เซีย..ว..ว.บ้ะจ่าง (บ้ะจ่างร้อนๆจ้า)

เซีย..ว..ว.บ้ะจ่าง (บ้ะจ่างร้อนๆจ้า)
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
จำเพลงนี้ได้มั้ยคะ สมัยก่อนจะได้ยินกันแทบทุกตรอกซอกซอยของชุมชนชาวจีนเลยล่ะค่ะ
สาร์ทที่4 ของปี 2566  (เทศกาลไหว้บ้ะจ่าง) กำลังจะเวียนมาอีกรอบแล้วค่ะ 22 มิย. นี้ 

แม่นันพามาดูเบื้องหลังความอร่อยของปีที่แล้ว มาดูว่าโฮมเมดบ้ะจ่างของครอบครัวมาม้าบุญธรรมกันละเอียดขนาดไหน
มาถึงก็เห็นมาม้าถือตะหลิวใหญ่ยักษ์สองคนกับลูกสาวกำลังผัดตัวข้าวเหนียวกันอย่าง... มาม้าเจ็ดสิบห้าแล้วแต่แรงดีมาก บอกตรงๆว่าแม่นันสู้แรงมาม้าไม่ไหวค่ะ "มา..นัน..มาผัดแทนมาม้าแป๊บนึง" เป็นไงล่ะค่ะ แค่คิดในใจดังไปหน่อย....ขั้นตอนนี้ถือเป็นหัวใจเลยค่ะ ถ้าผัดไม่ทั่ว ไม่เร็ว มีสิทธิ์ทำให้ข้าวเหนียวจับเป็นก้อน และไหม้ได้ค่ะ ยิ่งทำทีเยอะๆแบบนี้ ต้องใช้สองคนผัดและต้องเข้าขากันด้วยค่ะ
สมัยนี้หายากมากแล้วค่ะที่จะเห็นบรรพบุรุษและลูกหลานยังมารวมตัวกันทำอาหารโบราณแบบนี้กันอยู่ อากิ๋ม (ภรรยาของน้องชายมาม้า) มานอนค้างด้วยตั้งแต่เมื่อคืน เพื่อจะมาช่วยผสมข้าวเหนียว ส่วนอาแฉอึ้ม (คุณแม่ของลูกเขยมาม้า) ยังตรงมาจากอุดร เพื่อมาช่วยห่อโดยเฉพาะ อาแฉอึ้มห่อไวมากค่ะ นอกนั้นก็ลูกๆ หลานๆ ผลัดกันมาช่วย หลานคนไหนถึงเวลาเรียนออนไลน์ก็จะขอปลีกตัวไปเรียนก่อน
วันนี้ผัดข้าวเหนียวสามกระทะ ได้ประมาณสามร้อยใบ ใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ ผู้สูงวัยก็นั่งห่อ ในขณะที่ลูกหลานแบ่งงานกันทำ สองคนช่วยกันแยกใบไผ่ (ต้องแยกใบใหญ่ และใบเล็กไว้ซ้อนกัน) กว่าจะถึงขั้นตอนนี้ต้องผ่านการล้าง การต้มมาก่อน วันนี้ทำสามร้อยลูก ต้องใช้ใบไผ่ถึงหกร้อยใบ เผื่อเสียอีกต่างหาก ปีนี้มาม้าทำพันสองร้อยลูก ลองคูณเข้าไปค่ะ ....
ลูกหลานอีกสองสามคนนั่งตอกไข่เค็มสามร้อยฟองลงภาชนะ บางคนจะสงสัยนะคะว่าทำไมต้องมานั่งตอกทีละใบ เค้ามีฟรีสขายเป็นถุงละร้อยฟองนี่คะ ตอกทำไมให้เสียเวลา อย่างที่แม่นันเคยเล่าให้ฟังไงคะว่า ตราบใดที่บรรพบุรุษดั้งเดิมทำเอง จะไม่ยอมซื้อวัตถุดิบสำเร็จรูปเด็ดขาดถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ถ้าได้ไข่ที่ดองแล้วมาตอกเองแบบนี้ จะได้ไข่ที่สด ทำออกมาจะอร่อยกว่าค่ะ
โต๊ะหนึ่งกำลังห่อไส้เค็ม อีกโต๊ะหนึ่งห่อไส้หวาน หน้าที่อื่นก็แบ่งๆกันไป แต่แม่นันแอบเห็นอากิ๋มก้มๆเงยๆ คอยเก็บคอยทำความสะอาดนู่นนี่ตลอด ทั้งๆที่ตัวเองเพิ่งเสร็จจากการผสมข้าวเหนียวไปสามกะละมังใหญ่ๆ นี่ล่ะค่ะเค้าถึงว่าคนแก่อยู่เฉยไม่เป็น ลูกหลานรึเป็นห่วงกลัวจะลื่นล้ม ห้ามไปก็เท่านั้นค่ะ 


พวกเราคอยเช็ดถูพื้นไม่ให้ลื่นจะดีกว่า ส่วนมาม้านั่งนานไม่ได้ ลุกขึ้นยืนแต่ละครั้งขาจะชาสั่นอยู่นานเลยค่ะ ลูกๆต้องช่วยกันจับคนละข้าง
ห่อเสร็จต้องนำมานึ่งอีกชั่วโมงเศษ ลังถึงทั้งใหญ่ทั้งหนัก แถมฝาก็สูงปรี้ด ถ้าไม่ได้แรงผู้ชาย..สาวๆคงล้าไปกว่านี้ค่ะ งานนี้ตี๋เล็กจึงเป็นพระเอกไปค่ะ
นึ่งเสร็จใช้ตะขอเกี่ยวมาแขวนผึ่งไว้กับราว รอจนขนมเย็นจึงจะนำไปส่งลูกค้าที่สั่งไว้ วันนี้ต้องนึ่งสองรอบเลยค่ะ
ลูกหลานมาม้าน่ารักทุกคน เวลามีงานใหญ่ทุกครั้งก็จะมาช่วยกัน วันนี้แม่นันแอบชื่นชมน้องแครอท (หลานสาวอาม่า) นางน่ารัก อารมณ์ดี แถมทะมัดทะแมง ที่พิเศษไปกว่านั้นคือมีสปิริตในการช่วยเหลือสูงค่ะ อี๊นันอดชมไม่ได้..นางน่ารักจริงๆ
“พี่นัน..เข้ามาช่วยกันชิมเร๊ว” เสียงน้องหมวยตะโกนมาจากในบ้าน * เมื่อเสร็จจากการนึ่งทุกครั้ง จะมีการชิมก่อนเพื่อดูว่ารสชาติขาดเกินรสใดรสหนึ่งหรือเปล่า เวลาแม่นันทำขนมผักกาดก็ใช้วิธีนี้ค่ะ

ทุกคนต่างถือช้อนมาแบ่งกันชิม

“อื้ม..อร่อย ทุกอย่างเข้าเนื้อดีจริงๆ ผ่าน.ผ่าน..”

พวกเค้าคงอยู่ทำต่อกันเย็นค่ำค่ะ กว่าจะเก็บล้างอะไรอีก นี่ล่ะค่ะ งานหลังบ้านที่ไม่มีวันหมดของคนทำอาหาร

อ่าน 8 เทศกาลมงคลปี 2566 ของชาวจีนแต้จิ๋ว
https://www.facebook.com/nanhomemade/posts/pfbid0G7KjWFD3b2E5VB2VtWLxcTnKS1mRr99DzCcskxubwx3ruQjj2rvLT6pVGTmfNMpil
.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่