3 วัน 3 คืนกับวิถีริมฝั่งโขง ดินแดนที่เผชิญหน้ากับพระอาทิตย์ก่อนผู้ใดในสยาม


สวัสดีครับ พวกเราได้มีโอกาสไปเดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอโขงเจียมเป็นเวลาทั้งหมด 3 วัน 3 คืน ซึ่งการท่องเที่ยวครั้งนี้เริ่มจากการที่เรามีโอกาสในการจัดทริปการท่องเที่ยวเองจากวิชาในมหาวิทยาลัย พวกเราจึงมีข้ออ้างให้กับทริปครั้งนี้ว่าเป็นการไปทำงาน ไม่ใช่ไปเที่ยว(ถึงแม้ว่าเราจะสนุกจนเกือบลืมทำงานเลยก็ตาม) เราได้ทำการรวมตัวกันเพื่อพูดคุยในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากการเข้าไปดูคลิปท่องเที่ยวใน Youtube จนได้ไปเจอกับคลิปของ Pigkaploy ที่ได้ไปเที่ยว “ฟ้าใสโฮมสเตย์” ณ โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แล้วทั้งกลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่าน่าสนใจ(สวย น่าเที่ยว และถูกมาก!!) พวกเราไม่รอช้า จึงทำการโทรไปสอบถามและทำการจองอย่างเสร็จสรรพภายในไม่กี่วัน
เราได้ตกลงกันเดินทางไปในวันที่ 20-23 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงกรานต์ทำให้ค่อนข้างน้อยและทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินขากลับถูกมาก

เราจึงรีบจองตั๋วกลับกันโดยไม่รีรอ ซึ่งค่าตั๋วเครื่องบินนั้นอยู่ที่ราคา 1,095 บ. เท่านั้นครับ จากนั้นก็เตรียมตัวรอเพื่อที่จะไปเที่ยวโดยขาไปเราจะไปกันด้วยรถทัวร์ครับ เริ่มคืนแรก 20 เมษายน 2566 พวกเรานัดรวมตัวกันตอนเย็นที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร หรือหมอชิต2) และออกเดินทางโดยรถทัวร์บริษัท วัฒนาสาคร ทัวร์ เวลา 19.30 น. โดยจะมีสมาชิก 1 คนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เราจึงเหลือกันทั้งหมด 4 คน ที่จะเดินทางไปพร้อมกัน 

มาพบกับสมาชิกคนแรกของเรานั่นก็คือ นางสาว สลินนั่นเองนะครับทุกคน เมื่อมาถึงที่ บขส. พวกเราก็ตุนอาหารกันก่อนเลยเพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้องนะครับ 

สมาชิกคนต่อไปชื่อ โอ็ต คนนี้ดูท่าจะหิวกว่าเพื่อน จึงไปซัดก๋วยเตี๋ยวโดยไม่รีรอใคร และเมื่อทานเสร็จเราก็จะไปขึ้นรถกันเลยครับ

เช้าวันแรก 21 เมษายน 2566 เราใช้เวลาบนรถทัวร์ไปทั้งหมดราว 12 ชั่วโมง เป็นการเดินทางอันยาวนานและทรมานอย่างหาที่สุดมิได้  (พวกเรานั่งกันจนปวดท้องและเท้าบวม) จนคิดว่าในชีวิตนี้จะไม่ขอนั่งแบบนี้อีกแล้ว แม้ว่ารถจะมีการแวะพักรถ 1 ครั้งแต่ไม่ได้ทำให้ความทรมานนี้หายไปเลย

แนะนำตัวคนที่พาเราไปเที่ยว ไปผจญภัยในทริปนี้นะครับ นั่นก็คือพี่อาทิตย์เจ้าของโฮมสเตย์นั่นเอง เมื่อเราเดินทางมาถึงแล้วพี่อาทิตย์ก็ได้เข้ามารับเราที่ปลายทางสถานีที่จุดจอดรถตำบลนาโพธิ์กลางของเราทัวร์ด้วยกระบะคันเก่งของเขาอย่างเป็นมิตร 
 
นี่คือหน้าที่พักของเรานะครับ และเมื่อไปถึงก็ไม่รอช้าเข้าไปเติมพลังกันอย่างว่องไวด้วยข้าวเช้าฝีมือพี่ๆ ที่ครัวฟ้าใส ระหว่างรอข้าวพี่อาทิตย์ได้เล่าว่า ที่ฟ้าใสโฮมสเตย์เป็นที่พักที่ทำร่วมกับกลุ่มพัฒนาชุมชน ร่วมกับภาครัฐสนับสนุนเพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้ผู้คนที่มาท่องเที่ยวได้ศึกษาวิถีชีวิตริมโขงอย่างแท้จริง

ต่อมาเราจะแนะนำตัวสมาชิกคนต่อไปนะครับ นั่นก็คือผู้ใหญ่บ้านเสื้อแดงของเรานั่นเอง (อาร์ม) ถือได้ว่าเป็นเดอะแบกของทีมเลยก็ว่าได้ เพราะอาร์มรู้จักวิถีชีวิตของชานบ้านอยู่แล้วและทำเป็นทุกอย่าง กินทุกอย่าง เป็นเดอะแบกของทีมโดยแท้

หลังทานอาหารเสร็จแล้วก็ต่อด้วยการนอนกลางวันที่กระท่อมริมโขง เพื่อรอเพื่อนคนสุดท้ายมาสมทบพร้อมกับรอพี่อาทิตย์ทำธุระเสร็จ ซึ่งในที่กระท่อมก็จะมีที่นอน หมอน มุ้ง และ พัดลมเท่านั้น เมื่อได้เวลาอันสมควรพวกเราทั้งหมดก็ขึ้นกระบะพี่อาทิตย์ ให้พี่อาทิตย์ได้พาเราไปซ้อมติดป่าและหาอาหารเย็นสำหรับวันนี้

ก่อนจะเข้าป่าพวกเราได้แวะไปดูแพะที่พี่อาทิตย์เลี้ยงไว้ น้องๆ น่ารักมากตัวที่เด็กขนนุ่มมากกกก เหมือนกับหมาเลย โดยพี่อาทิตย์และพ่อพี่อาทิตย์ได้กล่าวไว้ว่า การเลี้ยงสัตว์ของชาวอีสานนั้นนอกจากวัวและควายก็ยังมีแพะที่มีหลายครัวเรือนที่ทำเป็นอาชีพหลักและส่งให้กับครัวเรือนที่ต้องการ เมื่อเลี้ยงแพะเสร็จแล้วเราก็เดินเข้าสวนยางพาราของพี่อาทิตย์กันโดยพี่อาทิตย์ได้กล่าวว่าในการเดินป่านั้น น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญและหมดได้ง่ายที่สุด ดังนั้นเราจึงมีผลไม้ป่าที่จะช่วยดับกระหายเราได้มากมาย (หลังจากนี้จะเป็นการลองผลไม้แทนการหาอาหารเย็นแทนแล้วครับ 55555)

โดยผลไม้ชนิดแรกที่พี่อาทิตย์แนะนำคือ ลิ้นจี่ป่าที่เปรี้ยวมากกกก ตามด้วยลูกส่านที่มีกลิ่นเหมือนมะเฟืองแต่แทบไม่มีรสชาติใดๆ

ปิดท้ายสวนยางพาราด้วยผลของมะม่วงหิมพานต์ ที่จำเป็นจะต้องตัดหัวและตูดออก ตัวผลมีรสฟาดมากกกก แต่ก็มีน้ำเยอะที่สุดเหมาะที่จะดับกระหายมากที่สุด

หลังจากนั้นเราได้เข้าป่าไผ่กันโดยที่เป้าหมายแรกของเราคือ “ดอกกระเจียว” ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่คนนอีสานนิยมทานกันตอนที่ดอกยังไม่บานโดยเราจะขุดกันตามพื้น เพื่อไปต้มเป็นอาหารเย็นของพวกเรา จากนั้นเราก็เดินต่อไปเพื่อหาหน่อไม้โดยพี่อาทิตย์กล่าวว่าคนอีสานชอบจุดไฟเผาป่าเพราะจุดที่เกิดการเผาป่าจะทำให้เห็นเพาะเกิดหลังจากฝนตกชุ่มๆ อีกทั้งยังมีหน่อไม้ป่าที่จะเกิดดีมากๆ เวลาโดนไฟไหม้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งทางภาคเหนือก็ประสบปัญหาแบบนี้เหมือนกัน (การเผาป่าเพื่อให้เกิดของป่า)

ในป่าไผ่ก็ยังมีลูกหวดที่เกินขึ้นเองตามธรรมชาติมีรสหวานชุ่มคอ ดับกระหายพร้อมรสชาติหวานสดชื่นที่สุดในบรรดาผลไม้ป่าทั้งหมดที่ได้เจอในวันนี้

ปิดท้ายด้วยการแวะเก็บใบขี้เหล็กเพื่อนำไปทำแกงขี้เหล็กเพิ่มเติมสำหรับมื้อเย็น

และสมาชิกคนต่อไปของเรานั้นก็คือคนที่อยู่ตรงกลางนะครับ (ไอซ์) ไอซ์เป็นคนที่ยังไงก็ได้เลยกับทริปนี้พร้อมทำทุกอย่างแต่ก็แอบบ่นว่าเหนื่อยอยู่นะ
หลังถึงที่พักเราก็ไปเก็บของเพื่อที่จะไปเล่นน้ำดังรูปและรอจับกุ้งตอนที่กุ้งออกมาแล้วในช่วงกลางคืน(หลัง 1 ทุ่ม) เพื่อที่จะนำไปทำอาหารอย่างสุดท้ายของเรา

การหากุ้งของเราจะใช้อวนที่มีความกว้างขนาดสองคนถือ ติดไม้ไผ่ไว้สองฝั่งใช้สองคนลากอวนไปใต้น้ำค่อยๆ เดินช้าๆ เลาะตามชายฝั่งโขงไปเรื่อยๆ และ จนกระทั่งได้ระยะหนึ่งแล้วจะทำการยกขึ้นมาบนฝั่งและช่วยกันดูว่ามีกุ้งอยู่ไหมหากมีจะทำการหยิบใส่ถังทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนได้กุ้งที่มากพอทำก้อยกุ้ง

อาหารเย็นของเราในวันนี้ก็จะมี ดอกกระเจียวต้ม แกงขี้เหล็กหนังวัว และก้อยกุ้งแม่น้ำโขง ที่มาจากหยาดเหงื่อและแรงกายของพวกเราหลังจากได้ทานแล้วบอกเลยว่าหายเหนื่อย!!

ตอนแรกเราวางแผนกันจะไปผาชะนะได ซึ่งเป็นที่ที่เหมาะกับการชมพระอาทิตย์ขึ้นกันแต่พี่อาทิตย์บอกว่าเขากำลังปิดปรับปรุงอยู่เราจึงเปลี่ยนแผนมาดูพระอาทิตย์ขึ้นที่กระท่อมพี่อาทิตย์แทน เช้าวันที่สอง 22 เมษายน หลังจากการชมพระอาทิตย์เราได้ไปเดินแวะตลาดเพื่อหาข้าวเช้า เมื่อไปถึงก็ได้เวลาตลาดวายแล้ว แต่ยังโชคดีที่ยังพอมีร้านอาหารหลงเหลืออยู่ให้เราสามารถหาอาหารทำให้เราอิ่มท้องกัน


หลังจากเติมพลังตอนเช้าแล้วพี่อาทิตย์ได้พาไปเยี่ยมชมการเลี้ยงวัวตามวิถีริมฝั่งโขง



ตกบ่ายด้วยอากาศที่ร้อนเกินไป เราจึงกลับที่พักกัน และนอนพักกันที่กระท่อมเพื่อรออากาศเย็นลง เมื่อตกเย็นคุณพ่อพี่อาทิตย์ได้พาเราล่องเรือไปยังสวนหินใกล้ที่พักที่อยู่กลางแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวบ้านจะมาเล่นน้ำ และทำการขึงเบ็ดหาปลาในทะเลไว้กับโขนหินในสวนหินนี้ 


กลับจากเล่นน้ำพวกเราก็ทำการพักผ่อนด้วยหมูกระทะริมฝั่งโขงเพื่อออมแรงไว้อีเว้นท์สุดท้ายของเราในวันรุ่งขึ้น

เช้าต่อมา

วันที่ 23 เมษายน วันสุดท้ายที่โขงเจียม เช้าวันนี้หลังจากการตื่นนอนพวกเราได้รวมตัวกันและล่องเรือไปกับคุณพ่อเพื่อไปที่ตลาดของชาวประมงน้ำจืดที่โขงเจียม

บรรยากาศของตลาดปลาจะเป็นโขกหินที่มีเรือประมงของชาวบ้านมาจอดรวมกัน และทำการค้าขายปลากัน คุณพ่อฯ ได้แนะนำพวกเราให้กับกลุ่มชาวประมงได้รู้จัก
คุณพ่อฯได้นำปลาหลากหลายชนิดมาเผาให้พวกเราได้ทานกับน้ำจิ้มแจ๋วเป็นอาหารเช้า พร้อมกับ “โบทิดา” สุราขาวจากฝั่งลาวที่รสละมุนลิ้น ลื่นคอ แถมราคาถูก ทางชาวประมงได้เล่าให้ฟังว่า “เขื่อนไซยะบุรีที่ถูกสร้างขึ้นมาทำให้น้ำฝั่งของเราไม่ลดลงเลยจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์” ส่งผลให้การประมงแบบยุคสมัยก่อนกำลังจะหมดไป คนรุ่นใหม่นิยมนำเทคโนโลยีมาช่วยมากขึ้นเกินความจำเป็น ทำให้สิ่งผลต่อวัฏจักรชีวิตของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำเกิดการขาดแคลนและหากดำเนินต่อไปอาจจะทำให้ระบบนิเวศน์ทางน้ำพังทะลายลงได้
สุดท้ายนี้หลังเราล่องเรือกลับมาจากตลาดชาวประมง พวกเราก็ได้ทำการอาบน้ำ ทานข้าวพร้อมนั่งรถไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่