ข้อเท้าพลิกเรื้อรัง?

เคยข้อเท้าพลิกเมื่อกลางเดือนมีนาคม ก็ทำการรักษาเองตลอด ดีขึ้นเรื่อยๆ หายช้ำ หายบวม จนกลางเดือนเมษายนยังไม่หายดี เลยไปตรวจกับหมอกระดูก หมอ x-ray ให้ พร้อมให้กระโดดให้ดู ทำท่าต่างๆ ผลคือปกติ ไม่มีกระดูกแตก หรือหัก กระโดดได้ไม่เจ็บ ยืนขาเดียวได้ พร้อมจับข้อเท้าเราพลิกไปมา บอกไม่หลวม หมอให้กลับบ้านไม่ให้ยา หลังจากกลับมาเราก็ปวดบ้าง แต่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ผ่านไป 1 อาทิตย์ไม่ปวดแล้ว เราได้ลองวิ่ง กระโดด เขย่ง ไม่ปวดเลย เลยออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงข้อเท้าบ้างตามคลิป ละก็มีไปเล่นแบดกับเพื่อนบ้าง แรกๆก็เล่นแปปเดียว ไม่ค่อยกระโดด แต่พอเห็นว่าไม่เป็นไรเลยเล่นปกติ ก็ไม่เจ็บเลยนะคะ บางวันเล่น5-6 ชม.ก็ไม่ปวดเท้าเลย

          ผ่านไป เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมเราได้ไปเที่ยวแล้วมีลงเล่นน้ำสระ เราก็กะจะเล่นดำน้ำ แต่พอตีขาในน้ำเท่านั้นแหละ ปวดขึ้นมาเลย เราตกใจ เลยหยุดว่าย ได้แต่ลอยคอในสระเฉยๆ ค่อนข้างงงว่าทำไมวิ่ง เล่นแบดได้ เดินเที่ยวนานๆไกลๆได้แบบ10000+ก้าวอัพ แต่ว่ายน้ำแล้วเจ็บ พอมาวันนี้เราเดินๆอยู่ก็เริ่มเจ็บขึ้นมาอีกเหมือนกัน แต่ยังเดินลงน้ำหนักได้ ไม่มีบวมอะไร แบบนี้คือยังไม่หายดีใช่มั้ยคะ หรือควรกายภาพดีคะ ตอนนี้รักษาออฟฟิศซินโดรมอยู่กับนักกายภาพ และฝังเข็มกับหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูค่ะ

ปล.เราอายุ 20 ช่วงที่เป็นมอยังเปิดเทอมเลยต้องเดินเยอะอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าไม่จำเป็นเราก็พยายามพักเท้าค่ะ ใส่ซัพพอร์ตตลอดเวลาออกจากห้อง
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
การเอาเท้าตีน้ำ คุณจะต้องจิกเท้า(ต้องกดข้อเท้าให้ตรง) แล้วจะเกิดแรงต้านจากน้ำที่พื้นผิวด้านหลังหลังเท้า (เหมือนการเตะลูกฟุตบอลด้วยหลังเท้า)

ในขณะที่การวิ่ง กระโดด จะไม่เกิดแรงกระแทกแบบนี้
(แม้ช่วงถีบตัวของการวิ่ง หรือการกระโดดจะเกิดการจิกเท้า แต่ไม่ได้มีแรงต้านที่หลังเท้า

Chronic ankle sprain เกิดบ่อยที่เส้นเอ็นตำแหน่ง หลังข้อเท้า และออกไปด้านข้างเล็กน้อย(ไม่ใช่ตรงกลางข้อเท้า)
โดยเป็นเส้นเอ็นที่คอยรั้งข้อเท้าไว้(ยึดระหว่างกระดูกกับกระดูก เราเรียก ligament) ไม่ให้เกิดการจิกและบิดปลายเท้าเข้าในมากเกินไป

การที่ทำกิจกรรมดังกล่าว(ชนิดเกิดแรงต้าน)แล้วเจ็บขึ้นมา อาจแปลได้ว่า เส้นเอ็นคุณไม่แข็งแรงมากพอที่จะต้านแรงที่มากระทำหลังเท้าแล้วเกิดการจิกได้ จึงเกิดการบาดเจ็บซ้ำ

สรุปว่า เป็นไปได้ว่าการฟื้นหลังการบาดเจ็บครั้งแรก ไม่ได้สมบูรณ์100% แต่เพียงพอในการใช้ชีวิตประจำวันปกติ และไม่เพียงพอในการทำกิจกรรมที่ต้องการ performance มากขึ้น (ก็มักจะพวกกีฬาน่ะแหละ)

แล้วยังไงต่อ?
การฟื้นของเส้นเอ็น ligament แตกต่างกับการฟื้นเส้นเอ็มที่ยึดกล้ามเนื้อกับกระดูก (tendon)
Ligamentนั้น มีเส้นเลือดไปเลี้ยงน้อย ทำให้การฟื้นไม่ดีเสมอไป และเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ด้วย ต่างกับ tendon ที่ยึดมาจากกล้ามเนื้อ

เอ้า ฟื้นไม่ได้หรอ?
โดยการฟื้นปกติ ก็ประมาณนั้น แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความมั่นคง แข็งแรงของข้อเท้าแล้ว ไม่ได้มีแค่ ligament อย่างเดียว ยังมีเนื้อเยื่ออื่นๆช่วยร่วมกัน (tendon, muscle) เพราะฉะนั้น เราสามารถฝึกกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ให้แข็งแรงขึ้น เพิ่มความมั่นคงของข้อเท้า และจะลดภาระของเส้นเอ็น ligament
สรุป ให้พบพ.เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ นักกายภาพ (อย่างไรก็ตาม ความถนัดของพ./นักกายภาพแต่ละคนไม่เหมือนกัน คงต้องลองตามหาดูครับว่าใครเล่นเรื่องนี้
ถ้าเป้าหมายคือกลับไปทำกิจกรรมที่ high performance หรือ เล่นกีฬา การตามหาบุคลากรที่เล่นเรื่องนี้ จะแตกต่างกับพ./นักกายฯ ทั่วไปพอสมควร)

ข้างบนคือcore ของการฟื้นครับ คือ ออกกำลังกาย อย่างถูกต้องและมีความรู้เรื่อง biomechanic, sport injury

ส่วนต่อไป คือส่วนเสริม
เดี๋ยวนี้มีการฉีดยาเพื่อเร่งการฟื้นตัวเนื้อเยื่อครับ ฉีดกันเยอะแยะมากมาย ทั้งคลินิก ทั้งรพ. ผมเองไม่ได้สันทัดในทางนี้
ในทางการแพทย์ ไม่ได้เป็นแนวทางการรักษาแรกครับ

สรุป หานักกายภาพสอนการออกกำลังกายเพื่อฟื้นกล้ามเนื้อเส้นเอ็นข้อเท้าอย่างมีวิชาการรองรับ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในตอนนี้คร้บ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่