[CR] แชร์ประสบการณ์จัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกรที่ทันตะมหิดล และ รพ. พญาไท 2

สวัสดีชาว pantip ทุกท่านครับ กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกของผมที่ตั้งใจเขียนมาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์จัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกรในช่วงปี 2562 - 2565 ครับ   

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เคยขาดความมั่นใจในตนเองอันเนื่องมาจากปัญหาฟันห่างและซ้อน ขากรรไกรเบี้ยว และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพบดเคี้ยวด้วย อย่างไรก็ดี ภายหลังการหาข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระทู้ของคุณอีฟที่เคยมาแชร์ประสบการณ์ รวมทั้งการรักษาเป็นอย่างดีภายใต้การดูแลของ อ. ทพญ. อิศราวดี วิเศษศิริ (ทันตแพทย์จัดฟัน) และ อ. ทพ. เวทัส ศักดิ์เดชยนต์ (ศัลยกรรมขากรรไกรและใบหน้า)  เมื่อการรักษาผ่านไปด้วยดีแล้ว ทางผู้เขียนจึงอยากมาขอเล่าให้ฟังเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจต่อไปครับ ออกทะเล

1) รักษาที่ไหน
  - ผมเองเลือกจัดฟันที่โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม. มหิดล (ซอยโยธี แถวอนุสาวรีย์ชัย) และผ่าตัดที่ รพ. พญาไท 2 กับ อ. ทพ.
เวทัส ศักดิ์เดชยนต์ (ศัลยกรรมขากรรไกรและใบหน้า) ครับ  โดยส่วนตัวเลือกเพราะเคยมีประวัติการรักษาฟันที่นี่มาต่อเนื่องอยู่แล้ว และที่สำคัญกว่านั้นคือระยะทางที่เราสามารถเดินทางมาพบคุณหมอได้สะดวก เพราะการจัดฟันเป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลา + วินัยในตนเองสูงครับ ดังนั้นหากไม่สะดวกเดินทางและต้องเลื่อนการรักษาบ่อย ๆ ก็จะทำให้ฟันเข้าที่ช้ากว่าแผนที่คุณหมอวางไว้ได้ครับ รวมทั้งการรักษากับคณะทันตแพทย์โดยตรงทำให้มั่นใจได้ว่าทันตแพทย์ที่มาจัดฟันให้เราเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญที่จบทางด้านการจัดฟันมาจริง ซึ่งโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ได้จาก  [url=https://thaiortho.org/certified-orthodontist]เว็บไซต์ของสมาคมทันตแพทย์จัดฟัน[/url]

2) ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนจัดฟัน
- วางแผนทางการเงิน (เนื่องจากค่าใช้จ่ายจะสูง และจะเข้ามาเป็นรายจ่ายจำเป็นสำหรับเราไปจนกว่าการรักษาจะจบครับ) ในตอนนี้ก็ใช้เงินเก็บจากการทำงานครับ หากจัดฟันโดยเครื่องมือปกติ (เหล็ก) ก็จะราว ๆ 5 หมื่นบาท ส่วนผ่าตัดก็จะประมาณ 200,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่จำนวนขากรรไกรที่จะผ่าด้วย
- ลองไปปรึกษากับคุณหมอจัดฟันเบื้องต้นก่อนเพื่อให้ทราบปัญหาของเรา และความต้องการของเรา รวมทั้งวินิจฉัยได้ว่าปัญหาฟันของเราเป็นเคสที่จัดฟันเพียงอย่างเดียว หรือต้องจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร หากเป็นในกรณีหลัง
ก็จะมีข้อจำกัดเพิ่มเติมตรงอายุควรจะเป็นหลัง 18-20 ปีด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าขากรรไกรหยุดการเจริญเติบโตแล้วเพื่อที่ผลของการผ่าตัดจะได้คงที่ รวมทั้งจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนของการผ่าตัดขากรรไกรเข้ามาเพิ่มเติมด้วย
- บริหารเวลาจากระยะเวลารอคิว (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละที่) เพราะบางคนอาจมีแผนชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น ไปเรียนต่อ หรือย้ายที่ทำงาน เป็นต้น โดยหลังจากเข้าปรึกษากับทันตแพทย์จัดฟันทั่วไปแล้ว ก็รู้ว่าตนเองเป็นเคสที่ต้องผ่าตัดร่วมด้วย การรอคิวจะต้องไปต่อรอกับอาจารย์ทันตแพทย์ที่รับจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกรโดยเฉพาะ ซึ่งผมรอคิวประมาณ 1ปีครึ่งกว่าจะได้รับ postcard ส่งมาที่บ้านแจ้งว่าถึงคิวแล้ว (ในขั้นตอนนี้อยากให้ทางคณะฯ เปลี่ยนรูปแบบการเรียกคิวให้ทันสมัยมากขึ้น 555)
- เคลียร์ช่องปากให้เรียบร้อย เนื่องจากจะได้ไม่เสียเวลาไประหว่างจัดฟัน ได้แก่ อุดฟัน ขูดหินปูน รักษารากฟันและครอบฟันให้เรียบร้อยก่อน ในขั้นตอนนี้จะยังไม่แนะนำให้ทำรากเทียมเนื่องจากอาจขัดขวางเครื่องมือจัดฟันและเครื่องมือไม่สามารถเคลื่อนฟันเทียมได้ ในขั้นนี้แนะนำว่าควรทำให้เรียบร้อยก่อนที่จะถึงคิวเรียกจัดฟัน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

3) ขั้นตอนการจัดฟันเพื่อเตรียมผ่าตัด 
- ในขั้นตอนนี้ผมรู้สึกโชคดีที่ได้รักษากับ อ. ทพญ. อิศราวดี เช่นเดียวกับคุณอีฟ โดยในวันแรกของการรักษาจะเป็นการพูดคุยกับอาจารย์มากกว่าถึงความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ + ถ่ายรูปหน้าและสภาพฟัน+ X-ray และ scan ฟัน 
- ครั้งที่สองก็พิมพ์ปากเพื่อเตรียมใส่เครื่องมือ rpe กับฟันล่าง (อันนี้แล้วแต่คน) เนื่องจากตนเองมีปัญหาขากรรไกรล่างเบี้ยวและแคบทำให้ฟันซ้อนเก จึงต้องขยายพื้นที่ก่อน และใส่ seperator (ยางแยกฟัน) บริเวณฟันกรามซึ่งเป็นการเตรียมช่องว่างก่อนใส่เครื่องมือจัดฟัน เช่น
band (วงแหวน) สำหรับฟันกรามซึ่งก็จะมีอาการปวดๆ ตึงๆ ฟันบ้างหลังใส่ยางแต่ก็กินยาบรรเทาปวดได้
- ครั้งที่สามไปจนถึงหนึ่งปีกว่า (พบหมอเฉลี่ยเดือนละครั้ง) จะเป็นการใส่ bracket ปรับลวดจัดฟัน และเคลื่อนฟันให้เรียงตัวกันเป็นระเบียบก่อนการผ่าตัด ซึ่งในขั้นตอนนี้ผมคิดว่าใช้เวลานานสุดเพราะปี 63-64 มีเหตุการณ์ COVID ที่รุนแรงทำให้ต้องเลื่อนการรักษาออกไปด้วย
ในขั้นตอนนี้ต้องทำใจเลยครับว่ารูปหน้าเราอาจจะดูแย่ลงกว่าเดิมได้ เพราะเป็นการพยายามจัดฟันเพื่อเตรียมผ่าตัด จึงอาจเห็นความผิดปกติที่มีอยู่แล้วชัดเจนมากขึ้น ในขั้นตอนนี้อยากแนะนำให้คอยหมั่นถามความคืบหน้าของการรักษากับคุณหมอจัดฟันอยู่บ่อยๆ ด้วย เพื่อเราจะได้เตรียมตัว
ในส่วนของการผ่าตัด และต้องมีวินัยไม่เลื่อนนัดบ่อย รวมทั้งต้องเข้มงวดกับการทำความสะอาดฟันให้มากขึ้นตามไปด้วยครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

4) ขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อจัดฟัน (จะต้องไปพบกับคุณหมออีกสาขาแล้ว)
- เมื่อ อ. อิศราวดี บอกว่าฟันเริ่มเรียงตัวเข้าที่พร้อมแล้ว ก็จะถามถึงแผนของเราต่อว่าเตรียมจะผ่าตัดที่ไหน/เมื่อไหร่ โดยในตอนแรกผมก็เคยคิดเรื่องที่จะผ่าที่นั่นไปเลยในตัวเพราะขี้เกียจไปมาหลายที่ แต่ทาง รพ. ต้องรอคิว รวมทั้งมีความยุ่งยากมากขึ้นจากเรื่อง COVID ทางอาจารย์จึงได้แนะนำให้ไปผ่าที่
รพ. พญาไท 2 (แถวสนามเป้า) ซึ่งเป็น รพ. อีกที่ที่อาจารย์ประจำอยู่ด้วย และราคาก็อาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่คุ้มค่ากับความสะดวกที่ได้รับ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียด/ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใน [url=https://thai2jaws.com]thai2jaw[/url] หรือทาง Instagram: thai2jaw ได้ครับ โดยเป็นทีมแพทย์ศัลยกรรมขากรรไกรและใบหน้าจาก ม. มหิดล
- ในตอนนั้นผมได้เข้าปรึกษากับ อ. ทพ. เวทัส ศักดิ์เดชยนต์ ครับ ซึ่งในครั้งแรกจะเป็นการพูดคุยปรึกษาปัญหาของเรา และความต้องการของเราครับ ซึ่งผมก็พูดชัดเจนครับว่า "ผ่าแล้วต้องดูดีหรือไม่แย่ไปกว่าเดิม" ตรงนี้เราต้องระบุความต้องการของเราให้ชัดเจนครับ เพราะมีบางกรณีที่เราอาจผ่าขากรรไกรเพียงขาเดียวก็อาจแก้ปัญหาการบดเคี้ยวไปได้ แต่อาจไม่ช่วยเรื่องความสมมาตรของใบหน้ามากครับ ทำให้ต้องผ่าตัดทั้งสองขากรรไกรก็เป็นไปได้ครับ 
ตรงนี้ประทับใจอาจารย์มากตรงที่อาจารย์เอาใจใส่ เข้าถึงง่าย และพยายามอธิบายปัญหาของเราให้เข้าใจง่ายๆ รวมทั้งช่วยออกความคิดเห็นถึงการเลือกผ่าตัดแต่ละทางเลือก (1 หรือ 2 ขากรรไกร) ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนครับ

5) ตัดสินใจผ่าตัด 
- ผมเลือกที่จะผ่าทั้งขากรรไกรบนและล่างครับ โดยในขั้นนี้มีการเตรียมตัวที่มากกว่าที่เคยคิดไว้ครับ ทั้งการวางแผนลางาน และเตรียมร่างกายให้พร้อมทั้งการทำ CT-scan, พิมพ์ปาก เพื่อที่คุณหมอจะได้ไปทำแบบจำลองกะโหลกศีรษะและใบหน้าของเราครับ ซึ่งทางคุณหมอก็จะมีการแสดงให้ดูด้วยโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ให้ดูว่าเมื่อผ่าแล้วหน้าตาเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรครับ
- ตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อดูว่าร่างกายพร้อมที่จะผ่าตัด
- วันผ่าตัด ต้องมาตรวจ COVID, จองหมู่เลือด, นอนเตรียมตัวก่อนเข้าห้องผ่าตัดครับ สำหรับของใช้ส่วนตัวแนะนำให้เอาวาสลีนทาปาก (ปากจะแห้งและดำง่ายเพราะในช่วงแรกต้องใส่สายเดรนเลือดออกมาทางปาก) + หวี (สระผมไม่ได้) +และเจลประคบเย็นมาสำรองเพิ่มเติมไว้สัก 2-3 อันรอไว้เลยครับ (ประคบหลังผ่าบ่อยๆ เพื่อลดบวม)
- เมื่อถึงเวลาผ่าตัดก็จะมีเจ้าหน้าที่มาเข็นไปในห้องผ่าตัด ซึ่งในนั้นบรรยากาศไม่ได้น่ากลัว ทางวิสัญญีแพทย์และเจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัดก็จะมาซักประวัติโดยเฉพาะการแพ้ยารวมทั้งช่วยพูดคุยเพื่อผ่อนคลายด้วยครับ หลังจากนั้นก็หลับไม่ได้สติครับ มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่อยู่ในห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดที่ทางเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเราให้ได้สติก่อนที่จะส่งกลับหอผู้ป่วยต่อไปครับ
- หลังจากนั้นค่อนข้างจะลำบากอยู่บ้างแต่มันก็จะผ่านไปได้ด้วยดีครับ ทั้งการที่ฟันถูกใส่เฝือกให้ขยับไม่ได้ (ราว 1 เดือนครับ) ในระหว่างนี้ก็จะรู้สึกลำบากเวลากินที่จะทานได้เฉพาะของเหลวผ่านทางหลอดฉีดยา, หน้าบวมโดยเฉพาะ 2-3 วันแรกที่ต้องอาศัยการประคบเย็นบ่อยๆ, แปรงฟันไม่ได้แต่ต้องพยายามรักษาความสะอาดในช่องปากก็จะต้องอาศัยการบ้วนน้ำเกลือและน้ำยาบ้วนปาก C20 หลังทานอาหารเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ, การใส่สายเดรนเลือดเพื่อระบายเลือดคั่งในช่วง 2 วันแรก, ต้องฝึกกัดฟันใหม่ให้ถูกต้องเพราะตำแหน่งใหม่เปลี่ยนไปแล้ว แต่เราหรือขากรรไกรอาจจะชินกับแบบเดิมอยู่อันนี้ต้องคอยมีสติอยู่เสมอครับ
ตลอดระยะเวลาที่พักใน รพ. นี้ 4 คืน ก็ต้องขอขอบคุณคุณป้าที่มาช่วยดูแล รวมทั้งทีมแพทย์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาดูอาการครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

6) พักฟื้นหลังผ่าตัด
- ในช่วงนี้ผมใช้รวมกับขั้นตอนผ่าตัดลางานมาราวๆ 3 สัปดาห์ครับ ในขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความอดทนสูงเพราะเราจะกินได้ลำบาก และรู้สึกไม่สบายในปากมากเพราะแปรงฟันไม่ได้ ซึ่งผมก็กินได้แต่น้ำผลไม้และนม (พยายามเลือกที่มีสารอาหารครบ เช่น ensure)  รวมทั้งสภาพจิตใจอาจแย่ลงบ้างจากรอยช้ำบนใบหน้าที่ต้องอาศัยการประคบร้อนเข้ามาช่วยให้จางเร็วขึ้นด้วยครับ
- หลังจากนั้นก็จะมีการติดตามอาการกับหมอผ่าตัด โดยปกติก็พบสัปดาห์ละครั้ง จนกระทั่งครบกำหนดที่เอาเฝือกฟันออกซึ่งในวันนั้นจะรู้สึกโล่งและดีใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หลังจากถอดเฝือกฟัน คุณหมออาจจะเกี่ยวยางดึงขากรรไกรบนล่างไว้อีกสักพักนะครับแล้วแต่กรณี แต่ก็ขยับปากได้มากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย
- สำหรับเพลทที่ใช้ยึดขากรรไกรหลังผ่าตัดก็จะติดไว้แบบนั้น เพราะความจริงกว่ากระดูกจะสมานก็ใช้เวลาขั้นต่ำ 3-6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเมื่อครบ 1 ปี ก็อาจจะผ่าเอาออกก็ได้ครับแล้วแต่ความชอบ ส่วนตัวไม่ชอบเห็นเวลาผ่านเครื่อง X-ray แต่บางคนก็อาจเลือกที่จะไม่ผ่าออกก็มีเช่นกันครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

7) กลับไปจัดฟันต่อจนเสร็จสิ้น 
- สิ่งแรกที่เจออาจารย์และอาจารย์ทักว่าหน้าเปลี่ยนไปจากเดิมมาก หายเบี้ยวแล้ว รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาเยอะเลยครับ ยิ้ม
- ในขั้นนี้ก็จะเป็นการจัดฟันต่อจากเดิมครับให้เรียงตัวสวยงามและสบกันพอดีมากขึ้น ผมใช้เวลาต่ออีกราว 10 เดือนครับจึงจะถอดเครื่องมือและพิมพ๋ปากเพื่อใส่รีเทนเนอร์ครับ
- ถึงแม้การรักษาจะจบ แต่เรายังคงต้องใส่รีเทนเนอร์ต่อไปนะครับ ไม่งั้นความพยายามที่ทนมาอาจสูญเปล่าจนต้องกลับไปจัดฟันใหม่หากฟันเคลื่อน โดยในช่วงนี้เพิ่งถอดเครื่องมือทางอาจารย์ได้แนะนำให้ใส่ไว้ตลอด ยกเว้นเวลากินข้าวและแปรงฟันครับ
- อาจมีนัดไปปรับแต่งรีเทนเนอร์บ้างครับ เพราะอาจหลวม/ไม่พอดี

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
  สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านข้างต้น รวมทั้งเพื่อนและญาติที่เป็นกำลังใจ คุณอีฟผู้ที่เคยมาแชร์ประสบการณ์ และผู้อ่านทุกท่าน หวังว่าข้อมูลที่ผมแบ่งปันนี้จะเป็นทางเลือกการรักษาให้กับทุกท่านนะครับ และขอให้ผู้ที่กำลังเลือกจะรักษา "อดทนเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีในวันข้างหน้า"

ขอบคุณครับ
มด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่