🔎 ถอดรหัสความสำเร็จของ ‘หมอหลวง’ ละครไทยถ้าทำดีอย่างไรก็มีคนดู





หมอหลวง
กลายเป็นละครที่สร้างปรากฏการณ์
ความสำเร็จในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ด้วยการคว้าเรตติ้งเปิดตัวที่เลข 3
ไต่ระดับไปถึง 4.867 ทั่วประเทศ
และกลายเป็นละครที่คนดูมากที่สุด
เฉือนชนะแชมป์เก่าอย่างช่อง 7 อยู่หลายครั้ง ในขณะที่ยอดสตรีมมิง
ก็คว้าอันดับหนึ่งทาง Netflix อยู่บ่อยๆ
ยังไม่นับรวมกระแสความชื่นชม
จากโลกออนไลน์
กลายเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ ว่า
ละครไทยหากตั้งใจทำอย่างไรก็ยังมีคนดู 
 
จริงอยู่ว่า หมอหลวง อาจจะมีแต้มต่อ
อยู่นิดหน่อย ด้วยฐานแฟนเดิม จาก ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง แม้ไม่ใช่ภาคต่อ แต่ใช้
นักแสดงชุดเดิมและอยู่ในจักรวาลเดียวกัน
แต่ก็ไม่เท่ากับวิธีการเล่าเรื่องและ ‘ทำการบ้าน’ มาอย่างดี
จนมีการต่อยอดนำไปพูดถึงในโลกออนไลน์ด้วยเรื่องราวแพทย์แผนไทย และ
เกร็ดประวัติศาสตร์ผสมความตลกโบ๊ะบ๊ะ
ผ่านวัฒนธรรมป๊อปที่เชื่อมโยงกับคนยุคปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องราวของ บัว
(คิมเบอร์ลี่ แอนโวลเทมัส) นักศึกษาแพทย์
ที่หลงเข้าไปในยุครัชกาลที่ 3
ที่วิทยาการแพทย์แผนไทยกำลังเฟื่องฟู
จนได้พบกับ ทองอ้น (มาริโอ้ เมาเร่อ)
ทายาทหมอหลวง ที่ดูเป็นคนไม่เอาถ่าน
ในสายตาพ่อ และมักจะตกเป็นรอง ทองแท้
(มาสุ จรรยางค์ดีกุล)
พี่ชายต่างแม่อยู่เสมอ
เขาพยายามพิสูจน์ตัวเอง
ด้วยการเป็นนักศึกษาแพทย์ นำไปสู่เรื่องราวดราม่าคอเมดี้ชุบชูหัวใจ
ให้ผู้ชมได้ดูไปยิ้มไปตลอดทั้งเรื่อง


สิ่งที่ทำให้ หมอหลวง ประสบความสำเร็จ
อย่างแรกน่าจะมาจากการเป็นละครใสๆ
ไร้การตบตี
พาผู้ชมย้อนกลับไปสู่วันชื่นคืนสุข
ในสภาพสังคมและการเมือง
ที่กำลังดุเดือดอย่างในปัจจุบัน
ผนวกกับเนื้อหาแนวคอเมดี้
ยิ่งทำให้คนดูได้ผ่อนคลาย
ยิ่งได้เคมีแสนจะเข้ากันของคู่พระนาง
มาริโอ้กับคิมเบอร์ลี่ที่เคยพิสูจน์มาแล้ว
จาก ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง 
ก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างกลมกล่อมลงตัว
 
การเพิ่มมุกใหม่เรื่องการย้อนเวลาก็ทำงานได้ดี ทั้งในแง่การสอดแทรกวัฒนธรรมป๊อป ซึ่ง
เชื่อมโยงกับคนยุคนี้ และดูเหมือน หมอหลวง
ก็รู้ดีว่าทางนี้เคยใช้มาแล้วในละครดังของช่องทั้ง บุพเพสันนิวาส, ลิขิตแห่งจันทร์,
บ่วงบรรจถรณ์ และ เพลิงพรางเทียน
เลยเอาเนื้อหาในเรื่องเหล่านั้นมาล้อเลียน
ตัวเองเสียเลย จนกลายเป็นมุกฮาไปอีกหนึ่ง 
 
ส่วนการวางคาแรกเตอร์ให้บัวเป็นสาวเปิ่นโก๊ะ
ก็ยิ่งทำให้มุกโป๊ะๆ ดูเข้าปาก
โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าคู่กับ ‘ทองอ้น’
จนเกิดประโยคช็อตฟีลอยู่บ่อยๆ
จุดนี้ถือเป็นความกล้าเสี่ยงและทำออกมาได้ผลในแง่ของจังหวะละครคอเมดี้รสชาติใหม่ๆ
ที่ไม่ได้ต้องการความซึ้งแบบจัดๆ
แต่อยากซึ้งกึ่งตลกมากกว่า


แม้เป็นละครย้อนยุค แต่หากถอดรายละเอียดออกมา หมอหลวง คือ ละครวัยรุ่น
กึ่ง Coming of Age มากกว่า
ด้วยอายุของทองอ้น และเรื่องราว
ในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า
แคสเหล่าสหายนักเรียนแพทย์ออกมาได้
ชวนมองแทบทุกคนจนคล้ายกับดูซีรีส์เกาหลี
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ลืมพาร์ตดราม่าความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกและการอยากพิสูจน์ตัวเอง
เพื่อให้หลุดพ้นความเป็นม้านอกสายตา
ที่มาริโอ้ทำออกมาได้ดี ทั้งดูน่ารัก
และน่าสงสารในคราวเดียวกัน
ส่วนในมุมโรแมนติก นี่คือเรื่องราวของ
คนแปลกแยกสองคนที่หลงรักกัน
เพราะทั้งทองอ้นและบัวก็ต่างเป็นคนแปลก
ในยุคสมัยของตัวเองด้วยกันทั้งคู่
 
สิ่งที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือการใส่ข้อมูล
รายละเอียดทางประวัติศาสตร์แบบอัดแน่น
ทั้งข้อมูลที่รู้อยู่แล้ว รวมทั้งเกร็ดความรู้ใหม่ๆ
ที่กลายเป็นการบ้านสู่ผู้ชม
ให้ค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆ
อย่างเช่น ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร
ที่เปลี่ยนจาก ‘บวร’ เป็น ’อมร’
การกำเนิดโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทย 
ที่วัดโพธิ์
การผ่าตัดครั้งแรกของไทย หรือ
การขยายอาณาเขตของพระบรมมหาราชวัง ฯลฯ

จุดประกายให้เกิดบทสนทนาในสังคมออนไลน์ ทำให้ละครเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งการเชื่อมโยงบุคคลในประวัติศาสตร์
ที่เราเคยได้อ่านในตำราเรียนให้กลับมา
โลดแล่นบนจอทีวีไม่ว่าจะเป็นหมอบรัดเลย์
หรือสุนทรภู่ก็กลายเป็นเสน่ห์
ที่ทำให้ละครเรื่องนี้น่าติดตาม


ในขณะที่องค์ประกอบสำคัญของเรื่อง
คือ ตำรับยาและการแพทย์แผนไทย 
ก็ต้องยอมรับว่า หมอหลวง ทำออกมาได้ดี 
โดยได้ คมสัน ทินกร ณ อยุธยา อาจารย์แพทย์แผนไทย มาเป็นที่ปรึกษา
พาผู้ชมไปพบวิธีการรักษาแบบต่างๆ 
ที่ไม่ได้เห็นในปัจจุบัน เช่น การสักยา การรมยาสมุนไพรแบบต่างๆ การรักษาด้วยปลิง
และตำรับยาโบราณ ที่ค่อยๆ สอดแทรกเข้ามาในบทละคร ให้ความรู้กับคนดูแบบไม่ยัดเยียดจนเกินไป และทำให้เนื้อหาในเรื่องขับเคลื่อน
ไปข้างหน้าได้อย่างไม่ติดขัด 
 
สำหรับผู้เขียน การทำละครสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นละครย้อนยุคหรือละครที่เกี่ยวกับวิชาชีพ
มีเรื่องที่ต้องเสี่ยงคือข้อมูลสนับสนุนต่างๆ
ซึ่งหลายๆ ครั้งละครไทยละเลยจุดนี้ไป
และไปให้ความสำคัญกับความดราม่า
จนเหมือนดูถูกคนดู

แต่สำหรับ หมอหลวง เป็นบทพิสูจน์ว่า คนไทยไม่ได้ต้องการแค่ดูละครประโลมโลก
แต่หากมีเนื้อหาความรู้ที่น่าสนใจใส่เข้ามา
อย่างถูกจังหวะ
ก็ทำให้ละครประสบความสำเร็จได้
เหมือนกับซีรีส์เกาหลีที่ชนะใจคนดูชาวไทย
จนไปหาข้อมูลต่อยอด
แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่คุ้นเคยก็ตาม 
 
โดยภาพรวม หมอหลวง คือละครดี ดูสนุก 
แม้จะเดินทางมาเลยครึ่งเรื่องแล้ว
แต่ก็ยังมีประเด็นน่าติดตาม และ
เป็นตัวอย่างของละครที่ทำการบ้านมาอย่างดี
ที่สำคัญมันชี้ให้เห็นว่า
ละครไทยอย่างไรก็ยังมีคนดู
ขอเพียงผู้ผลิตไม่ดูถูกคนดูเท่านั้นเอง



รูปภาพเพิ่มเติม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่