♫ ... เปิดไทม์ไลน์ของกลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดี "เฉลียง" เส้นทางของบอยแบนด์วงแรกของไทย!? ... ♫

.
"ตัวโน้ตอารมณ์ดี"  คำจำกัดความสั้นๆสำหรับ เฉลียง ศิลปินกลุ่มซึ่งวงการเพลงไทยต้องลงบันทึกไว้เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ว่า 
"ครั้งหนึ่งเพลงไทยเคยมีเพลงแบบเฉลียงและจนถึงวันนี้ สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นอีกครั้งหรือแม้แต่ใกล้เคียง" 
(บทเกริ่นนำและปิดท้าย Music  History ตอน "เฉลียง" ของสถานีโทรทัศน์ช่องเพลง Channal V)  
.
.

“เฉลียง” เป็นวงดนตรีที่เคยสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการเพลงไทย ในยุค 80-90 ด้วยแนวเพลงเนื้อหาสาระที่แปลกแหวกแนว ไม่ต้องรักหวานแหวน ไม่ต้องอกหักจนขมขื่น แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและสาระชวนขบคิดก็ฮิตได้ 
.
เนื้อหาเพลงของเฉลียงพูดถึงทุกสิ่งที่มีผลกระทบกับผู้คน ไม่ว่า ความรัก, สังคม, สิ่งแวดล้อม, ธรรมชาติ, ความฝัน ทำนองเพลงยังคงทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น “นิทานหิ่งห้อย” / “เที่ยวละไม” / “เอกเขนก” / “ต้นชบากับคนตาบอด” / “นายไข่เจียว” / “กล้วยไข่” / “เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ” ฯลฯ 
.
.

เฉลียงไม่ใช่วงดนตรีที่ทำเพลงตลาดเพื่อหวังยอดขาย ไม่มีเพลงฮิตติดชาร์ตตามสถานีวิทยุ สมาชิกแต่ละคนต่างมีภาระกิจส่วนตัว "เฉลียง" จึงเหมือนการรวมตัวกันเป็นครั้งคราว ไม่ได้ตั้งใจจะยืนอยู่บนถนนสายดนตรีอย่างแท้จริง ธุรกิจจึงไม่ใช่จุดยืนในการทำเพลงของพวกเขา ผลพลอยได้จึงตกอยู่ที่คนฟังเพลงที่มีโอกาสได้ฟังงานดีๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีแง่คิด มุมมองให้ได้ใคร่ครวญ
.
และแม้ว่าสไตล์ดนตรีจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สาระที่อยู่ในเพลงของ เฉลียง ยังคงทันเหตุการณ์และเข้ากับยุคสมัยเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ทำให้พวกเขากลายเป็นตำนาน และยังครองใจแฟนคลับนักฟังเพลงเสมอมา 
.

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
.

“ผมต้องการสื่อถึงมนุษย์ เป็นบ้าน เป็นจิตใจ เมื่อต้องการพูดถึงตรงกลาง ที่อยู่ระหว่างข้างนอกกับข้างใน มองกลับมาที่ตัวเองก็ได้ มองออกไปข้างนอกก็ได้ ก็เลยคิดถึงส่วนที่เชื่อมข้างนอกกับข้างในบ้าน ก็พูดออกมา...เฉลียง เสียงมันคล้ายๆ เฉียงๆ คือไม่ค่อยตรงเท่าไร ได้เหมือนกันก็เลยเอา ชอบมาก...มันให้ความรู้สึกสบาย แหงนหน้าไปจะเห็นชายคาครึ่งหนึ่ง ท้องฟ้าครึ่งหนึ่ง เป็นการสะท้อนภาพ แต่ไม่ใช่สะท้อนภาพสังคม เป็นการสะท้อนภาพจิตใจ แล้วเฉลียงน่าจะเป็นส่วนที่สบายที่สุด”
— ประภาส ชลศรานนท์ (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2561 สาขาศิลปะการแสดง)
.

 🎼 วันนี้ขอชวนทุกคนมาร่วมบอกเล่า บันทึกความทรงจำ และความประทับใจ
กับเส้นทางของกลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดี "เฉลียง" สามารถคอมเม้นต์มาได้นะครับผม 🎼
👇👇
.
.
[ หมายเหตุ : ไทม์ไลน์ต่อไปนี้ย่อมาให้แบบเหลือแต่หลัก ๆ เด่น ๆ 
ข้ามอันไหน หรือ อันไหนสลับกัน หรือ พิมพ์ชื่อคนผิด หรือ ข้อมูลผิดตกหล่นยังไง ก็ขออภัยนะคร้าบ ]
.
............................................................................................
.
References :
- เพจ Prapas Cholsaranon
- เพจ หวัดแกมบรรจง
.
............................................................................................

พ.ศ. 2521

- ประภาส ชลศรานนท์, วัชระ ปานเอี่ยม, นิติพงษ์ ห่อนาค เข้าศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, สมชาย เปรมประภาพงษ์, วัชระ แวววุฒินันท์, นันท์ วิทยดํารง เป็นต้น 
- ภูษิต ไล้ทอง เข้าศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

พ.ศ. 2522 - 2523

- ประภาส, วัชระ, นิติพงษ์, ภูษิต ร่วมงานกันในละครเวทีการกุศล เรื่อง น่านเจ้า ของกลุ่มสยามมัธยัสถ์
- ประภาส, นิติพงษ์, วัชระ ขณะศึกษาอยู่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ปี 3-4 เริ่มต้นการทำงานด้านวิทยุโทรทัศน์ ทั้งงานเขียนบทโทรทัศน์ เขียนบทละคร เป็นผู้ผลิตรายการ ผู้กำกับรายการ เล่นละครเวที
 
พ.ศ. 2524

- ศุ บุญเลี้ยง เข้าศึกษาที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ฉัตรชัย ดุริยประณีต เข้าศึกษาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นิติพงษ์ ห่อนาค เริ่มต้นเขียนเพลงครั้งแรก คือเพลง เข้าใจ โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของเพื่อน 
- ภูษิต ไล้ทอง เริ่มเล่นดนตรีอย่างจริงจัง และได้เข้าร่วมกับวง ‘ยามาฮ่าซาวนด์’ ของสยามกลการฯ

พ.ศ. 2525

- ประภาส และ วัชระ ได้ร่วมแสดงในละครเวทีอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง พรายน้ำ
- เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ เข้าศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ สัญญา คุณากร เป็นต้น
- วัชระ แวววุฒินันท์ ใช้นามปากกา "ปินดา โพสยะ" เขียนเรื่องสั้นชุด ว้าวุ่น ซึ่งได้นำเรื่องของตนและเรื่องของกลุ่มเพื่อนๆ เช่น ประภาส, วัชระ, นิติพงษ์ เป็นต้น ในสมัยที่ยังเป็นนิสิตมาเขียนและตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารเปรียว 
- ประภาส, นิติพงษ์, วัชระ ขณะศึกษาอยู่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ปี 5 ทำเพลงตัวอย่างนำไปเสนอกับบริษัท เจเอสแอล และขอให้ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ อำนวยการผลิตให้ 
- เต๋อ เรวัต เสนอให้ สมชาย ศักดิกุล (เล็ก) ที่ขณะนั้นเป็นนักดนตรีอาชีพอยู่มาเป็นนักร้องนำคู่กับ วัชระ ปานเอี่ยม ในผลงานชุดแรก 
- ประภาส, นิติพงษ์, วัชระ, สมชาย ออกอัลบั้มชุดแรกในนามวง เฉลียง เมื่อกลางปี 2525 ซึ่งไม่มีชื่อชุด แต่เนื่องจากหน้าปกมีรูปฝนจึงถูกเรียกว่าชุด ปรากฏการณ์ฝน (2525) ตามชื่อเพลงหนึ่งในชุดนั้น โดยมีโปรดิวเซอร์คือ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ก่อนจะจมหายไปอย่างรวดเร็วในกระแสแห่งเพลงรัก
- ประภาส และ นิติพงษ์ ได้ร่วมงานกับ เรวัต พุทธินันทน์ แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง วัยระเริง ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ เช่น ชีวิตนี้ของใคร, เฮฮาปาร์ตี้, ดนตรีในดวงใจ, จากวันนั้นถึงวันนี้ โดยภายหลังประภาสได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย 

พ.ศ. 2526 - 2527

- เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ ขณะศึกษาอยู่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ปี 2 ได้ร่วมงานกับรุ่นพี่คือ ประภาส ชักชวนไปร้องเพลงประกอบโฆษณา เช่น ปากกาบิค, ESSO เป็นต้น 

- บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 (ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน))

- นิติพงษ์ และ วัชระ ได้ร่วมแต่งเพลงให้กับ เรวัต พุทธินันทน์ ในอัลบั้ม เต๋อ 1 และ ฐิติมา สุตสุนทร ในอัลบั้ม ฉันเป็นฉันเอง

พ.ศ. 2528

- วัชระ ปานเอี่ยม ได้เข้าร่วมกลุ่มนักแสดงอิสระ “ซูโม่สำอาง” ผลิตรายการบันเทิงให้บริษัทไนท์สปอต เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ชื่อรายการ เพชรฆาตความเครียด ออกอากาศทางช่อง 9 เป็นรายการที่สร้างความนิยมให้ช่อง 9 ในช่วงเวลาหลังข่าวค่ำ ทำให้เริ่มมีคนรู้จักในนาม ซูโม่เจี๊ยบ

- ประภาส ชลศรานนท์ กำกับละครโทรทัศน์เรื่อง นายแพทย์สนุกสนาน ทางช่อง 5 โดยมี นิติพงษ์ ร่วมแสดง และ เกียรติศักดิ์ ร้องเพลงประกอบละคร

- ประภาส และ เกียรติศักดิ์ ได้ร่วมงานกันในเพลง เก็บใจ เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง รักตะลุมบอน (2528)

- ฉัตรชัย ดุริยประณีต ขณะทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ร่วมแต่งเพลงให้กับ วารุณี สุนทรีสวัสดิ์ ในอัลบั้ม ขายหัวใจ เช่น อยากลืมเธอ, รักเดียว-ใจเดียว

พ.ศ. 2529

- ประภาส ชลศรานนท์, วัชระ แวววุฒินันท์, ศุ บุญเลี้ยง ได้ร่วมเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง เทวดาตกสวรรค์ ออกอากาศทางช่อง 9

- ประภาส ได้รับการติดต่อจาก ครีเอเทีย อาร์ติสต์ ให้เขียนเพลงให้กับ อุ้ย ระวิวรรณ จินดา ในอัลบั้ม รุ้งอ้วน โดยมีเพลงที่รู้จักคือ พี่ชายที่แสนดี, มองวันที่ผ่านไป, รุ้งอ้วน

- ประภาสเกิดความคิดที่จะให้ ศุ บุญเลี้ยง และ เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ ออกอัลบั้มเป็นศิลปินคู่ ในชื่อ ไปยาลใหญ่ เมื่อบันทึกเสียงไปแล้วบางส่วน ประภาสยังไม่พอใจในผลงานบางเพลง จึงเสนอให้ วัชระ ปานเอี่ยม และ นิติพงษ์ ห่อนาค กลับมารวมตัวเป็นวงเฉลียงอีกครั้ง

- นิติพงษ์ ห่อนาค ได้เป็นหัวหน้าวงเฉลียง และเพลง เข้าใจ ได้บันทึกเสียงครั้งแรก โดยผู้ร้องคือ เกียรติศักดิ์

- เทวัญ ทรัพย์แสนยากร (ต๋อง) ทำหน้าที่บรรเลงแซกโซโฟนให้กับอัลบั้มชุดนี้ในหลายบทเพลง

- ต่อมาประภาสได้ชักชวน ภูษิต ไล้ทอง นักดนตรีเครื่องเป่าของวงยามาฮ่าซาวนด์ ที่เคยร่วมงานกันเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตมาร่วมเป็นสมาชิกวงอีกคน

- ศุ บุญเลี้ยง นำเพลงที่บันทึกเสียงไปให้ จิระ มะลิกุล รุ่นพี่คณะนิเทศฟัง จึงนำไปเสนอกับ ครีเอเทีย อาร์ตติส เพื่อออกอัลบั้มในเวลาต่อมา

- นิติพงษ์, วัชระ, เกียรติศักดิ์, ศุ, ภูษิต ในนามวง เฉลียง ออกอัลบั้มชุด อื่นๆ อีกมากมาย (2529) ในเดือนมิถุนายน 2529 เป็นอัลบั้มสร้างชื่อที่ทำให้เฉลียงกลายเป็นกลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดีของผู้ฟังมากมาย

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่