ทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองแอร์ยี่ห้อ Carrier Copper7 ขนาด 12200 btu

เนื่องจากวันนี้( 14/5/2566) ได้มีการนัดหมายติดตั้งแอร์ Carrier Copper7 ขนาด 12200 btu  และด้วยความอยากรู้เพื่อประเมินเบื้องต้นว่าหากมีการใช้งานจริงจะต้องมีค่าไฟเพิ่มขึ้นเดือนละเท่าไหร่ โดยข้อมูลตามเอกสารที่ได้รับมา ในรุ่นนี้มีรายละเอียดแจ้งว่ามีการกินกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 4.6 แอมป์ หรือ 1.012 Kw-Hr ค่า seers 13.35 btu/hr/watt และมีค่าไฟรายปีอยู่ที่ 10,567 บาท โดยเข้าใจว่าเป็นการเปิดทุกวันๆละ 8 ชม. และสมมุติฐานทั้งปีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 25 องศา ซึ่งด้วยความที่ผมไม่ได้ใช้งานตามเงื่อนไขนี้ จึงต้องการทดสอบจากการใช้ไฟจริงผ่านการอ่านค่ามิเตอร์โดยตรง หักจากการใช้ไฟเฉลี่ยอื่นๆที่ใกล้เคียงการใช้งานจริงในทุกๆวัน โดยผมตั้งสมมุติฐานว่าการสิ้นเปลืองในการใช้งานของผมจะต่ำกว่าผลการคำนวณของการไฟฟ้า 30-50% ได้หรือไม่ และหากห้องที่มีขนาดใหญ่กว่ากำลังบีทียูของแอร์ในการใช้งานจริง แอร์จะตัดหรือไม่อย่างไร และค่าไฟจะเป็นอย่างไร


หลังการติดตั้งเสร็จ ช่างติดตั้งได้ทำการเปิดแอร์ที่ 17 องศาประมาณ 1 ชม. ตั้งแต่ประมาณ 11.30 น. จากนั้นผมได้เริ่มบันทึกค่าจากมิเตอร์ตั้งแต่เวลาเที่ยงตรง ซึ่งหมายเลขมิเตอร์อ่านได้ 66418.5 และหลังจากเปิด 17 องศาครบ 1 ชม  (ซึ่งอุณหภูมิที่วัดได้เฉลี่ยอยู่ที่ 28 องศา ไม่ลงไปมากกว่านี้ เนื่องจากพื้นที่เฃอวิสของแอร์ตัวนี้ตอนนี้คือประมาณ 35-45 ตรม. ซึ่งจัดว่าเกินศักยภาพของแอร์ไปมาก แต่ผมก็ได้มีแผนกั้นห้องให้เหลือประมาณ 18-20 ตรม.ในสัปดาห์หน้า วันนี้จึงต้องทดสอบกับพื้นที่นี้ดูก่อนเพื่อทดสอบการตัดของแอร์จริง) จากนั้นผมก็ค่อยๆปรับการตั้งค่าอุณหภูมิขึ้นมาจนถึง 28-30 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต้องการใช้งานในภาวะปรกติต่อเนื่องอีก 3 ชม. จนปิดแอร์เวลา 16.00 น. โดยอ่านค่าสุดท้ายได้ที่ 66423.5 เท่ากับว่าในเวลา 4 ชม.นี้มีการใช้ไฟอยู่ 5 หน่วยโดยประมาณ


 
โดยเมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดในช่วงที่แอร์ทำงานและคอมเพรสเซอร์ทำงานด้วยเมื่อจับเวลาหาค่าเฉลี่ยรอบดูพบว่าใน 5 รอบ เวลาที่จับได้อยู่ระหว่าง 29.3-36.4 หรือเปลี่ยนเป็น KwHr จะเท่ากับ 1.24-1.53  Kw-Hr และช่วงที่แอร์ทำงานแต่คอมเพลสเซอร์ตัดจะเท่ากับ  0.72  Kw-Hr ขณะที่ช่วงที่ปิดแอร์ไปแล้วคือหลัง 4 โมง เวลาที่จับได้คือ 2 รอบในระยะเวลา 38.5 วินาที หรือ 0.47 Kw-Hr ดังนั้นหากคิดจากรายละเอียดตามนี้และคิดอัตราการตัดของคอมเพลสเซอร์อยู่ที่ 50 % ก็จะได้เท่ากับค่าเฉลี่ยอัตราการใช้ไฟรวมในช่วงการเปิดแอร์เท่ากับ  (1.39+0.72)/2 = 1.06 Kw-Hr  ซึ่งใกล้เคียงและสอดคล้องจากการตรวจสอบค่าหน่วยใน 3 ชมหลังกล่าวคือเฉลี่ยชม.ละ 1 Kw-Hr แต่หากพิจารณาในช่วงทดสอบเครื่อง 1 ชมแรกด้วยที่ 17 องศา จะได้ค่าเฉลี่ย 1.25 Kw-Hr ดังนั้นหากคิดแบบ Aggressive ผมจะนำค่า 1.25 Kw-Hr มาใช้ และหากลบช่วงที่ปิดแอร์ ซึ่งจะเหลือการใช้ไฟอื่นๆที่ไม่ใช่แอร์จะเหลือเฉพาะแอร์จริงๆคือ 1.25-0.47 = 0.78 Kw-Hr คืออัตราการสิ้นเปลืองของแอร์เพียงอย่างเดียว และหากผมคิดว่าในการใช้งานที่คาดหวังคือเปิดวันละ 5-6 ชม. เดือนละ 22 วัน โดยคิดค่าไฟเฉลี่ยหน่วยละ 5 บาท ผมจะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นเฉพาะของแอร์ตัวนี้เท่ากับ 0.78*5*22*6=515 บาท และตลอดทั้งปีคือ 6100-6200 บาท ทั้งนี้ยังไม่คิดลดกรณีที่วันไหนอากาศภายนอกต่ำกว่า 30 องศา เช่นหน้าหนาวหรือหน้าฝน หรือกรณีไม่อยู่ที่ทำงานหรือช่วงไฟดับก็ตาม ผมก็จะไม่เปิดแอร์เพื่อใช้งาน (ต้องอธิบายนิดนึงว่าที่จริงผมเป็นคนไม่ชอบอากาศเย็นเลย คือที่ชอบที่สุดคืออากาศธรรมชาติที่อยู่ระหว่าง 28-32 องศาจะชอบที่สุด แต่จะเริ่มไม่โอเคหากขึ้นไปเกิน 34-39 องศา ซึ่งหน้าร้อนปีนี้เจออยู่บ่อยมากจนแทบทำงานไม่ได้เลย)

โดยสรุปแม้ผมจะใช้ระบบ non inverter ก็ตามก็ไม่ได้แปลว่าผมต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น เนื่องจากยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ควบคุมความสิ้นเปลืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าอุณหภูมิ ระยะเวลาการเปิด ฤดูกาล รวมถึงระบบ Rotary ตัวนี้ก็มีระบบ Eco ที่ช่วยประหยัดไฟขึ้นได้อีกระดับหนึ่ง กล่าวคือ ค่าที่ตั้งจะถูกบวกขึ้น 1 องศาทุก 1-2 ชม. แต่สูงสุดไม่เกิน 2 องศา ทั้งนี้หากผมกั้นห้องเสร็จและเปิดไม่เกิน 22 วัน/เดือน ที่อุณหภูมิใช้งานคือ 29 องศาในเวลากลางวัน ค่าไฟต่อเดือนสำหรับแอร์ขนาด 12200 btu จะไม่เกินเดือนละ 500 บาท

หมายเหตุ -การทดสอบดังกล่าวเป็นทดสอบช่วงกลางวัน ซึ่งถือเป็นช่วงร้อนจัด และพื้นที่ห้องที่ทดสอบเกินกว่ากำลังของ btu ที่รองรับได้ด้วย กล่าวคือพื้นที่ทั้งหมดที่แอร์ต้อง cover คือ 35-45 ตรม. แอร์ก็ยังตัดค่อนข้างดีและควบคุมค่าไฟได้อยู่ ทั้งนี้คงเพราะเนื่องจากการตั้งค่าอุณหภูมิห้องไว้ที่ระดับ 29-30 องศาในโหมด Eco นั่นเอง และอุณหภูมิห้องปรกติวันนี้อยู่ที่ประมาณ 34-35 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ 50%


ปล. หากผมกั้นห้องใหม่แล้วจะทำการทดสอบอีกครั้ง โดยควบคุมการใช้งานจริงตลอด 6 ชม(10.00-16.00) ครับ คือใช้งานที่อุณหภูมิ 29 องศา(mode Eco) ที่พื้นที่ปิด 17 ตรม. โดยจะวัดค่ามิเตอร์ที่เดินทุกชม และวัดรอบช่วงแอร์และคอมเพลสเซอร์ทำงาน กับช่วงที่แอร์ทำงานและคอมตัด รวมถึงวัดรอบช่วงก่อนเปิดแอร์และหลังเปิดแอร์มาเฉลี่ยกัน

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
วันนี้(15/5/2566) หลังติดตั้ง 1 วันได้ทดลองอีกที ไม่ค่อยประหยัดแล้วตกชมละ 1.14 หน่วย เทียบกับเมื่อวานที่คิด 5 ชม. ได้ค่าเฉลี่ย 0.78 หน่วย โดยวันนี้เริ่มคิดตั้งเริ่มต้นการทำงาน เปิดกลางวันช่วงร้อนจัดตั้งแต่ 12.00-16.00น. (หักเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างอื่นแล้ว) ทั้งที่ควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 29-30 องศา จากอากาศปรกติ 35 องศา และพื้นที่เซอวิสแอร์ 45 ตรม.  เปิด 4 ชม. แต่ 2 ชม.แรกลืมเปิดหมวด Eco เด๋วถ้าคุมพื้นที่เหลือ 17 ตรม. จะเทสอีกทีครับ วันนี้ที่มันกินคงเพราะสู้กับพื้นที่ไม่ไหว ขณะที่เมื่อวานช่วงกดความเย็น 17 องศา เกือบ 1 ชม. ไม่ได้เอามารวม ทำให้ดูดซับความร้อนไปมากแล้ว เริ่มคิดค่าไฟที่อุณหภูมิห้อง 27-28 องศาแล้ว แต่ก็ถือว่าเย็นเร็วเหมือนกัน ลดลงเกือบ 5 องศาในเวลาแค่ ครึ่งชม

12.00 น. ก่อนเปิดแอร์


12.30 น.หลังเปิดแอร์มาแล้วครึ่งชม. พื้นที่ทำความเย็น 40-45 ตรม.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เนื่องจากผมยังสงสัยว่าเหตุใดวันที่1 กับวันที่ 2 ค่าไฟต่างกันมาก จึงขอทดสอบโดยใช้เงื่อนไขของวันแรกดูอีกครั้งคือเร่งความเย็นต่ำสุด 17 องศาใน 1 ชม.แรกก่อน แล้วค่อยปรับขึ้นมาที่ 30 องศาในโหมด Eco
โดยวันนี้เริ่มต้นทดสอบครั้งที่ 3  (16/5/2566 12.00น.) วัดค่ามิเตอร์ อุณหภูมิห้อง และอัตราการใช้ไฟก่อนเปิดแอร์ได้ดังนี้
มิเตอร์ 66450 หน่วย 
อุณหภูมิห้อง 34 องศา 
ความชื้นสัมพัทธ์ 42 
อัตราการกินไฟ  = 2*3600/35.42/400 = 0.51 หน่วย/ชม. 
สภาพอากาศ ไม่มีเมฆ
อุณภูมิที่ตั้งค่า 17 องศา ในหมวด Eco
ขนาดห้อง 40-45 ตรม.โดยประมาณ
(หลัง 4 โมงเย็น ผมจะสรุปผลการทดสอบให้ทราบ)




เวลา 13.00 เมื่อครบ 1 ชม อ่านค่ามิเตอร์ได้ 66451.6 และอัตราการกินกระแสช่วงแอร์ตัด 3600*2/32.3/400 = 0.56 หน่วย โดยอุณหภูมิห้องลดลงมาเหลือเพียง 29 องศา ซึ่งผมได้ทำการปรับค่าขึ้นมาเป็น 30 องศา Eco


เวลา 14.00 เมื่อครบ 2 ชม อ่านค่ามิเตอร์ได้ 66453 และอัตราการกินกระแสช่วงคอมทำงาน 3600*5/29.6/400 = 1.52 หน่วย โดยอุณหภูมิห้องประมาณ 29.5 องศา ซึ่งจะเห็นว่าแอร์เริ่มทำงานประหยัดลงจริงๆด้วย และโหมด Eco จะเริ่มทำงานน่าจะประหยัดค่าไฟเพิ่มขึ้นอีก โดยจะทดสอบต่อไปจนจบ 16.00 น. 
ปล.เริ่มรู้สึกอุ่นขึ้นเล็กน้อย แต่ยังสบายๆ อุณฯห้องตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็น 30 องศาตามที่ตั้งค่าไว้


เวลา 15.00 เมื่อครบ 3 ชม อ่านค่ามิเตอร์ได้ 66454 และอัตราการกินกระแสช่วงคอมตัด 3600*1/20.8/400 = 0.43 หน่วย โดยอุณหภูมิห้องประมาณ 30.5 องศา โหมด Eco เริ่มทำงานแล้ว แต่ก็ยังสบายๆ ถ้าคิดที่ 3 ชม.นี้ การใช้ไฟเฉพาะแอร์จะอยู่ที่ 0.82 หน่วย/ชม. ใกล้เคียงกับวันแรกแล้ว 



เวลา 16.00 เมื่อครบ 4 ชม อ่านค่ามิเตอร์ได้ 66455 และอัตราการกินกระแสหลังปิดแอร์ 3600*1/14.78/400 = 0.61 หน่วย โดยอุณหภูมิห้องประมาณ 31 องศา โดยสรุปใน 4 ชม. มิเตอร์เดินมาได้ 5 หน่วย ซึ่งหากคิดอัตราการกินไฟที่ค่าเฉลี่ยก่อนและหลังใช้แอร์จะเท่ากับ (0.51+0.61)/2= 0.56 หน่วย/ชม. ดังนั้นไฟเฉพาะแอร์ใน 4 ชมคือ 5-0.56*4 = 2.76 หน่วย หรือ 0.69 หน่วย/ชม. คืออัตราการกินไฟของแอร์เครื่องนี้ เมื่อตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 30 องศา ซึ่ง ได้ผลการทดสอบออกมาว่าหากต้องการประหยัดค่าไฟให้แอร์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเริ่มเปิดแอร์ใน 1 ชมแรก ควรตั้งค่าอุณหภูมิที่ต่ำสุด โดยให้แอร์ทำงานเต็มที่เพื่อดูดซับความร้อนภายในห้องออกไปให้มากที่สุด แล้วหลัง 1 ชม.ไปแล้วค่อยเพิ่มอุณหภูมิรวมถึงโหมด Eco ไว้ตามที่ต้องการ กรณีของผม แม้ห้องจะมีความกว้างเกินกว่ากำลังแอร์ไปมาก แต่แอร์ก็ไม่ได้ทำงานหนักเกินไป หากเราตั้งอุณหภูมิไว้สูงหน่อย เช่น 30 องศาเป็นต้น แต่การตั้งค่าอุณหภูมิที่ต้องการทันทีเช่นเปิดปุ๊บตั้งค่าไว้ที่ 30 เลย กลับกลายเป็นว่าแอร์ต้องทำงานหนักทุกชม.ที่เปิดสุดท้ายค่าไฟจะสูงกว่าเกือบเท่าตัว


วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการทดสอบหลังจากที่กั้นพื้นที่เหลือ 17 ตรม. (17/5/2566) ผมขอสรุปสั้นๆ เนื่องจากใช้วิธีการเดียวกันกับที่ผ่านมา โดยทดสอบ 5 ชม. 1ชมแรกเร่งความเย็นที่ 17 องศา ในหมวด Eco จากนั้นปรับมาที่ 30 องศาจนครบ 5 ชม. ลดอุณหภูมิลงร่วม 10 องศาจากภายนอก(37->27) กินไฟไป 5.3 หน่วย หักค่าไฟที่ไม่เกี่ยวกับแอร์ 2.55 หน่วย ดังนั้นค่าไฟที่เกิดจากแอร์วันนี้เท่ากับ 0.55 หน่วยต่อชม. หรือวันละ 13.75 บาท หากเปิด 22 วัน จะเท่ากับเดือนละ 302 บาทหรือปีละ 3630 บาท ขอจบการทดลองเพียงเท่านี้ครับ หวังว่าท่านจะนำผลการทดลองวิจัยสั้นๆนี้ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ต่อไปไม่มากก็น้อย ขอบคุณครับ
หมายเหตุ ชม.แรกเนื่องจากไม่ได้อ่านค่าจึงอนุมานว่าค่าเท่ากับเมื่อวานคือ 1.8 หน่วย รวมกับ 4 ชม.หลังที่ตั้งค่าความเย็นที่ 30 องศา โดย 4 ชมหลังกินไฟเพียง 3.5 หน่วย และหักลบไฟที่ใช้อื่นๆคือ 0.55หน่วย/ชม. ทำให้ทราบว่าช่วงที่รักษาความเย็นตามที่ต้องการแอร์มีค่าการกินไฟเพียง  0.33 หน่วยต่อชม.เท่านั้นเอง

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่