกรงต่อเรื่องเหนือธรรมชาติ จากคำพูดติดปากว่า “เจออะไรก็อย่าไปทัก เดี๋ยวของจะเข้าตัว” ซึ่งถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างเร็วกว่านี้สัก 20 ปีก็อาจจะเป็นแบบหลังที่ว่ามาก็ได้

รวมถึงประเด็นด้านสังคมที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อเรื่องกับความโดดเดี่ยวของคนในสมัยนี้ ที่แม้จะมีโซเชียลมีเดียให้สามารถติดต่อใครก็ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ “มีอา” (Sophie Wilde) จึงเป็นตัวแทนของคนยุคใหม่ที่ต้องเผชิญกับความเหงา การไร้ที่พึ่งจากคนรอบตัว และนั่นทำให้เธออยากลอง “จับมือ” เพื่อ “พูดคุย” กับใครสักคนนั่นเอง (ยืนยันจากบทสัมภาษณ์ผู้กำกับแดนนี่เผยว่า มือและประโยค “พูดกับฉันสิ” เป็นการสะท้อนถึงความเปล่าเปลี่ยวของผู้คนในยุคนี้ ที่ต้องการใครสักคนพูดคุยและอยู่เคียงข้างด้วย)

ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับสองผู้กำกับฝาแฝดไมเคิลและแดนนี ที่ถ้าไม่บอกเราคงไม่รู้ได้เลยว่านี่เป็นผลงานเรื่องแรกของพวกเขา เพราะทุกอย่างมันดูเข้ามือและมีพลังเอามากๆ นอกเหนือจากไอเดียของเรื่องแล้ว ความ “ถึง” ของงานสร้างก็ช่วยกระตุ้นความสมจริงให้มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ไรลีย์” (Joe Bird) เป็นการบอกกับเหล่าตัวละคร(และคนดู)ว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” แล้วนะ

การออกแบบเหล่าภูติผีและมิติวิญญาณก็สำคัญ แม้ความน่ากลัวในแบบผีๆ ของเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ถูกใช้มากนัก(แต่ได้ผลทุกครั้ง)ดั่งเช่นกับภาพยนตร์จำพวกบ้านผีสิงที่ถูกผีหลอกแทบจะทุกนาที และ(สปอยเล็กน้อย) จะมีเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ที่ผู้ชมจะได้เห็นมิติวิญญาณเบื้องหลัง (เป็นสภาพที่ไรลีย์เผชิญอยู่) ซึ่งเพียงแค่ชั่วครู่นั้นที่ได้เห็นเองก็รู้สึกได้ทันทีว่า “มันคือนรกดีๆ นี่เอง” และขนก็ลุกขึ้นทันที

และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ คือ การแสดงของตัวละคร ยอมรับว่าตอนดูตัวอย่างตอนแรกรู้สึกตลกกับท่าทีการถูกผีสิง (ดูปลอมๆ แปลกๆ) ถึงกับสบประมาทไว้ในใจ แต่พอดูในโรงภาพยนตร์ ฉากผีเข้าทุกฉากล้วนทำให้ตัวเกร็งแทบจะจิกกับเบาะโดยไม่รู้ตัว แน่นอนเชื่อสิว่า ครั้งแรกทุกคนย่อมรู้สึกตลกไม่ต่างจากพวกที่ยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายในห้องหรอก แต่พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่ ความกลัวก็เริ่มปรากฏ ต้องยกความดีความชอบให้นักแสดงทุกคน โดยเฉพาะ โซฟี ไวลด์ ที่เป็นแกนนำของการถูกสิง และยังต้องแบกรับอารมณ์ของการสูญเสียแม่ไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ

สรุป Talk to Me เป็นภาพยนตร์ที่สามารถขุดเอาความเป็นปัจจุบันมาเล่าในเชิงไสยศาสตร์ความเชื่อได้อย่างลงตัว และถ่ายทอดอารมณ์ความสยอง ความกลัว และความหม่นหมอง ได้มีระดับมากๆ สมกับป้ายชื่อ A24 และคงต้องคอยจับตาดูชื่อของสองผู้กำกับฟิลิปปูในเส้นทางการทำภาพยนตร์ต่อไป

Story Decoder
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่