เขาสร้าง ‘ฉลาม’ กันยังไงให้ ‘น่าสะพรึง’ ในโลกหนังฮอลลีวูด


ดังที่เราเคยกล่าวไปหลายครั้งหลายหนแล้ว ว่า ‘ฉลาม’ คือหนึ่งในสัตว์โลกที่ไม่น่ารักเท่าไหร่ในโลกภาพยนตร์ของฮอลลีวูด เพราะมันเป็นตัวละครที่มักถูกทำให้ ‘น่ากลัว’ ในสายตาของผู้ชมทั่วโลกมาช้านาน นับจากความโด่งดังระดับปรากฏการณ์ของ Jaws หนังฉลามกินคนในปี 1975 ของ สตีเวน สปีล เบิร์ก เป็นต้นมา …ไปดูกันว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ล่วงผ่าน คนทำหนังเขามีวิธีการสร้างสรรค์ฉลามบนจอหนังกันอย่างไรให้ออกมาน่าสะพรึงได้ถึงเพียงนี้!

The Shallows

สร้างให้ดูสมจริง

ในแง่ของรูปลักษณ์ การสร้างตัวละครฉลามให้ออกมาสมจริงนั้น สามารถทำได้ทั้งแบบ ‘ฉลามทำมือ’ และ ‘ฉลามซีจี’ (Computer Graphic) โดยอ้างอิงเอาจากลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมของฉลามที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เพื่อให้รูปลักษณ์และการเคลื่อนไหวของพวกมันในหนังออกมาใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งความสมจริงนี้จะส่งผลต่อ ‘ความเชื่อ’ ของผู้ชมที่มีต่อหนัง เพราะหากว่าฉลาม-ซึ่งถือเป็นตัวเอกของเรื่องราวหรือฉากนั้นๆ-ออกมาดูไม่สมจริงเท่าที่ควร ความกลัวที่ผู้ชมมีต่อฉลามก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ และพาลทำให้เรื่องเล่าทั้งหมด ‘พัง’ แบบไม่เป็นท่า

โดยฉลามในแบบทำมือ ก็เช่น บรูซ ฉลามเพชฌฆาตใน Jaws ที่ถูกสร้างเป็น ‘หุ่น’ ขึ้นมาในหลากหลายขนาดและรูปทรง ทั้งเต็มตัวและครึ่งตัว-ที่สามารถขยับไปมาได้ด้วยกลไกภายใน-เพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทำฉากที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ขณะที่ฉลามในแบบซีจี ก็เช่น ใน The Shallows (2016, เจาเม โกลเล็ต-แซร์รา) ที่ฉลามถูกสร้างด้วยซีจีทั้งเรื่อง เพื่อความสะดวกในการใส่ฉลามไปตามจุดต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายซ่อมถ่ายเสริมแบบฉลามทำมือในสมัยก่อน – แต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ก็มีหนังหลายเรื่องที่เลือกใช้ฉลามทั้งสองแบบนี้ตามความเหมาะสมในการถ่ายทำ

The Meg

…แต่ก็ต้องสร้างให้ดูเกินจริงด้วย (อ้าว?!)

ใช่ว่าเพราะอยากทำให้หนังสมจริง คนทำหนังเลยต้องทำให้ฉลามออกมา ‘จืดชืด’ เหมือนตัวจริงของพวกมันไปด้วย (ฉลามทั่วไปมักรักสงบและไม่จู่โจมใครก่อน) เพราะ ‘ความเกินจริง’ ของฉลามในหนังก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ชมรู้สึกกลัวได้เช่นกัน ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องบาลานซ์กับความสมจริงให้ได้อย่างลงตัวด้วย (โดยเราจะไม่ขอพูดถึงความเกินจริงที่ตั้งใจทำให้ผู้ชมโห่ฮาและเหวอแตกอย่างหนังตระกูล Sharknado ที่พร้อมมากับฝูง ‘ฉลามบิน’ ก็แล้วกันนะจ๊ะ)

โดยความเกินจริงที่สังเกตเห็นได้ชัดๆ ก็คือ ‘ขนาด’ ของฉลาม เพราะแม้ว่าฉลามทั่วไปจะมีขนาดใหญ่ที่สุดไม่เกิน 6-7 เมตร แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นฮอลลีวูดแล้ว การ ‘ขยาย’ สิ่งต่างๆ ให้เกินจริงนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราจึงมีโอกาสได้เห็นฉลามที่มีขนาดใหญ่โตกว่าความเป็นจริงในหนังหลายๆ เรื่อง ทั้ง Jaws (7.6 เมตร), Deep Blue Sea (7.9 เมตร – 1999, เร็นนี ฮาร์ลิน), Megalodon (17 เมตร! – 2004, แพ็ตต์ คอร์บิตต์) และ The Meg (27.4 เมตร!!! – 2018, จอน เทอร์เทลโทบ) เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบรายละเอียดของอวัยวะส่วนต่างๆ ให้ออกมาดูน่าเกรงขามไปจนถึงขั้นน่าขนลุกขนพอง โดยเฉพาะ ‘แผงฟัน’ อันเป็นอาวุธสังหารของมัน ทั้งการแสดงให้เห็นถึงฟันแหลมคมที่เรียงติดกันถี่ๆ จนดูน่าสยดสยองไม่ต่างจากบรรดาภูตผีปิศาจในหนังแนวสยองขวัญ หรือแม้แต่การขยายขนาดฟันของฉลามให้ดูใหญ่โต จนดูเหมือนว่ามันสามารถอ้าปากแล้วใช้กรามอันใหญ่โตขบเคี้ยวเรือทั้งลำได้ในการกัดเพียงครั้งเดียว

Deep Blue Sea

สร้างภาษาภาพกระตุ้นเร้าอารมณ์

แน่นอนว่า ‘การถ่ายภาพ’ และ ‘การตัดต่อ’ คือสิ่งสำคัญสำหรับงานภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในหนังแนวระทึกขวัญที่เล่นกับความกลัวของผู้คนอย่าง ‘หนังฉลามกินคน’ เหล่านี้ “ก็เพราะ ‘ฉลาม’ เป็นเครื่องมือเล่าเรื่องที่แทบจะสมบูรณ์แบบที่สุดยังไงล่ะครับ” อดัม แวรี นักเขียนจาก BuzzFeed อธิบาย “พวกมันแค่ต้องการจะเขมือบคุณ และคุณก็แค่ต้องหนีจากพวกมันให้พ้น ซึ่งแค่นั้นก็น่ากลัวจะตายโหงแล้ว”

ยกตัวอย่างเช่น ใน Deep Blue Sea ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘หนึ่งในหนังฉลามที่ดีที่สุด’ มีจังหวะการเล่าเรื่องในฉากแอ็กชั่นไล่ล่าระหว่างฉลามสมองไว(จากห้องทดลอง)กับมนุษย์ที่น่าหวาดเสียวจนผู้ชมแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้ หรือใน The Shallows ที่ด้วยจังหวะการตัดต่อและการวางมุมกล้อง/ตัดต่อแบบ ‘ไม่เผยทุกสิ่งที่อยู่ในฉากให้คนดูได้เห็นแบบชัดๆ’ และ ‘เผยให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นช่างเกินคาดเดาและยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์’ ก็ช่วยกระตุ้นให้คนดูรู้สึกกลัวและคิดจินตนาการกันไปต่างๆ นานากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นถัดไปกับตัวละครสาวสุดเซ็กซี่ของเราที่ต้องติดแหง็กอยู่บนโขดหินกลางทะเล

Jaws

สร้างซีนให้เป็นที่น่าจดจำ

นอกจากจะสร้างภาษาภาพอันฉึบฉับให้ผู้ชมรู้สึกไม่ไว้วางใจและตื่นตระหนกขณะรับชมแล้ว วิธีการสร้างฉลามให้น่ากลัวที่ได้ผลดีที่สุด ก็คือการสร้าง ‘ฉากจำ’ ให้พวกมันติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมไปอีกนาน โดยฉากเหล่านี้มักเป็นฉากที่สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจและผลักดันความรู้สึกต่างๆ ของผู้ชมไปจนถึงขีดสุดขณะรับชมได้ ทั้งในแง่ของความกลัวที่พวกเขามีต่อฉลามและความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อเหยื่อเคราะห์ร้าย ซึ่งหากคนทำหนังสามารถบรรลุได้ คนดูก็จะพูดถึงฉากฉากนั้นหรือหนังเรื่องนั้นกันไปอีกนานนับปี

ตัวอย่างคลาสสิกในหัวข้อนี้คงหนีไม่พ้น ฉากที่บรูซ-ฉลามขาวใน Jaws เกยร่างขึ้นมาบนเรือ เพื่อทำให้มันเอียงไปข้างหนึ่ง และรอให้มนุษย์บนนั้นลื่นไถลลงมาเพื่อเป็นอาหารอันโอชะของมัน พร้อมกัดกินร่างของตัวละครผู้โชคร้ายด้วยท่วงท่าอันสยดสยองจนเลือดสาดกระจายแดงฉานไปทั่วท้องทะเล – ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้เอง ก็ได้ทำให้ฉากนี้กลายเป็นภาพติดตาคาใจของผู้ชมในยุคนั้น และถึงขั้นทำให้พวกเขาไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเลจริงๆ กันไปอีกพักใหญ่


มันมาเพื่อล่า มาเพื่อผังคมเขี้ยว และคร่าทุกชีวิต น่านน้ำลึกสุดอันตราย มันคือเพชฌฆาตแห่งความตายที่คุณไม่อาจหลีกเลี่ยง พบกับ DANGEROUS WATER PACK อสุรกายพันธุ์งับ วันที่ 26 - 29 มิถุนายนนี้ 4 วัน 4 เรื่อง

Lake Placid | โคตรเคี่ยมบึงนรก
วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายนนี้ เวลา 20.55 น.

Bait 3D | โคตรฉลามคลั่ง
วันอังคารที่ 27 มิถุนายนนี้ เวลา 20.10 น.

The Shallows | นรกน้ำตื้น
วันะพุธที่ 28 มิถุนายนนี้ เวลา 20.55 น.

47 Meters Down | 47 ดิ่งลึกเฉียดนรก
วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายนนี้ เวลา 20.05 น.

===================
ช่องทางการรับข่าวสารเพิ่มเติม
Instagram : Mono29TV

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://movie.mthai.com/bioscope
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่