วัดสุทัศนเทพวราราม หรือวัดสุทัศน์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร

อยากให้ลองจินตนาการว่าเราคือชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยครับ

มันคือความวิเศษมากๆที่เราได้วีซ่าแบบที่สุดของวีไอพี เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยได้แบบยาวๆแบบไม่ต้องต่ออายุ เที่ยวได้ทุกสถานที่ที่คนในประเทศเข้าได้ มีความเชี่ยวชาญในการเดินทาง รู้ทุกตรอกซอกซอย รู้จักสถานที่สวยๆเยอะมากๆ รู้ว่าของกินที่ไหนอร่อยน่าไปกิน มีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเต็มมือ

มันจะสนุกมากเลยใช่ไหมครับ 😊😊😊

เอาละครับ ที่พูดนี้คือ ถ้าว่างแล้ว “ออกมาเที่ยวไทยกันครับ” สวมบทวิญญาณเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ รับลองว่าจะสนุกและเพลิดเพลินเป็นอย่างมากครับ และสถานที่แรกที่มาเที่ยววันนี้คือ “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” ประวัติและโบราณวัตถุที่สำคัญมีดังนี้ครับ





    วัดสุทัศนเทพวราราม หรือวัดสุทัศน์ (ชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไป) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ภายในกำแพงพระนคร ปัจจุบันเลข 146 แขวงวัดราชบพิธ (ในคณะสงฆ์ขึ้นกับแขวงพระบรมมหาราชวัง) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 28 ไร่เศษ

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาวัดสุทัศนเทพวรารามแห่งนี้ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2350 ตามความปรากฎในหมายกระทรวงวังเรื่องพระฤกษ์ก่อรากพระวิหาร ความตอนหนึ่งว่า "ด้วยพระยารณฤทธิ์รับสั่งใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า พระฤกษ์จะได้ขุดรากพระริหาร วัดทำใหม่ ณ เสาชิงช้า พระราชาคณะ 20 รูป จะได้สวดพระพุทธมนต์ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 4 ค่ำเดือน 3 ปีเถาะนพศก จุลศักราช 1169 (พ.ศ.2350) “ฯลฯ" และทรงพระราชดำริพระราชทานนาม วัดขึ้นเป็นครั้งแรกว่า "วัดมหาสุทธาวาส" ปีที่ปรากฎในหมายนี้จึงนับเป็นปีเริ่มก่อตั้งวัดสุทัศนเทพวราราม

    มูลเหตุการสถาปนาวัดสุทัศน์แห่งนี้ ก็ด้วยทรงพระราชประสงค์จะถ่ายแบบบ้านเมือง รั้ววัง ทั้งวัดวาอารามในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ของพระองค์ให้เป็นอย่าง กรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิม ที่เรียกกันว่า "ครั้งบ้านเมืองดี" ปรากฎความในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ว่า "ทรงมีพระราชโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนครให้สูงเท่าวัดพนัญเชิงให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย ชะลอเลื่อนลงมาประทับท่า สมโภช 7 วัน ณ เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ยกทรงเลื่อนตามทางสถลมารคพระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวัง หน้าบ้านร้านตลาดตลอดจนถึงที่ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมีหวังที่หน่วงโพธิญาณ จะโปรดสัตว์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรา รับทรงพระองค์ไว้"

    พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าด้วยจดหมายเหตุความทรงจำข้างต้นก็ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "วัดสุทัศน์นี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร จึงตั้งเทวสถานมีเสาชิงช้า ณ ที่นั้น ตามประเพณีพระนครโบราณ ข้อซึ่งว่า พระราชประสงค์จะทำให้สูงเท่าวัดพนัญเชิงนั้น ก็ชอบกลอยู่ เพราะถมพื้นสูงขึ้นไปมาก ในพระนครซึ่งเป็นที่ลุ่ม"

    การสร้างวิหารหลวงแต่แรกเริ่มในจดหมายเหตุและในพระราชวิจารณ์ ชี้ให้เห็นว่า โปรดให้สร้างวัดสุทัศน์สูงเทียบเท่าวัดพนัญเชิง แต่กลับปรากฎว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์นี้ใกล้เคียงกับพระวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังหลวงกรุงเก่าอย่างชัดเจนที่สุด

โบราณวัตถุที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชมความงดงามและสักการะขอพรมีดังนี้
1. พระพุทธศรีศากยมุนี
2. พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)
3. พระพุทธตรีโลกเชฎฐ์
4. พระกริ่งใหญ่
5. ท้าวเวสสุวรรณ
6. พระพุทธเสฏฐมุนี

และอื่นๆอีกมากมาย

1. พระพุทธศรีศากยมุนี
ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยขนาดใหญ่ ความสูง 4 วา (8 เมตร) หล่อด้วยสำริดปิดทอง เดิมประดิษฐานภายในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง โปรดเกล้าฯ ให้หล่อและทำการฉลองใน พ.ศ. 1904

    ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ในพ.ศ. 2350 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปอัญเชิญพระใหญ่จากเมืองสุโขทัย ล่องตามลำน้ำมายังพระนคร เมื่อมาถึง ทรงโปรดให้มีพิธีสงฆ์และงานสมโภชทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลา 7 วัน จึงอัญเชิญขึ้นบกพร้อมด้วยขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ พระราชดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตามกระบวนแห่มาด้วย เพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสุทัศนเทพวราราม ที่ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณกึ่งกลางพระนคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามพระใหญ่องค์นี้ว่า "พระพุทธศรีศากยมุนี"





2. พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)
ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง เป็นปูชนียวัตถุรูปเปรียบพระธรรม โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้เสด็จเป็นประธานประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งพระสุนทรีวาณีองค์นี้ ถูกสร้างเป็นรูปแบบพิเศษครั้งแรกในนามคณะสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม และผู้ออกแบบคือ นายปัญญาวิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

    เดิมพระสุนทรีวาเป็นภาพเขียนโบราณที่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน ป.ธ. 8) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 3 ได้ดำริสร้างขึ้นด้วยการผูกลักษณาการจากคาถาที่ได้รับสืบทอดมาจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และมอบหมายให้หมื่นสิริธัชสังกาศ (แดง) เขียนภาพขึ้นโดยมีลักษณะเทพธิดาทรงเครื่องอย่างบุรุษ แสดงนิสีทนาการบนดอกบัว สื่อถึงพระธรรม พระหัตแสดงอาการกวักเรียก (เอหิปัสสิกวิธี) สื่อถึงการเชิญชวนให้มาศึกษาปฏิบัติ พระหัตถ์ซ้ายมีแก้ววิเชียรวางประทับ สื่อถึงพระนิพพานมีองค์ประกอบรายล้อมด้วยมนุษย์นั่งบนดอกบัวซ้ายขวา ด้านล่างมีนาคและสัตว์น้ำ ด้านบนมีรูปเทพยดา พรหม สื่อถึงสังสารวัฏฏ์





3. พระพุทธตรีโลกเชฎฐ์
ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยสำริดปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจักร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ หล่อขึ้น ณ โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังทรงโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหลวงจากพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐานภายในองค์พระพุทธรูปด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธตรีโลกเชฎฐ์"

    เบื้องหน้าพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ มีพระพุทธรูปปางประทานโอวาทท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทดแทนพระศรีศาสดาที่ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธรูปและรูปพระมหาสาวก 80 องค์นี้ เป็นศิลปะตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างด้วยปูนปั้นลงสี ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์แรก ที่ทรงให้ถ่ายแบบจากหุ่นพระโครงสานไม้ไผ่ ที่สมมติเท่าองค์พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างเป็นตัวอย่าง และพระมหาสาวกมีลักษณะคล้ายบุคคลจริงมีใบหน้าและสีผิวที่แตกต่างกันไปตามอนุพุทธประวัติ





4. พระกริ่งใหญ่
ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสำริดปิดทองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยคณะศิษยานุศิษย์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 7 มีวัตถุประสงค์จัดสร้างเพื่อถวายสักการะบูชาพระคุณ ในวาระที่เจ้าประคุณมีอายุวัฒนมงคลครบ 5 รอบ 60 ปี
ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎก จึงได้ถวายพระนามพระกริ่งใหญ่องค์นี้ว่า "พระกริ่งธรรมปีฎก 60”





5. ท้าวเวสสุวรรณ
ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสำริดเคลือบสีเขียว ท้าวกุเวรมหาราช เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ "กุเวร" ได้สร้างโรงหีบอ้อยประกอบเครื่องยนต์ 7 เครื่อง ให้ผลกำไรขึ้นที่โรงแห่งหนึ่งแก่มหาชนน ได้กระทำบุญ ผลกำไรที่มากกว่าได้เกิดขึ้นแม้ในโรงที่เหลือ ซึ่งเลื่อมใสในบุญนั้น นำเอาผลกำไรที่เกิดขึ้นแม้ในโรงที่เหลือ ให้ทานตลอดสองหมื่นปี เมื่อถึงแก่กรรมไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อกุเวรในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ปกครองหมู่ยักษ์และอมนุษย์ มีราชธานีชื่อวิสาณะ ตั้งแต่นั้นจึงเรียกว่า "ท้าวเวสสุวรรณ"





6. พระพุทธเสฏฐมุนี
ประดิษฐานภายในศาลาดินหน้าพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยกลักฝิ่น ปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ปราบปรามกวาดล้างฝิ่นอย่างเด็ดขาด ทรงโปรดให้นำฝิ่นมาเผาทำลายที่สนามไชยและนำกลักฝิ่นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปที่โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธเสฏฐมุนี" โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อกลักฝิ่น"


(องค์จริง อยู่ที่ศาลาการเปรียญ)




(องค์จำลอง อยู่ที่ศาลาหน้าพระอุโบสถ)




พิกัด: https://maps.app.goo.gl/EBpDGCam6a52mo7E6?g_st=ic

บันทึกความทรงจำ
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2566
22 July 2023

ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีเถาะ
โสรวาร(ส) อาสาธมาส เบญจศก จ.ศ. 1385 , ค.ศ. 2023 , ม.ศ. 1945 , ร.ศ. 242
สุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน , จันทรคติ เป็น อธิกมาส ปกติวาร

TeawWatThai / เที่ยววัดไทย
เที่ยววัดไทย เที่ยวชมวัด และสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองไทย

#วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
#จังหวัดกรุงเทพมหานคร
#TeawWatThai / เที่ยววัดไทย
https://www.facebook.com/TeawWatThai.Travel/
https://www.instagram.com/teawwatthai.travel/
https://ppantip.com/profile/878726#topics
https://www.youtube.com/@teawwatthai
https://www.tiktok.com/@teawwatthai



(วิหาร พระพุทธศรีศากยมุนี)



(ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ในวิหารพระพุทธศรีศากยมุนี)

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่