จุดจบของจ๊กก๊ก เริ่มจากกวนอูตายจริงไหม

กระทู้คำถาม
ถ้ากวนอู ไม่พลาดเสียเกงจิ๋ว และทำจนตนเองเสียชีวิต จะไม่มรเหตุการณ์ ล้มแบบโดมิโน่แบบนี้
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
ส่วนตัวแล้วมองว่าสาเหตุการล่มสลายของจ๊กไม่น่าจะย้อนกลับไปได้ไกลถึงการเสียเกงจิ๋ว แน่นอนว่าการสูญเสียเกงจิ๋วมีส่วนให้แผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่ต้นเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้จ๊กล่มสลาย
        ช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้จ๊กเสื่อมถอย น่าจะเริ่มแตกหน่อในยุคการปกครองของบิฮุย บิฮุยมีความสามารถมากพอที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองและเป็นที่ยอมรับของชาวจ๊ก แต่เขาก็มีจุดอ่อน บิฮุยเป็นคนที่ใจดีเกินไป ในการปกครองจ๊กที่ถูกวางบรรทัดฐานมาตั้งแต่ยุคขงเบ้ง ยืนยันที่จะใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและหลีกเลี่ยงการอภัยโทษ ในปี 246 บิฮุยประกาศอภัยโทษครั้งใหญ่ เมิ่งกว่างตำหนิบิฮุยในที่ประชุมราชสำนักว่าการประกาศอภัยโทษครั้งใหญ่ควรที่จะประกาศเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเท่านั้นและควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากสถานการณ์ในจ๊กสงบและมั่นคง การอภัยโทษเช่นนี้จะเป็นประโยชน์กับอาชญากรมากกว่าที่จะเสริมภาพลักษณ์ของราชสำนัก ในช่วงเวลาของบิฮุยน่าจะเป็นช่วงที่เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบที่ถูกวางมาตั้งแต่ยุคขงเบ้ง อีกหนึ่งความผิดพลาดของบิฮุยก็คือการสนับสนุนเฉินจื่อให้เข้ามามีอำนาจ เฉินจื่อเป็นหลานของเคาเจ้ง มีท่าทีน่าเกรงขามและจริงจัง มีความรู้เชี่ยวชาญงานฝีมือหลายแขนงเป็นที่ถูกใจของบิฮุย บิฮุยจึงสนับสนุนเฉินจื่อให่เข้ามามีอำนาจ เมื่อต่งหยุนเสียชีวิตในปี 246 บิฮุยแนะนำเฉินจื่อให้เข้ามาแทนที่ในตำแหน่งซื่อจงหรือมหาดเล็กคนสนิท เฉินจื่อเป็นคนฉ้อฉล เบื้องบนทำเป็นสนองงานจงรักภักดี เบื้องล่างเล่นพรรคเล่นพวกและสร้างเครือข่ายร่วมกับขันทีฮุยโฮที่ถูกต่งหยุนกีดกันมาตลอดและทำให้ขันทีฮุยโฮขึ้นมามีอำนาจในภายหลัง ในปี 251 ลู่ยี่ซึ่งมีตำแหน่งราชเลขาธิการหรือซ่างซูลิ่งเสียชีวิต เฉินจื่อได้รับแต่งให้เป็นราชเลขาธิการเพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่ง เฉินจื่อเสียชีวิตในปี 258
        หลังจากที่เฉินจื่อเสียชีวิต ฮุยโฮขึ้นมามีอำนาจ ฮุยโฉเล่นพรรคเล่นพวก เลื่อนยศตำแหน่งให้คนที่ประจบประแจง และคอยกีดกันคนที่ต่อต้าน ลั่วเซี่ยนปฎิเสธที่จะประจบฮุยโฉ ฮุยโฮจึงแกล้งย้ายลั่วเซี่ยนให้ไปประจำการที่ปาตง ฮุยโฮไม่ชอบซีเจิงจึงแกล้งไม่ให้ซีเจิงได้เลื่อนตำแหน่ง หลิวยงอนุชาของเล่าเสี้ยนมีความเกลียดชังฮุยโฮ ฮุยโฮจึงทูลต่อเล่าเสี้ยนใส่ร้ายหลิวยง ทำให้เล่าเสี้ยนเกลียดชังหลิวยงไม่ให้เข้าเฝ้านานนับ 10 ปี การปกครองของจ๊กในยุคหลังตกต่ำลงมาก ถึงขั้นที่ทูตจากง่อบอกว่าเขาเดินทางไปในชนบทของจ๊ก เห็นประชาชนมีสีหน้าหิวโหย จ๊กคงไม่พ้นการล่มสลาย
        การทำสงครามต่อเนื่องของเกียงอุยก็มีส่วนเร่งให้จ๊กล่มสลายเร็วขึ้นเช่นกัน เกียงอุยทำสงคราม 11 ครั้ง ไม่ได้ผลประโยชน์อะไตอบแทนและสูญเสียกำลังไปมาก ซึ่งต่างจากยุคขงเบ้ง ในยุคขงเบ้งแม้จะแพ้สงครามที่เกเต๋งและตันฉองในปี 228 แต่ขงเบ้งก็สามารถเอาชนะในการยึดยินผิงและอู่ตูได้ในปี 229 ต่อต้านการบุกโจมตีของวุ่ยสำเร็จในปี 230 และเอาชนะกองทัพวุ่ยครั้งใหญ่ในการรบที่ซ่างกุ้ยและหลู่เฉิงและยังสังหารขุนพลใหญเตียวคับของวุ่ยได้ในปี 231 ขงเบ้งยังถนอมกำลังไม่ให้ได้รับความเสียหายที่มากเกินควร ทำให้ผู้คนในจ๊กรับได้กับความพ่ายแพ้ แต่ในยุคเกียงอุยผู้คนเบื่อหน่ายสงครามแต่เกียงอุยก็ยังยืนยันที่จะทำสงครามต่อไป
        อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้จ๊กรบแพ้วุ่ยและล่มสลายคือการเปลี่ยนกลยุทธ์ในการรักษาฮั่นจงของเกียงอุย เกียงอุยย้ายทหารไปประจำการที่ปัอมปราการสองแห่งคือที่ฮั่นเฉิงและเล่อเฉิง โดยจะหลอกล่อให้ศัตรูเข้าตีป้อมปราการ แนวเสบียงจะขยายยาวขึ้นและจะเป็นโอกาสในการตีตัดแนวหลัง ซึ่งเป็นกลยุทธ์รูปแบบเดียวกับที่เล่าปี่ใช้ในการรบชนะโจโฉในสงครามที่แม่น้ำเว่ยโห ปี 219 ถ้าสำเร็จจะสามารถสร้างความสูญเสียแก่วุ่ยอย่างมาก แต่ก็มีความเสี่ยงที่สูง เพราะการปล่อยให้กองทัพวุ่ยเข้าพื้นที่ชั้นใน วุ่ยจะสามารถส่งกองกำลังย่อยๆกระจายกำลังเข้าโจมตีสร้างความเสียหายให้จ๊กได้ คนที่ประจำการอยู่ที่ฮั่นจงกีอนหน้าอย่างอุยเอี๋ยนและอองเป๋งจึงปฏิเสธที่จะให้กองทัพวุ่ยผ่านเข้าพื้นที่ชั้นในและสกัดศัตรูไว้ที่แนวเขา กลยุทธ์ของเกียงอุยได้ผลในช่วงแรก แต่เมื่อมีคนทรยศทำให้สูญเสียด่านหยางผิง ทำให้การควบคุมฮั่นจงตกไปอยู่ที่ฝ่ายวุ่ย ท้ายที่สุดแล้วเล่าเสี้ยนก็เลือกที่จะยอมจำนนต่อวุ่ย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่