คุยกันเรื่อง เสื้อเกราะกันกระสุนสมัยใหม่ที่ทหารในหลายประเทศใช้ และเสื้อเกราะกันกระสุนที่ไทยพัฒนา

เสื้อเกราะกันกระสุนสมัยใหม่ที่ทหารในหลายประเทศใช้ และเสื้อเกราะกันกระสุนที่ไทยพัฒนา
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เสื้อเกราะสำหรับทหารในสมรภูมิได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ผลเสียคือมันก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากด้วย
ในช่วงหลายทศวรรษหลังมานี้ เสื้อเกราะสมัยใหม่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ที่เรียกกันว่า "เคฟลาร์" ซึ่งนำไปรวมกับแผ่นโลหะหรือไม่ก็เซรามิกเพื่อช่วยป้องกันแรงกระแทก
จริงอยู่ที่เสื้อเกราะสมัยใหม่แบบนี้ช่วยป้องกันกระสุนและภัยคุกคามได้ แต่ก็หนักกว่าเสื้อเกราะสมัยก่อนที่ใช้เส้นใยไนลอนช่วยรับแรงกระแทกหลายชั้นซึ่งบางทีก็มีแผ่นไฟเบอร์กลาสด้วย
ทหารที่ใส่เสื้อเกราะ บอกว่า ความสบายในการสวมเสื้อเกราะเคฟลาร์ "ก็ไม่เลวร้ายนัก" แต่มันก็มีข้อเสียเวลาต้องใส่ในประเทศที่อากาศร้อน คือทหารผู้นั้นสามารถพกอาวุธและกระสุนซึ่งจำเป็นต้องใช้ได้น้อลง
กองทัพทุกประเทศล้วนเจอปัญหาเรื่องน้ำหนักและความสบายของเสื้อเกราะ
ตัวอย่าง เช่นเสื้อเกราะเต็มรูปแบบของกองทัพสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแผ่นป้องกันกระสุน 4 แผ่น มีเกราะกันตรงคอและเป้ากางเกง มีน้ำหนักรวมถึงเกือบ สิบสี่ กิโลกรัม เทียบกับเสื้อเกราะสมัยสงครามเวียดนามที่หนักแค่ สามจุดหก กิโลกรัม
น้ำหนักแต่ละกิโลกกรัมที่เพิ่มเข้าไปกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของทหารสมัยนี้ อย่างทหารราบสหรัฐ ในอิรักและอัฟกานิสถานต้องถือสัมภาระที่ประกอบไปด้วยอาวุธ อาหาร และเครื่องมืออื่น ๆ ที่หนักรวมถึง สี่สิบห้า กิโลกรัม
เมื่อเวลาผ่านไป การต้องถือของหนัก ก็ส่งผลต่อร่างกาย ในสหรัฐ กระทรวงการทหารผ่านศึก บอกว่าระหว่างปี 2003ถึง2009 มีทหารเกษียณพร้อมปัญหาด้านกล้ามเนื้อและโครงกระดูกเพิ่มขึ้นมากกว่า สิบเท่า
     ในช่วงกว่า 40 ปีผ่านไปที่การผลิตใช้เส้นใยเคฟลาร์เป็นหลัก ตอนนี้มีวัสดุใหม่ในการทำเสื้อเกราะแล้วมีชื่อว่า ultra-high molecular weight polyethylene
เสื้อเกราะนี้ได้ความแข็งแกร่งมาจากโมเลกุลประกอบเส้นใยที่มีขนาดยาวมากและก็ใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่ ผู้ผลิตเสื้อเกราะ UHMWPE บางรายบอกว่ามันมีความแข็งแกร่งมากกว่าเหล็กกล้าน้ำหนักเท่ากันถึง 15 เท่า
มีการผลิตเสื้อเกราะจากวัสดุนี้มาหลายทศวรรษแล้ว แต่มันเพิ่งจะได้รับการยอมรับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกองทัพบางประเทศก็เริ่มใช้เสื้อเกราะชนิดนี้แล้ว
แต่อีกปัญหาหนึ่งในการผลิตเสื้อเกราะคือ นอกจากจะกันกระสุนหรือสะเก็ดระเบิดได้แล้ว มันต้องสามารถป้องกันแรงกระแทกที่จะส่งต่อไปยังผู้ใส่เสื้อเกราะได้ด้วย
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ผลิตก็จะแก้ปัญหานี้ด้วยการเสริมพลาสติกโพลีเอทิลีนหรือวัสดุอื่น แน่นอนว่านี่ก็จะยิ่งทำให้เสื้อเกราะหนักเพิ่มขึ้นอีก
แต่คอลิน เม็ตเซอร์ จากบริษัทสกายเด็กซ์ บอกว่าวัตถุดิบที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนขึ้นจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เสื้อเกราะรุ่นใหม่ ที่ใช้วัสดุอย่างโบรอนคาร์ไบด์
การพัฒนาของเทคโนโลยีด้านนี้อาจทำให้ทหารหรือตำรวจคนหนึ่งรอดชีวิตได้
การพัฒนาเสื้อเกราะในกองทัพไทย
ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศในการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ การพัฒนา “เกราะกันกระสุน” ยุทธภัณฑ์ที่ช่วยลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของทหารและตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ประชาชนและประเทศ ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเซรามิก เซรามิกคอมโพสิทมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผ่นเกราะกันกระสุน ให้มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งและมีความแข็งแรงสูง สามารถรับมือกับอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างและการทะลุทะลวงสูงขึ้น
ทั้งนี้เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเป็น “เสื้อเกราะกันกระสุน” ซึ่งผลิตจากอลูมิเนียมเซรามิกความบริสุทธิ์ 96% และเส้นใยโพลีเอทิลีนคอมโพสิทสมบัติเชิงกลสูง เสื้อเกราะที่พัฒนามีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม/ชุด สามารถป้องกันภัยคุกคามในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) สหรัฐอเมริกา คือสามารถต้านทานการเจาะทะลวงด้วยกระสุน 7.62 M16 A1 และ M16 A2 งานวิจัยเสื้อเกราะกระสุนดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุน จากบริษัทพีทีที โพลิเมอร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผลิตเสื้อเกราะจำนวน 100ชุดมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสำหรับปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
เอ็มเทค สวทช. ยังมีการร่วมมือกับคณะวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนา “แผ่นเกราะติดรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กทางทหาร” ป้องกันภัยคุกคามในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ ภายใต้โครงการการพัฒนาเกราะแข็งน้ำหนักเบาสำหรับการใช้งานด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารในกองทัพไทยแผ่นเกราะผลิตมาจากอลูมิเนียมเซรามิกความบริสุทธิ์ 96% ประกอบร่วมกับแผ่นเคฟลาร์คอมโพสิทเป็นวัสดุรองรับ และมีความร่วมมือกับภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมอู่ทหารเรือ กองเรือลำน้ำ และกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ในการพัฒนา “แผ่นเกราะสำหรับเรือจู่โจมลำน้ำ” ภายใต้โครงการการพัฒนาและผลิตเกราะ แผ่นเกราะที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยแผ่นเกราะใส ผลิตมาจากกระจกลามิเนต ผ่านการออกแบบการจัดเรียงชั้นสลับกับฟิล์ม สามารถป้องกันภัยคุกคามระดับ 3A และแผ่นเกราะทึบ ผลิตมาจากซิลิคอนคาร์ไบด์เซรามิกเสริมแรงอะลูมิเนียมประกอบร่วมกับเส้นใยแก้วเสริมแรงอีพอกซี่เรซินเป็นวัสดุรองรับ สามารถป้องกันภัยคุกคามระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่