“มาตาลดา” นิยายที่ให้มากกว่าความบันเทิง แต่เป็นบันทึกรักแม่สอนลูก พาผู้อ่านและผู้ชมอบอุ่นหัวใจไปพร้อมกับรับแนวคิดดี ๆ เกี่ยวกับครอบครัว
ท่ามกลางคำปรามาสว่าละครไทยมีแต่แนวชิงรักหักสวาท นำเรื่องเก่ากลับมารีเมกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนบทประพันธ์ช้ำ แม้จะมีการปรับบทให้เข้ากับยุคสมัย หรือฉีกเนื้อหาให้ต่างไปจากเดิม แต่กระนั้นผู้ชมก็ยังคาดเดาทุกฉากทุกตอนได้ราวกับเป็นหนึ่งในทีมเขียนบท รวมถึงละครบางเรื่องมีการใช้ความรุนแรงมากเกินไป ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเท่าไรนัก ทั้งยังเพิ่มความตึงเครียดให้กับแฟนละครอีกด้วย
ในขณะที่ปัจจุบันผู้ชมสามารถเข้าถึงซีรีส์ของต่างประเทศได้หลากหลายช่องทาง ทำให้หลายคนหันหลังให้กับละครไทย เนื่องจากซีรีส์ของต่างประเทศมีเนื้อหาแปลกใหม่ หักมุมอยู่ตลอดจนยากที่จะคาดเดา ทั้งยังสอดแทรกความรู้เฉพาะทางผ่านอาชีพของตัวละคร
และนานทีจะมีละครไทยน้ำดีถูกพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง “มาตาลดา” ละครแนวครอบครัวจากช่อง 3 คือหนึ่งในนั้น เนื่องจากเนื้อหาที่แฝงแนวคิดและเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นหัวใจ ทำให้สามารถขึ้นแท่นละครในดวงใจของใครหลายคน โดย EP.11 ทำลายสถิติเรตติ้ง Bangkok ถึง 7.13 เรตติ้ง 15+ BU ทำได้ 5.62 และเรตติ้ง Nationwide อยู่ที่ 3.28 ทั้งยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยอีกด้วย
การที่มาตาลดาสามารถทำให้คนไทยกลับมาดูละครไทยได้นั้น นอกจากนักแสดงที่ถ่ายทอดบทบาทออกมาให้คนดูเข้าถึงตัวละคร ผู้กำกับและผู้จัดที่ควบคุมกระบวนการทำงาน ทีมเขียนบทที่ปรับเนื้อหาจากนิยายให้เข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์ความเป็นจริง และทีมงานทุกคนที่ตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว อีกหนึ่งบุคคลที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ เจ้าของบทประพันธ์
“ประชาชาติธุรกิจ” เจาะลึกถึงที่มาของนิยายสร้างสรรค์สังคมเรื่องนี้กับ คุณกิ่ง-ชลธิดา ยาโนยะ นามปากกา “ณัฐณรา” ผู้สร้างมาตาลดาที่แท้จริง
นิยายจากคำสอนของแม่
คุณกิ่งเล่าถึงที่มาของการเขียนนิยายเรื่องมาตาลดาว่า ย้อนกลับไปประมาณ 8-10 ปีก่อน ได้รับโอกาสจาก บ.ก. ท่านหนึ่ง คือ พี่โป่ง-การบูร สุขวิไลธารา ซึ่งในขณะนั้นคุณกิ่งมีความตั้งใจที่จะเขียนนิยายเอาไว้ให้ลูกสาวในวัยกำลังโตได้อ่าน เพื่อถ่ายทอดคำสอนให้กับเขา
เนื่องจากบางครั้งสิ่งที่แม่อยากจะสอนลูกไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ เราต้องคิดหากุศโลบายที่จะส่งสารของเราให้กับลูก นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของนิยายเรื่องมาตาลดา
โดยสิ่งที่คุณกิ่งต้องการจะสอนลูกนั้นมีหลายเรื่อง ได้แก่ การตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข และการคาดหวังและการรับมือกับความผิดหวัง
“ตอนนั้นเขายังเด็ก เราไม่สามารถจะสอนเขาได้ แล้วเราก็รู้ว่าถ้าเขาโตขึ้น เราอาจไม่มีเวลามากพอที่จะสอนเขา และอาจจะลืมความรู้สึกที่อยากสอนเขาในเรื่องนี้ไปแล้ว ดังนั้นจึงดีกว่าหากมีการบันทึกไว้เป็นนามธรรมส่งต่อให้เขา” คุณกิ่งกล่าว
อย่าตัดสินคนที่ภายนอก
เมื่อได้ดูละครหรืออ่านนิยายเรื่องมาตาลดาแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดผู้แต่งจึงให้ตัวละครหลักของเรื่องเป็นชาว LGBTQ+ ไม่ใช่การตั้งแง่ แต่เพราะทุกสิ่งล้วนมีที่มาที่ไป
คุณกิ่งให้คำตอบว่า ที่ให้ตัวละคร พ่อเกริกพล หรือพ่อเกรซ เป็น LGBTQ+ เพราะคนที่เป็นเพศทางเลือกมักถูกตัดสินว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ทันที ซึ่งแตกต่างจากหญิงหรือชายเเท้ ที่ไม่ถูกตีค่าและตัดสินใจว่าเป็นคนอย่างไรตั้งแต่แรกเห็น คุณกิ่งจึงสร้างพ่อของมาตาลดาให้เป็นเพศทางเลือก เพราะง่ายต่อการยกเป็นตัวอย่างที่สุด
แม้ตัวคุณกิ่งเองจะไม่ค่อยได้คลุกคลีกับเพศทางเลือก เนื่องจากนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีโอกาสได้รู้จักกับคนที่เป็น LGBTQ+ อยู่บ้าง ซึ่งก็พบว่าเขาเป็นคนที่น่ารัก นิสัยดี และประกอบอาชีพสุจริต ดังนั้นคุณกิ่งจึงอยากจะสอนลูกว่าอย่ามองคนที่รูปลักษณ์ภายนอก อย่าด่วนตัดสินใจโดยที่เรายังรู้จักเขาไม่ดีพอ เพราะบางคนต่อให้รู้จักกันมา 10 ปี เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลึก ๆ แล้วเขาเป็นคนยังไง เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับเขา 24 ชั่วโมง เราเห็นแต่สิ่งที่เขาต้องการให้เราเห็น เราไม่ได้เห็นตัวตนที่แท้งจริงของเขา
ลูกไม่ใช่ถ้วยรางวัลของพ่อแม่
คุณกิ่งกล่าวว่าตนเองผ่านการใช้ชีวิตมาแล้ว 2 สถานะ คือเคยเป็นลูกมาก่อน เคยอยู่ในกรอบและเเบกรับความหวังของพ่อเเม่ไว้บนบ่า และตอนนี้มีสถานะเป็นแม่คน ก็มีกรอบและคาดหวังในตัวลูกเช่นกัน จึงกลัวว่าวันหนึ่งเราจะเป็นพ่อเเม่ที่ใช้ชีวิตผ่านชีวิตลูก หรือเอาความหวังไปวางไว้บนตัวเขา และเขาจะไม่มีความสุขกับชีวิตของเขา
ลูกไม่ใช่ถ้วยรางวัล พ่อแม่บางคนในวัยเด็กขาดเเคลนบางสิ่งบางอย่าง หรืออยากได้อะไรแล้วไม่ได้ จึงเลือกชดเชยสิ่งเหล่านั้นผ่านชีวิตของลูก อย่างเช่น บางคนอยากเป็นดารา อยากเป็นนางแบบ เมื่อมีลูกก็ส่งเสริมลูก พยายามพาลูกไปสมัครที่นั่นที่นี่ โดยที่บางทีเด็กตัวเล็ก ๆ ไม่ได้รู้หรอกว่าเขาอยากเป็นและอยากทำไหม
บางคนใช้ชีวิตที่ตัวเองอยากได้อยากมีผ่านชีวิตลูก บางคนให้ลูกแบกรับความคาดหวังไว้ อย่างเช่น ต้องจบปริญญาตรี ต้องจบปริญญาโท ต้องจบปริญญาเอก ต้องได้อย่างโน้นต้องได้อย่างนี้ ต้องทัดเทียมหน้าตากับคนอื่น รวมถึงมีค่านิยมว่าลูกต้องเรียนสายวิทย์ และตั้งคำถามหากลูกชอบเรียนสายศิลป์ว่าเมื่อจบไปจะทำงานอะไร
“เราอยากจะสื่อผ่านนิยาย เพราะเราเป็นนักเขียน ถ้าเราเขียนเป็นคล้าย ๆ กับพินัยกรรม หรือเขียนเป็นเรียงความร้อยแก้ว อาจไม่ชวนให้คนอ่าน ไม่ชวนให้คนติดตาม ตรงกันข้ามหากทำเป็นนิยายขึ้นมาเล่มหนึ่ง ใส่คอมเมดี้ ใส่ความสุข ใส่ความสนุกลงไป เราจะสามารถดึงให้คนอ่านได้จนจบเล่ม ทำอย่างไรให้เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่ก็อ่านได้” คุณกิ่งกล่าว
มองโลกในแง่ดีแต่ไม่โลกสวย
คุณกิ่งผู้สร้างตัวละครมาตาลดา กล่าวถึงอุปนิสัยของหญิงสาวที่มีจิตใจบริสุทธิ์ มองโลกในแง่ดี พร้อมมอบพลังบวกให้แก่คนรอบข้าง ว่า คนแบบมาตาลดา ข้อดีคือไม่นำความทุกข์ของตัวเองไปโยนใส่คนอื่น ไม่ toxic ใส่คนอื่น และไม่จมอยู่กับความทุกข์นาน
นอกจากนี้ คนอย่างมาตาลดาไม่มีพิษมีภัยกับใคร หากใครได้เป็นเพื่อนก็คงจะมีความสุขตามไปด้วย เพราะเขาเป็นคนยิ้มง่าย ไม่เครียด เรามีงานมีอะไรให้เครียดในชีวิตกันเยอะแล้ว เรามีเพื่อนดี ๆ แบบนี้สักคนหนึ่งเอาไว้เรียกรอยยิ้มเรา คงจะมีความสุข
ปัจจุบันคนเราเวลาเครียดกับงาน เวลาเจอปัญหาอะไร มักจะจมอยู่กับปัญหานัน สุดท้ายเมื่อความเครียดถูกสะสมมาก ๆ ทำให้บางคนเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากเราเอาเวลาที่นั่งเครียดแล้วร้องไห้เสียใจมาคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ข้ามผ่านไปได้ จะมีประโยชน์กว่า
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งการมองโลกในแง่ดีมากเกินไปก็เป็นดาบสองคม เนื่องจากเรามองทุกสิ่งรอบตัวเป็นบวกไปเสียหมด จนทำให้เราไม่ทันระวังภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะความเป็นจริงโลกไม่ได้สวยอย่างที่หลายคนวาดฝัน
คุณกิ่งกล่าวว่า เห็นด้วยว่าการมองโลกในเเง่บวกจนเกินไปอาจนำมาซึ่งอันตราย เเต่มาตาลดาทั้งในนิยายและในละครไม่ได้เป็นสาวโลกสวยอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ขนาดนั้น มาตาลดาเป็นเด็กที่แบกรับปัญหาครอบครัวมาตั้งแต่เล็ก เห็นพ่อถูกตีถูกไล่ออกจากครอบครัว รับรู้ถึงการใช้ความรุนแรง
ชีวิตของมาตาลดาหนักหน่วงกว่าชีวิตของเด็กหลายคน เพียงแต่พ่อเกรซเรียนจิตวิทยาเด็กตามที่ละครนำเสนอ จึงสามารถดูแลลูกให้เติบโตมาเป็น นางสาวมาตาลดาที่จิตใจดี
ทั้งนี้ ในนิยายจะมีอยู่วลีหนึ่งที่พ่อพูดกับลูกว่า “เลี้ยงลูกมาภายใต้ปีกที่ปกป้องและคุ้มครอง และกลัวว่าลูกจะไม่รู้ว่าโลกที่อยู่ภายใต้ปีกของพ่อจะเป็นอย่างไร”
จิตวิทยาสำหรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญ
การใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันจะเห็นว่ามีจิตแพทย์เด็กจำนวนมาก และมีหลายครอบครัวที่พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เพราะอะไรเด็กต้องไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่อายุยังน้อย ?
เราเคยเห็นข่าวการสอบเข้าเรียนชั้นอนุบาล สอบเข้าเรียนชั้น ป.1 อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ไม่ใช่วัยของเขาที่จะต้องไปสอบแข่งขันอะไรขนาดนั้นเลย หรือข่าวเด็ก ม.4 ทำข้อสอบไม่ได้ เกิดความเครียด นำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตลง ซึ่งสาเหตุมาจากแรงกดดัน จากความคาดหวังของครอบครัว
เด็กมีความคิดซับซ้อน จึงควรมีคนที่เข้าใจเขาจริง ๆ โดยเฉพาะพ่อแม่ควรเข้าใจลูกให้มากว่า บางครั้งความรักความหวังดีของเรา ความคาดหวังของเรา กลายเป็นดาบสองคม ที่ทำร้ายเขาได้ในเวลาเดียวกัน
ตัดวงจรความรุนแรงในครอบครัวที่ตัวเรา
หากได้อ่านนิยายหรือรับชมละครจะพบว่า ตัวละครหลักในเรื่องมาตาลดาต่างมีปัญหาชีวิตที่ล้วนมีสาเหตุจากครอบครัวทั้งสิ้น คุณกิ่งกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สถาบันแรกตั้งแต่เราลืมตาขึ้นมาดูโลกคือสถาบันครอบครัว คนคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมามีนิสัย บุคลิก ทัศนคติอย่างไร ครอบครัวสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นการเขียนนิยายหรือสร้างตัวละครขึ้นมาให้มีมิติต้องมีรากชีวิต
อย่างเช่น ตัวละคร เป็นหนึ่ง จะมีปมเรื่องที่พ่อคาดหวังในตัวเขา ตีกรอบชีวิตไว้มากเกินไปจนไม่สามารถหลุดจากกรอบนั้นได้ แม้เป็นหนึ่งจะประสบความสำเร็จจริงอย่างที่พ่อคาดหวัง แต่เขากลับไม่มีความสุขเลย
“มาตาลดาปัญหาจะไม่เกิดขึ้นเลย หากพ่อแม่ไม่นำสิ่งที่ตัวเองได้รับถ่ายทอดผ่านลูก เหมือนที่ตอนต้นของเกริกพลได้พูดไว้ว่า ‘ลูกไม่ใช่ถังขยะ และลูกก็ไม่สามารถใช้ชีวิตแทนเราได้’ คือคุณถูกพ่อบีบคั้นกดดันมา คุณถูกพ่อเปรียบเทียบมา คุณถูกครอบครัวคาดหวัง หรือให้แข่งขันกับใคร แล้วสุดท้ายคุณเลือกมาลงกับลูกเช่นกัน ก็ไม่ยุติธรรมสำหรับเด็ก
หากเราตัดวงจรได้ กล่าวคือ สมมุติว่าปู่ทำแบบนี้กับคุณพ่อ คุณพ่อทำแบบนี้กับเรา แล้วเราตัดวงจรนั้นโดยการที่ไม่ทำกับลูกต่อไป ไม่โยนภาระตั้งความหวังให้กับเด็ก และเลี้ยงดูเขาให้มีความสุข ให้เขาเรียนในสิ่งที่เขารัก ให้เขาใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากเป็น เราดูแล ห่วงใย เอาใจใส่ได้ แต่ต้องไม่ใช้กรอบที่แคบจนเขาขยับตัวไม่ได้” คุณกิ่งกล่าว
มาตาลดา มากกว่าความบันเทิง คือบันทึกรักแม่สอนลูก
คุณกิ่งให้คำตอบว่า ที่ให้ตัวละคร พ่อเกริกพล หรือพ่อเกรซ เป็น LGBTQ+ เพราะคนที่เป็นเพศทางเลือกมักถูกตัดสินว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ทันที ซึ่งแตกต่างจากหญิงหรือชายเเท้ ที่ไม่ถูกตีค่าและตัดสินใจว่าเป็นคนอย่างไรตั้งแต่แรกเห็น คุณกิ่งจึงสร้างพ่อของมาตาลดาให้เป็นเพศทางเลือก เพราะง่ายต่อการยกเป็นตัวอย่างที่สุด
จิตวิทยาสำหรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญ